คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3349/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานประเมินได้ส่งแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้าและภาษีการค้าแก่จำเลย ให้จำเลยนำเงินค่าภาษีมาชำระภายในกำหนด 30 วันตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 112 ทวิ มิฉะนั้นจะถูกเรียกเงินอีกร้อยละ 20 ของค่าอากรที่ต้องชำระหรือชำระเพิ่มเติมมาตรา 112 ตรี จำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินดังกล่าวแล้ว ไม่นำเงินค่าภาษีมาชำระภายในกำหนด กรมศุลกากรมีคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 3/2525 ข้อ 1.5 มีใจความว่า ถ้าผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินภาษีอากรมาชำระเกินกำหนด 3เดือน ขึ้นไปนับแต่วันที่ครบกำหนด 30 วัน จากวันที่ได้รับแจ้งให้เรียกเงินเพิ่ม 20 เปอร์เซ็นต์ ทุกรายคำสั่งทั่วไปของกรมศุลกากรดังกล่าว อธิบดีกรมศุลกากรก็ต้องเป็นผู้ออกคำสั่งนั้นทั้งตามมาตรา 112 ตรี ไม่ได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้งว่าให้อธิบดีกรมศุลกากร หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย ต้องทำเป็นหนังสือเรียกเงินเพิ่มร้อยละ 20 จากผู้นำของเข้าโดยตรงทุกรายดังนั้น การส่งแบบแจ้งการประเมินดังกล่าว ฟังได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินกระทำไปในฐานะผู้ที่อธิบดีมอบหมาย ทั้งไม่ปรากฏว่า การใช้ดุลพินิจของพนักงานประเมินที่กระทำในฐานะผู้ที่อธิบดีมอบหมายเป็นการไม่ชอบ และทางฝ่ายจำเลยก็มิได้มีพฤติการณ์อย่างใดที่สมควรจะให้งดเรียกเงินเพิ่มตามมาตรา 112 ตรี ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการเรียกเงินเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือนของค่าอากรที่ต้องนำมาชำระตามมาตรา 112 จัตวา จำเลยจึงต้องรับผิดในเงินเพิ่มร้อยละ 20
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากยอดเงินภาษีอากรที่ต้องชำระเพิ่ม รวมกับเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของภาษีอากรที่ต้องชำระเพิ่มนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์นั้นเป็นการไม่ชอบ ถึงแม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 112 ตรีบัญญัติให้เรียกเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 20 ของจำนวนค่าอากรที่ต้องชำระและมาตรา 112 จัตวา บัญญัติให้เรียกเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของเงินค่าอากรที่ต้องชำระเพิ่มเช่นนี้แล้ว แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่ากฎหมายได้บัญญัติทางแก้สำหรับกรณีลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระไว้โดยเฉพาะแล้วจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ว่าด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมาเรียกร้องเอากับลูกหนี้ซ้ำอีกหาได้ไม่
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระภาษีอากรเพิ่มเติม กับเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 20 ของอากรที่ต้องเสีย และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของภาษีอากรที่ต้องเสียเพิ่มจนถึงวันฟ้อง รวมเป็นเงินที่จำเลยต้องชำระทั้งสิ้น 290,961 บาท 53 สตางค์คำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จดังนี้ถือได้ว่าโจทก์มิได้ขอให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของภาษีอากรที่ต้องเสียเพิ่มนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลจึงพิพากษาให้ไม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนำเครื่องจักรและส่วนประกอบที่ใช้ในการทำอุตสาหกรรมไอศกรีมเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งจะต้องเสียภาษีอากรขาเข้าเป็นเงิน ๗๔๙,๖๓๓ บาท ๓๐ สตางค์ แต่จำเลยเสียภาษีอากรขาเข้าเป็นเงิน ๔๙๘,๔๒๒ บาท ๒๔ สตางค์ กับวางเงินประกันค่าภาษีอากรเพิ่มเติมไว้ให้โจทก์แล้ว ๑๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยมีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรเพิ่มเติมให้โจทก์อีก ๑๔๙,๒๑๑ บาท ๐๖ สตางค์ กับต้องเสียเงินเพิ่มเป็นเงิน ๒๙,๘๔๒ บาท ๒๒ สตางค์กับเงินเพิ่มอัตราร้อยละ ๑ ต่อเดือน นับแต่วันตรวจปล่อยเครื่องจักรและส่วนประกอบที่จำเลยนำเข้าคือวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๑ จนถึงวันฟ้อง เป็นเงิน ๑๑๑,๙๐๘ บาท ๒๕ สตางค์ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๒๙๐,๙๖๑ บาท ๕๓ สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ได้ฟ้องเรียกเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ ๑ ต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระ นับแต่วันที่ ๒๐กุมภาพันธ์ ๒๕๒๑ ถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๑๑๑,๙๐๘ บาท ๒๕ สตางค์แล้วฉะนั้นที่เรียกเงินเพิ่มอีกไม่เกินร้อยละ ๒๐ ของจำนวนค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม จึงไม่สมควรกำหนดให้เพราะเป็นการเรียกซ้ำอีกจำเลยชอบที่จะต้องชำระอากรที่ค้างกับเงินเพิ่มอัตราร้อยละ ๑ ต่อเดือนให้โจทก์เท่านั้น พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๒๖๑,๑๑๙ บาท ๓๑ สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๒๗ (วันฟ้อง) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จให้แก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้นำเข้าจะรับผิดชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ ๒๐ ตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา ๑๑๒ ตรี ต่อเมื่ออธิบดีกรมศุลกากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมศุลกากรมอบหมายเรียกให้ชำระ การที่โจทก์เรียกให้จำเลยชำระหนี้ตามแบบแจ้งการประเมิน เอกสารหมาย จ.๙ ไม่ได้ความว่า อธิบดีกรมศุลกากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมศุลกากรมอบหมายได้เรียกให้จำเลยชำระเงินเพิ่มตามมาตราดังกล่าว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินเพิ่มตามมาตรา ๑๑๒ ตรี จากจำเลย จึงพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยนำเครื่องจักรและส่วนประกอบที่ใช้ในการทำอุตสาหกรรมไอศกรีมราคารวมเป็นเงิน ๔,๙๘๔,๒๒๒.๒๔ บาท เข้ามาในราชอาณาจักรโดยจำเลยเสียภาษีอากรขาเข้าในพิกัดอัตราศุลกากรร้อยละ ๑๐ และภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาลรวมเป็นเงิน ๔๙๘,๔๒๒.๒๔ บาทพร้อมกับวางเงินประกันค่าภาษีอากรเพิ่มเติมไว้ให้โจทก์เป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์เห็นว่าจำเลยเสียภาษีอากรขาเข้ายังไม่ถูกต้องเพราะจำเลยจะต้องเสียภาษีอากรขาเข้าในพิกัดอัตราศุลกากรร้อยละ ๑๕ เมื่อรวมกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลแล้วจะต้องเสียภาษีอากรเป็นเงิน๗๔๗,๖๓๓.๓๐ บาท หลังจากนำเงินภาษีอากรที่จำเลยชำระไว้และเงินประกันค่าภาษีอากรเพิ่มเติมจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท มาหักออกแล้ว จำเลยจะต้องเสียภาษีอากรเพิ่มให้แก่โจทก์อีกเป็นเงิน ๑๔๙,๒๑๑.๐๖ บาท เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยนำเงินภาษีอากรเพิ่มมาชำระภายในกำหนด ๓๐ วัน จำเลยได้ทราบแล้ว แต่ไม่นำมาชำระภายในกำหนด ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้คงมีว่า จำเลยต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ ๒๐ ของจำนวนค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่มตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา ๑๑๒ ตรี หรือไม่เห็นว่าตามพระราชบัญญัติศุลกากรมาตรา ๑๑๒ ตรี เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจอธิบดีกรมศุลกากรหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายใช้ดุลพินิจเรียกเงินเพิ่มอีกไม่เกินร้อยละ ๒๐ ของจำนวนค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มหรือไม่ก็ได้ จากผู้นำของเข้าหรือส่งของออกที่มิได้ชำระเงินอากรให้ครบถ้วนภายในกำหนด ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่งแห่งมาตรา ๑๑๒ ทวิ หรือผู้นำของเข้าหรือส่งของออกมิได้ปฏิบัติตามระเบียบ หรือเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา ๔๐ หรือมาตรา ๔๕ เมื่ออธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายใช้ดุลพินิจเรียกเงินเพิ่มตามมาตรานี้แล้ว ถ้าไม่มีพฤติการณ์อันสมควรที่แสดงให้เห็นว่าการใช้ดุลพินิจของอธิบดี หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายเป็นการไม่ชอบแล้ว ก็ไม่เป็นการสมควรที่ศาลจะสั่งให้ผู้นำของเข้าหรือส่งของออกไม่ต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มตามที่อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายเรียกเงินเพิ่มไว้ ในกรณีนี้หลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ประเมินภาษีอากรขาเข้าพร้อมกับระบุให้จำเลยนำเงินค่าภาษีอากรขาเข้า มาชำระภายในกำหนด ๓๐ วันตามมาตรา ๑๑๒ ทวิ มิฉะนั้นจะถูกเรียกเงินอีกร้อยละ ๒๐ของค่าอากรที่ต้องชำระหรือชำระเพิ่ม ตามมาตรา ๑๑๒ ตรี ปรากฏตามแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้า และภาษีการค้าเอกสารหมาย จ.๙และจำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินดังกล่าวแล้ว จำเลยไม่นำเงินค่าภาษีอากรขาเข้ามาชำระภายในกำหนดดังกล่าว ซึ่งทางกรมศุลกากรได้เคยมีคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ ๓/๒๕๒๕ ข้อ ๑.๕ มีใจความว่า ‘ถ้าผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินภาษีอากรมาชำระเกินกำหนด ๓ เดือนขึ้นไป นับแต่วันที่ครบกำหนด ๓๐ วัน จากวันที่ได้รับแจ้งให้เรียกเงินเพิ่ม ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ทุกราย’ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๒๐ เห็นว่าในเมื่อเป็นคำสั่งทั่วไปของกรมศุลกากรแล้วอธิบดีกรมศุลกากรก็ต้องเป็นผู้ออกคำสั่งนั้น และถึงแม้ว่าเอกสารหมาย จ.๒๐ จะเป็นเพียงบันทึกของเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลาง กองพิธีการและประเมินอากรถึงกองคดี มิใช่ตัวคำสั่งทั่วไปดังกล่าวก็ตาม ทางจำเลยก็มิได้นำสืบโต้แย้งคัดค้านว่าอธิบดีกรมศุลกากรไม่เคยออกคำสั่งดังกล่าวแต่ประการใด ทั้งตามมาตรา ๑๑๒ ตรี ไม่ได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้งว่าให้อธิบดีกรมศุลกากรหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายต้องทำเป็นหนังสือเรียกเงินเพิ่มร้อยละ ๒๐ จากผู้นำเข้าโดยตรงทุกราย ดังนั้น แบบแจ้งการประเมินเอกสารหมาย จ.๙ จึงรับฟังได้ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้กระทำไปในฐานะผู้ที่อธิบดีมอบหมาย ประกอบกับตามพฤติการณ์ในคดีนี้ไม่ปรากฏว่า การใช้ดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่กระทำในฐานะผู้ที่อธิบดีมอบหมาย เป็นการไม่ชอบแต่ประการใด และทางฝ่ายจำเลยก็มิได้มีพฤติการณ์อย่างใดที่สมควรจะให้งดเรียกเงินเพิ่มตามมาตรา ๑๑๒ ตรี ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการเรียกเงินเพิ่มร้อยละ ๑ ต่อเดือน ของค่าอากรที่นำมาชำระ ตามมาตรา ๑๑๒ จัตวา
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากยอดเงินภาษีอากรที่ต้องชำระเพิ่มรวมกับเงินเพิ่มอัตราร้อยละ ๑ ต่อเดือนของภาษีอากรที่ต้องชำระเพิ่มนับแต่วันฟ้อง จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่าเป็นการไม่ชอบ ถึงแม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ซึ่งตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ มาตรา ๑๑๒ ตรี บัญญัติให้เรียกเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ ๒๐ ของจำนวนค่าอากรที่ต้องชำระและมาตรา ๑๑๒ จัตวา บัญญัติให้เรียกเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ ๑ ต่อเดือน ของเงินค่าอากรที่ต้องชำระเพิ่ม เช่นนี้แล้ว ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่ากฎหมายได้บัญญัติทางแก้สำหรับกรณีลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระไว้โดยเฉพาะแล้ว จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ ว่าด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมาเรียกร้องเอากับลูกหนี้ซ้ำอีกหาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะได้รับดอกเบี้ยดังกล่าว และในคดีนี้โจทก์มิได้ขอให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอัตราร้อยละ ๑ ต่อเดือนของเงินค่าอากรที่ต้องชำระเพิ่มนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จมาในฟ้องศาลจึงพิพากษาให้จำเลยชำระเงินเพิ่มตามอัตราดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ไม่ได้เช่นเดียวกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินเพิ่มจำนวน ๒๙,๘๔๒.๒๒ บาท แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากยอดเงินอากรและเงินเพิ่มทั้งหมดนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จต่อโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์.

Share