คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 98/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การลักทรัพย์โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(3) นั้น จะต้องมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับสิ่งกีดกั้นแล้วผ่านเข้าไป ประตูห้องนอนของผู้เสียหายเปิดอยู่แล้วจึงมิได้มีสภาพเป็นสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลและทรัพย์จำเลยเข้าไปลักทรัพย์ในห้องนอนของผู้เสียหาย คงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 เท่านั้น โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(3)(8)ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 335(3) เท่านั้นเท่ากับศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(8) เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 335(8) ด้วย เพื่อให้เป็นประเด็นขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ ปัญหาที่ว่าจำเลยมีความผิดตามบทมาตราดังกล่าวหรือไม่ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาไม่ได้ เพราะเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลอุทธรณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(3)(8)ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(3) จำคุก 5 ปี ลดโทษให้หนึ่งในห้าคงจำคุก 4 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้วคงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีฟังได้ชัดว่าจำเลยได้ลักทรัพย์ผู้เสียหายจริง ที่จำเลยฎีกาว่าพยานโจทก์ขัดกันรับฟังไม่ได้นั้นเป็นพลความทั้งสิ้น ฟังไม่ขึ้น
ในปัญหาที่ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา335 อนุ (3) และ (8) ตามที่โจทก์ฎีกาหรือไม่นั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(3) บัญญัติว่า “โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใด ๆ” นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จะต้องมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับสิ่งกีดกั้นแล้วผ่านเข้าไป คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมิได้เปิดประตูห้องนอนของผู้เสียหายเพราะประตูห้องนอนเปิดอยู่แล้ว ในขณะนั้นประตูห้องนอนจึงมิได้มีสภาพเป็นสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลและทรัพย์แล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(3)ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(8) ด้วยนั้น เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(3) เท่านั้น เท่ากับศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา335(8) เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(8) ด้วย เพื่อให้เป็นประเด็นขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ ปัญหาที่ว่าจำเลยมีความผิดตามบทมาตราดังกล่าวหรือไม่ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาไม่ได้ เพราะเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share