แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามภาพถ่ายรวม 10 รูปมีทั้งเครื่องหมายการค้าที่เป็นภาพเสือโดยไม่มีตัวอักษรอยู่ด้วย และเครื่องหมายการค้าที่เป็นภาพเสือโดยมีอักษรไทยคำว่า “ตราเสือ” และอักษรโรมันคำว่า “TIGER” อยู่ด้วย เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้ง 10 เครื่องหมายจึงมีลักษณะเด่นอยู่ที่ภาพเสือคำว่า “ตราเสือ” และ “TIGER” เพื่อแสดงว่าสินค้าของโจทก์แตกต่างจากสินค้าของบุคคลอื่น เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นอักษรไทยคำว่า “ไทเกอร์” แม้จะไม่มีภาพเสือ หรือคำว่า “ตราเสือ” และ “TIGER” อยู่ด้วย แต่คำว่า “ไทเกอร์” ก็เป็นคำอ่านในภาษาอังกฤษของคำว่า “TIGER” จึงเป็นเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์
เมื่อฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป แต่จำเลยยังเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ แม้สินค้าหลักของโจทก์จะเป็นยาหม่อง ส่วนสินค้าของจำเลยเป็นยากันยุงอันเป็นสินค้าคนละชนิดกัน ก็มีเหตุที่จะเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ตามมาตรา 61 (4) แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และพิพากษาห้ามจำเลยใช้ ยื่นขอจดทะเบียน หรือเข้าเกี่ยวข้องไม่ว่าในทางใดๆ กับเครื่องหมายการค้าตามคำฟ้องข้อ 3.1 ถึง 3.3 หรือเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนกันหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าและสลากเครื่องหมายการค้าต่างๆ ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ของโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า “ไทเกอร์” ตามคำขอจดทะเบียนที่ 388565 ทะเบียนเลขที่ ค.112825 ดีกว่าจำเลย ให้จำเลยเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “ไทเกอร์” ตามคำขอจดทะเบียนที่ 388565 ทะเบียนเลขที่ ค.112815 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และห้ามจำเลยใช้ยื่นขอจดทะเบียน หรือเข้าเกี่ยวข้องไม่ว่าในทางใดๆ กับเครื่องหมายการค้าคำว่า “ไทเกอร์” ดังกล่าว คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “ไทเกอร์” ของจำเลยตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค.112815 เป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามภาพถ่ายรวม 10 รูป ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามภาพถ่ายรวม 10 รูป มีทั้งเครื่องหมายการค้าที่เป็นภาพเสือโดยไม่มีตัวอักษรอยู่ด้วย ได้แก่ เครื่องหมายการค้ารูปที่ 1 และเครื่องหมายการค้าที่เป็นภาพเสือโดยมีอักษรไทยคำว่า “ตราเสือ” และอักษรโรมันคำว่า “TIGER” ซึ่งแปลว่า “เสือ” อยู่ด้วย ได้แก่ เครื่องหมายการค้ารูปที่ 2 รูปที่ 3 รูปที่ 4 รูปที่ 5 รูปที่ 6 และรูปที่ 8 และรูปที่ 7 ก็เป็นภาพเสือและมีอักษรโรมันคำว่า “TIGER” อยู่ด้วย นอกจากนี้รูปที่ 9 ก็เป็นอักษรโรมันคำว่า “TIGER BALM” และรูปที่ 10 ก็เป็นอักษรจีนมีคำว่า “เสือ” เป็นคำแรก เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้ง 10 เครื่องหมาย จึงมีลักษณะเด่นอยู่ที่ภาพเสือ คำว่า “ตราเสือ” และคำว่า “TIGER” ซึ่งแปลว่า “เสือ” เพื่อแสดงให้เห็นว่าสินค้าของโจทก์แตกต่างจากสินค้าของบุคคลอื่น แม้เครื่องหมายการค้ารูปที่ 9 จะมีคำว่า “BALM” ต่อจากคำว่า “TIGER” ก็ไม่ทำให้ลักษณะเด่นของคำว่า “TIGER” หายไป เพราะคำว่า “BALM” หมายถึงยาหม่องหรือยาขี้ผึ้งอันเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้า การใช้คำว่า “TIGER” เป็นการเน้นให้เห็นว่าสินค้าของโจทก์เป็นสินค้าตราเสือ ทำให้ลักษณะเด่นยังคงอยู่ที่คำว่า “TIGER” ยิ่งเครื่องหมายการค้ารูปที่ 7 ที่ใช้อักษรโรมันคำว่า “TIGER” เพียงคำเดียวใต้ภาพเสือยิ่งแสดงให้เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพียงคำเดียวเน้นที่ภาพเสือและคำว่า “TIGER” เครื่องหมายการค้าภาษาไทยคำว่า “ไทเกอร์” ของจำเลย แม้จะไม่มีภาพเสือ คำว่า “ตราเสือ” และอักษรโรมันคำว่า “TIGER” อยู่ด้วย แต่คำว่า “ไทเกอร์” ก็เป็นคำอ่านในภาษาอังกฤษของคำว่า “TIGER” จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เมื่อฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ ไม่ว่าระยะเวลาที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามาก่อน การใช้หรือโฆษณาเป็นที่แพร่หลายจนทำให้สาธารณชนทั่วไป หรือสาธารณชนที่ใช้สินค้าดังกล่าวในประเทศไทยรู้จักเป็นอย่างดี แต่จำเลยยังเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ แม้สินค้าหลักของโจทก์จะเป็นยาหม่อง ส่วนสินค้าหลักของจำเลยเป็นยากันยุงอันเป็นสินค้าคนละชนิดกัน ก็มีเหตุที่จะเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ ตามมาตรา 61 (4) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 ซึ่งบัญญัติว่าถ้าเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันนั้นใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าก็ถูกเพิกถอนได้แม้จะเป็นสินค้าคนละชนิดกันก็ตาม ฉะนั้น เครื่องหมายการค้าคำว่า “ไทเกอร์” ของจำเลยจึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่พึงถูกเพิกถอนการจดทะเบียน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.