คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1449/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยยิงผู้ตายแล้ว ผู้เสียหายได้เข้าไปแย่งปืนจากจำเลยและกอดปล้ำกัน ระหว่างกอดปล้ำกัน ก. วิ่งเข้ามาหาจำเลย จำเลยจึงส่งอาวุธปืนให้แก่ ก. โดยจำเลยมิได้พูดหรือแสดงกิริยาอาการใดที่จะพึงให้เข้าใจได้ว่าจำเลยมีเจตนาให้ ก. ยิงผู้เสียหาย เมื่อ ก. ได้รับอาวุธปืนจากจำเลยแล้วก็หาได้ยิงผู้เสียหายในทันทีไม่ แต่ได้ถอยหลังออกไปก่อน เมื่อผู้เสียหายเข้าไปแย่งอาวุธปืนจาก ก. อีกจึงถูกยิง เช่นนี้ไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยทราบหรือคาดหมายได้ว่า ก. มีเจตนายิงผู้เสียหาย ถือไม่ได้ว่าจำเลยช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ ก. ยิงผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรก ทนายจำเลยที่ศาลชั้นต้นตั้งขอถอนตัว เพราะจำเลยแต่งตั้งทนายเข้ามาใหม่ เมื่อทนายจำเลยขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นก็อนุญาตและนัดสืบพยานโจทก์ครั้งที่สอง ห่างจากวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกประมาณ 70 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เนิ่นนานเพียงพอที่จำเลยจะพิจารณาขอถอนทนายความคนเดิม และตั้งแต่งทนายความคนใหม่เข้ามา และขอเลื่อนคดีเพื่อมิให้เดือดร้อนแก่พยานโจทก์ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งกำชับให้มาศาล แต่จำเลยกลับละเลยโดยมาร้องขอถอนทนายความคนเดิมพร้อมตั้งแต่งทนายความคนใหม่ กับร้องขอเลื่อนคดีในวันนัดซึ่งพยานโจทก์ได้มาศาลพร้อมแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลอันสมควรและส่อไปในทางประวิงคดีให้เนิ่นช้า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยร่วมกับพวกใช้อาวุธปืนยิงนายบัณฑิต ตันสมบูรณ์ หลายนัดโดยเจตนาฆ่าจนถึงแก่ความตายโดยเจตนาของจำเลย แล้วจำเลยกับพวกได้ร่วมกันยิงนายสุดใจ เครือเทา ผู้เสียหาย ๑ นัดถูกบริเวณหน้าอกโดยเจตนาฆ่าแต่ผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายสมเจตนาของจำเลยกับพวก ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘, ๓๗๑, ๘๐, ๙๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๓๗๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ ให้เรียงกระทงลงโทษ ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ๒๐ ปี ฐานมีอาวุธปืนฯ จำคุก ๒ ปี ฐานพาอาวุธปืนฯให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ อันเป็นบทหนักที่สุด จำคุก ๑ ปีรวมจำคุก ๒๓ ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘, ๘๐ ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ อีกกระทงหนึ่ง ให้จำคุก ๘ ปี รวมจำคุกจำเลย ๓๑ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้ปืนยิงนายบัณฑิต ตันสมบูรณ์ถึงแก่ความตายแล้ววินิจฉัยว่า ปัญหาต่อไปมีว่าจำเลยเป็นผู้สนับสนุนให้นายกิติธาดาหรือฟุ้งหรือฟื้นกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายด้วยหรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่าขณะที่จำเลยดักรอแล้วยิงผู้ตายนั้น ตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏว่านายกิติธาดาหรือฟุ้งหรือฟื้นอยู่ที่ใด นางนกเล็ดกับผู้เสียหายเห็นแต่จำเลยเพียงคนเดียวกับไม่ปรากฏว่านายกิติธาดาหรือฟุ้งหรือฟื้นได้รู้มาก่อนว่าจำเลยจะฆ่าผู้ตายหรือไม่เมื่อจำเลยยิงผู้ตายแล้ว ผู้เสียหายได้เข้าไปแย่งอาวุธปืนจากจำเลยแล้วกอดปล้ำกันระหว่างกอดปล้ำกันนี้ นางนกเล็กเบิกความว่า