คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 476/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 4 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2511 มาตรา 3 บัญญัติว่า “ยาเส้นปรุง” หมายความว่า ใบยาซึ่งมิใช่ยาพันธุ์ยาสูบพื้นเมืองหรือยาอัดซึ่งได้หั่นเป็นเส้นและปรุงหรือปนด้วยวัตถุอื่นนอกจากน้ำ คำว่าวัตถุในพระราชบัญญัติยาสูบไม่ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าหมายความถึงอะไร จึงต้องถือตามความหมายทั่ว ๆ ไปว่า หมายถึงสิ่งต่าง ๆ จะเป็นอะไรก็ได้ ยาเส้นพันธุ์พื้นเมืองจึงต้องอยู่ในความหมายของคำว่าเป็นวัตถุอย่างหนึ่งและมิใช่เป็นวัตถุที่เรียกว่าน้ำ ดังนั้น การนำเอายาเส้นพันธุ์พื้นเมืองมาปนกับยาเส้นพันธุ์เวอร์ยิเนียซึ่งมิใช่ยาสูบพื้นเมืองหรือยาอัด จึงเป็นยาเส้นปรุงตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติยาสูบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยประกอบอุตสาหกรรมยาเส้นปรุงเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตขอให้ลงโทษและริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.๒๕๐๙ มาตรา ๑๗, ๔๘ (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๑๒ มาตรา ๑๖) กฎกระทรวง (ฉบับที่ ๑) พ.ศ.๒๕๑๐ ออกตามความในพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.๒๕๐๙ หมายเลข ๕(๕) ให้ปรับ ๕๐๐ บาท ของกลางที่เป็นยาเส้นปรุงให้ริบ นอกนั้นคืนจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยเฉพาะข้อกฎหมายที่ว่า การที่นำยาเส้นพันธุ์พื้นเมืองมาปรุงหรือปนกับยาเส้นพันธุ์เวอร์ยิเนีย เป็นยาเส้นปรุงตามคำนิยามแห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.๒๕๐๙ มาตรา ๔ หรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.๒๕๐๙ มาตรา ๔ ซึ่งได้มีการแก้ไขโดยพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๑๑ มาตรา ๓ บัญญัติไว้ว่า “ยาเส้นปรุง” หมายความว่า ใบยาซึ่งมิใช่ใบยาพันธุ์ยาสูบพื้นเมืองหรือยาอัด ซึ่งได้หั่นเป็นเส้นและปรุงหรือปนด้วยวัตถุอื่นนอกจากน้ำ ยาเส้นพันธุ์เวอร์ยิเนียในคดีนี้ก็คือใบยาซึ่งมิใช่ยาสูบพื้นเมืองหรือยาอัด ซึ่งได้หั่นเป็นเส้นแล้วนั่นเองและคำว่าวัตถุในพระราชบัญญัติยาสูบ ไม่ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าหมายความถึงอะไรจึง ต้องถือตามความหมายทั่ว ๆ ไปว่าหมายถึงสิ่งต่าง ๆ จะเป็นอะไรก็ได้ ฉะนั้นยาเส้นพันธุ์พื้นเมืองจึงต้องอยู่ในความหมายของคำว่าเป็นวัตถุอย่างหนึ่งและมิใช่เป็นวัตถุที่เรียกว่าน้ำ ยาเส้นในคดีนี้จึงเป็นยาเส้นปรุงตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.๒๕๐๙ มาตรา ๔
พิพากษายืน

Share