คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 393/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์ที่กล่าวหาว่าจำเลยทำการฆ่ากระบือ ถือว่า จำเลยย่อมเข้าใจฟ้องได้ดีว่าเป็นกระบือบ้านและไม่อาจเข้าใจผิดว่า เป็นกระบือป่าไปได้
ส่วน พ.ร.บ. อากรการฆ่าสัตว์ พ.ศ. 2488 มาตรา 4 ที่วิเคราะห์ศัพท์คำว่า “สัตว์” ไว้ให้หมายความว่าโค กระบือ แพะ แกะ และสุกรที่ไม่ใช่สัตว์ป่านั้น ก็เพื่อประโยชน์ที่จะทราบว่า พ.ร.บ. นี้ไม่ประสงค์จะควบคุมไปถึงสัตว์ป่าด้วยเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยฆ่ากระบือโดยมิได้เสียค่าอากรตาม พ.ร.บ. อากร ตาม พ.ร.บ. อากรการฆ่าสัตว์และมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. อากรการฆ่าสัตว์ พ.ศ. ๒๔๘๘ ม. ๕, ๑๑ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๐ ม. ๓ และ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๙๖ ม. ๔
จำเลยรับสารภาพตามฟ้อง
คู่ความไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตาม พ.ร.บ. อากรการฆ่าสัตว์ พ.ศ. ๒๔๘๘ ม. ๔ คำว่า “สัตว์” หมายความว่า โค กระบือ แพะ แกะ และสุกร ที่มิใช่สัตว์ป่า แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ชัดว่ากระบือที่จำเลยฆ่านั้น เป็นกระบือที่ไม่ใช่สัตว์ป่า กระบือตามฟ้องโจทก์อาจเป็นสัตว์ป่าก็ได้ ฟ้องของโจทก์จึงลงโทษตามกฎหมายที่โจทก์อ้างไม่ได้ พิพากษายกฟ้องของกลางคืนจำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โค กระบือ แพะ แกะ และสุกร โดยทั่วไปย่อมเข้าใจว่าเป็นสัตว์บ้าน ไม่ใช่สัตว์ป่า ถ้าเป็นสัตว์ป่าก็จะต้องว่า โคป่า กระบือป่า ฯลฯ มิฉะนั้นก็ต้องมีความในประโยคที่พูดนั้นให้เข้าใจความหมายเป็นพิเศษได้ว่า เป็นสัตว์ป่า เท่าที่โจทก์บรรยายฟ้องว่ากระบือ ก็พอเข้าใจได้แล้วว่ามิใช่กระบือป่า เมื่อจำเลยรับสารภาพก็ลงโทษได้ พิพากษากลับว่า จำเลยผิดตามกฎหมายที่โจทก์ขอมา แต่จำเลยอายุ ๑๘ ปี ลดมาตราส่วนโทษลง ๑ ใน ๓ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม. ๗๖ และลดรับสารภาพกึ่งหนึ่ง ตาม ม. ๗๘ คงปรับ ๑๐๐ บาท ของกลางคืนจำเลย
จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องดังข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า โค กระบือ แพะ แกะ และสุกร ตามความหมายของสามัญชนทั่ว ๆ ไปย่อมเป็นที่เข้าใจได้แล้วว่าเป็นสัตว์บ้าน เพราะเป็นสัตว์ชนิดที่มนุษย์ได้เลี้ยงไว้เพื่อใช้เป็นสัตว์พาหนะบ้าง เพื่อใช้เนื้อเป็นอาหารหรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่นบ้าง มาช้านานแล้ว เมื่อพูดถึง โค กระบือ เฉย ๆ จะไม่มีใครเข้าใจว่า เป็นโคป่ากระบือป่า เว้นแต่จะเติมถ้อยคำให้ปรากฏชัดแจ้งเช่นนั้น ฉะนั้น ฟ้องที่กล่าวหาว่าจำเลยฆ่ากระบือ จำเลยย่อมเข้าใจฟ้องได้ว่าเป็นกระบือบ้าน และไม่อาจเข้าใจผิดว่าเป็นกระบือป่าไปได้ ส่วน พ.ร.บ. อากรการฆ่าสัตว์ พ.ศ. ๒๔๘๘ ม. ๔ ที่วิเคราะห์ศัพท์คำว่า “สัตว์” หมายความว่า โค กระบือ แพะ แกะ และสุกรที่ไม่ใช่สัตว์ป่านั้น ก็เพื่อประโยชน์ที่จะให้ทราบว่า พ.ร.บ. นี้ไม่ประสงค์จะควบคุมไปถึงสัตว์ป่าด้วย เท่านั้น พิพากษายืน

Share