แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคสี่แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่ามุ่งประสงค์จะให้ผู้มีสิทธิรับเงินอากรคืนเพราะเหตุที่ได้ชำระไว้เกินจำนวนอันพึงต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ได้รับดอกเบี้ยของเงินที่จะได้รับคืนในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือน หรือร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินที่จะได้รับคืนนับตั้งแต่วันที่ได้ชำระค่าอากรนั้น หาใช่นับตั้งแต่วันฟ้องไม่กรณีเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชบัญญัติศุลกากรโดยเฉพาะ จึงจะนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 ว่าด้วยผิดนัดมาใช้บังคับมิได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้นำเข้ากระจกเงาสีชาจากประเทศเยอรมันตะวันตก 3 ครั้ง ซึ่งได้เสียภาษีอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลไว้แล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ทำการประเมินให้โจทก์เสียภาษีอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่ม ซึ่งโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้อง แต่โจทก์ต้องจำยอมชำระภาษีเพิ่มตามที่ถูกประเมินดังกล่าวรวมเป็นเงิน 115,585.68บาทให้แก่จำเลย เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2528 ขอให้สั่งเพิกถอนการประเมินภาษีอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินภาษี 115,585.68 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชำระจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 9,823 บาท รวมเป็นเงิน 125,308.68 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวของต้นเงิน 115,585.68 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้มิใช่เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดซึ่งสูงกว่าราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้ เจ้าพนักงานประเมินจึงทำการประเมินให้โจทก์เสียอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเป็นจำนวนเงินตามที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งเป็นการประเมินที่ถูกต้องตามความเป็นจริงและเหตุผล โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินภาษีอากรคืนจากจำเลย
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินอากรขาเข้า ภาษีกาค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มของจำเลย ให้จำเลยที่1 ชำระเงิน 115,585.68 บาทคืนโจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยในเงินต้นดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาในชั้นนี้เฉพาะค่าดอกเบี้ยของเงินภาษีอากรคืนตั้งแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าอากรไว้จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 9,823 บาทนั้น โจทก์มีสิทธิจะเรียกเอาได้หรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อพระราชบัญญัติศุลกากรพุทธศักราช 2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ บัญญัติไว้ว่า ‘ในกรณีที่ต้องคืนเงินอากร หรือเงินประกันค่าอากรเพราะเหตุที่ได้เรียกไว้เกินจำนวนอันพึงต้องเสียหรือเสียเพิ่มให้คืนพร้อมด้วยดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.625 ต่อเดือนของจำนวนที่ต้องคืน โดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ชำระค่าอากร …….’ ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่ากฎหมายมุ่งประสงค์จะให้ผู้ที่มีสิทธิรับเงินอากรคืนเพราะเหตุที่ได้ชำระไว้เกินจำนวนอันพึงต้องเสียหรือเสียเพิ่มนั้น ได้รับดอกเบี้ยของเงินที่จะได้รับคืนในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือนของเงินที่จะได้คืนนับตั้งแต่วันที่ได้ชำระค่าอากรนั้นไว้เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชบัญญัติศุลกากรโดยเฉพาะแล้ว จึงจะนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 ว่าด้วยผิดนัดมาบังคับใช้กับกรณีนี้หาได้ไม่ กรณีของโจทก์ต้องตามที่พระราชบัญญัติศุลกากรบัญญัติไว้ดังกล่าวโจทก์จึงมีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือนหรือร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินที่มีสิทธิได้รับคืนจำนวน115,585.68 บาท นับจากวันที่โจทก์ได้ชำระอากรคือวันที่ 30มกราคม 2528 จนถึงวันฟ้อง ที่โจทก์ขอมาเป็นเงินจำนวน 9,823 บาทนั้นไม่เกินกว่าจำนวนเงินที่คำนวณได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้เงินจำนวนนี้ให้โจทก์ด้วย รวมเป็นเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับคืนทั้งสิ้น 125,408.68 บาท แต่โจทก์ขอมาเพียง 125,308.68 บาทจึงให้เท่าที่ขอมาที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 125,308.68บาทคืนโจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง.