คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 267/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยออกเช็ค 3 ฉบับ แม้ธนาคาร ตามเช็คจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 ในวันเดียวกัน ก็ต้องถือว่าจำเลยกระทำความผิดในการออกเช็คฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 ต่างกรรมต่างวาระกัน เพราะจำเลยมีเจตนาให้ใช้เงินตามเช็คแต่ละฉบับหรือไม่แตกต่างแยกจากกันได้ การกระทำของจำเลยในการออกเช็ค 3ฉบับจึงเป็นความผิด 3 กระทง
ศาลลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 8 เดือน รวม 3 กระทงต้องกำหนดโทษรวมเป็นจำคุก 24 เดือน ไม่ใช่ 2 ปีและเมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วก็ต้องกำหนดโทษจำคุกเป็น 12 เดือน เพราะการวางโทษเป็นปีทำให้จำเลยเสียเปรียบ เนื่องจากตาม ป.อ. มาตรา 21 วรรคสอง ถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้นกำหนดเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฎิทิน ในราชการดังนั้นการนับวันใน 1 ปีจึงเท่ากับ 365 วัน แต่การนับวันใน 1 เดือน เท่ากับ 30 วัน กำหนดโทษ 12 เดือนคิดเป็นวันจึงเท่ากับ 360 วัน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีโจทก์ขาดอายุความพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ประทับฟ้องโจทก์
จำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดจริงตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้เรียงกระทงลงโทษจำคุกกระทงละ8 เดือน รวม 3 กระทง ให้จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 เห็นสมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าแม้จำเลยจะสั่งจ่ายเช็ค3 ฉบับ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเพียง 2 ครั้ง โดยปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 ในวันที่ 30 มิถุนายน2529 ครั้งหนึ่ง และปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับที่ 3 ในวันที่16 กรกฎาคม 2529 อีกครั้งหนึ่ง จึงถือว่าจำเลยกระทำความผิดเพียง2 กรรมนั้น เห็นว่า แม้ธนาคารตามเช็คจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 ในวันเดียวกันคือวันที่ 30 มิถุนายน 2529ก็ต้องถือว่าจำเลยกระทำความผิดในการออกเช็คฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2ต่างกรรมต่างวาระกัน ทั้งนี้เพราะจำเลยมีเจตนาให้ใช้เงินตามเช็คแต่ละฉบับหรือไม่แตกต่างแยกจากกันได้ ทั้งการที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับก็แยกจากกันได้ ดังจะเห็นได้ว่าธนาคารตามเช็คทำใบคืนเช็คฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 แยกต่างหากจากกันเป็น2 ฉบับตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และ 4 การกระทำของจำเลยในการออกเช็ค 3 ฉบับตามฟ้องจึงเป็นความผิด 3 กระทง หาใช่ 2 กระทง ดังข้ออ้างของจำเลยไม่
ที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า หากศาลลงโทษจำเลยกระทงละ 8 เดือนรวม 3 กระทง ก็ควรกำหนดโทษเป็นจำคุก 24 เดือน ไม่ใช่ 2 ปี เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ก็ควรกำหนดโทษจำคุกเป็น 12 เดือน ไม่ใช่ 1 ปี เพราะการวางโทษเป็นปีทำให้จำเลยเสียเปรียบเนื่องจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้นกำหนดเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน ถ้ากำหนดเป็นปีให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ ฉะนั้นการนับจำนวนวันในหนึ่งปีจึงเท่ากับ 365 วัน แต่การนับจำนวนวันใน1 เดือนเท่ากับ 30 วัน กำหนดโทษ 12 เดือน คิดเป็นจำนวนวันเท่ากับ360 วันนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยกระทงละ 8 เดือน รวม 3 กระทงคงจำคุก 24 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share