นายกิติธาดาหรือฟุ้งหรือฟื้นยืนอยู่ที่หน้าร้านขายอาหารมาดี แล้ววิ่งเข้ามาหาจำเลย จำเลยจึงได้ส่งอาวุธปืนให้แก่นายกิติธาดาหรือฟุ้งหรือฟื้น โดยจำเลยมิได้พูดหรือแสดงกิริยาอาการใดที่จะพึงได้เข้าใจได้ว่า จำเลยมีเจตนาให้นายกิติธาดาหรือฟุ้งหรือฟื้นยิงผู้เสียหาย เมื่อนายกิติธาดาหรือฟุ้งหรือฟื้นได้รับอาวุธปืนจากจำเลยแล้วกีฬาได้ยิงผู้เสียหายในทันทีไม่ แต่ได้เดินถอยหลังออกไปก่อน เมื่อผู้เสียหายเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากนายกิติธาดาหรือฟุ้งหรือฟื้นอีก จึงถูกยิง ข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยได้ทราบหรือคาดหมายได้ว่า นายกิติธาดาหรือฟุ้งหรือฟื้นมีเจตนายิงผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่นายกิติธาดาหรือฟุ้งหรือฟื้นยิงผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๖ ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้าย จำเลยฎีกาว่า ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดี เนื่องจากทนายจำเลยติดว่าความในคดีอื่นที่ต่างจังหวัดซึ่งได้นัดไว้ก่อนแล้ว และศาลชั้นต้นทำการสืบพยานโจทก์ไปโดยทนายจำเลยไม่มีโอกาสซักค้าน เป็นเหตุให้จำเลยเสียเปรียบมากจึงขอให้มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่ พิเคราะห์แล้วได้ความว่าเมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น จำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวไป และศาลชั้นต้นได้ตั้งทนายความให้จำเลยตามที่จำเลยร้องขอ และให้นัดสืบพยานโจทก์หลังจากวันที่จำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวเป็นเวลา ๑๙ วัน ทนายจำเลยที่ศาลตั้งได้มาพบกับจำเลยเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๒๘ ซึ่งเป็นเวลาก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ ๘ วัน ครั้นถึงวันนัดทนายจำเลยที่ศาลตั้งขอถอนตัวจากการเป็นทนายเพราะจำเลยตั้งแต่งทนายเข้ามาใหม่ศาลอนุญาต แล้วทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตโดยให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์วันที่ ๒๕ ตุลาคม กับวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ และนัดสืบพยานจำเลยวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ ต่อมาในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๒๘ จำเลยร้องขอถอนทนายความที่จำเลยตั้งแต่งไว้เดิม และตั้งแต่งทนายความคนใหม่เข้ามาพร้อมกับยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี อ้างว่าติดว่าความในคดีอื่นของศาลต่างจังหวัดซึ่งได้นัดไว้ก่อนแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า ในการนัดสืบพยานโจทก์ครั้งที่สองนี้ ศาลชั้นต้นได้กำหนดเวลาห่างจากวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกประมาณ ๗๐ วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เนิ่นนานเพียงพอที่จำเลยจะพิจารณาขอถอนทนายความคนเดิม และตั้งแต่งทนายความคนใหม่เข้ามา และขอเลื่อนคดีเพื่อให้โจทก์มีโอกาสเตรียมพยานมาให้ตรงกับวันนัดอันมิให้เกิดความเดือดร้อนแก่พยานโจทก์ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งกำชับให้มาศาล แต่จำเลยกลับละเลยโดยมาร้องขอถอนทนายคนเดิมพร้อมตั้งแต่งทนายความคนใหม่ กับร้องขอเลื่อนคดีในวันนัดซึ่งพยานโจทก์ได้มาศาลพร้อมแล้วเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลอันสมควรและส่งไปในทางที่ประวิงคดีให้เนิ่นช้า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share