คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6473/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อคืนเป็นเงิน 5,000 บาท โดยโจทก์มีเพียง ส.ผู้รับมอบอำนาจเบิกความลอย ๆ ว่าในการติดตามรถยนต์คืนโจทก์ได้เสียค่าพาหนะและค่าเบี้ยเลี้ยงพนักงานเป็นเงิน5,000 บาท โดยมิได้พิสูจน์ให้เห็นว่าได้เสียค่าใช้จ่ายสิ่งใดบ้างให้ปรากฏ เมื่อโจทก์มีภาระการพิสูจน์แต่พิสูจน์ไม่ได้ การที่ศาลกำหนดให้โจทก์เป็นเงิน 2,000 บาท เป็นการเหมาะสมแก่พฤติกรรมแห่งรูปคดีแล้ว กรณีที่หนังสือสัญญาเช่าซื้อระบุว่าถ้าเจ้าของได้ขายทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อไปแล้วได้เงินไม่คุ้มราคาค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระทั้งหมดตามสัญญากับค่าเสียหายอื่น ๆที่เกิดขึ้น ผู้เช่าซื้อต้องชดใช้เงินให้เจ้าของจนครบถ้วนก็ดีหรือข้อที่ว่าถ้าผู้เช่าซื้อผู้ผิดนัดหรือผิดสัญญาและต้อง ชำระเงินใด ๆ ให้แก่เจ้าของหรือในกรณีที่สัญญาเช่าซื้อ สิ้นสุดลงและผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าเสียหายใด ๆ แก่เจ้าของ ผู้เช่าซื้อยินยอมเสียดอกเบี้ยของเงินดังกล่าวในอัตรา ร้อยละ 15 ต่อปีนับจากวันผิดนัดก็ดี ดังนี้ เป็นข้อตกลง ที่กำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าวิธีหนึ่งอันมีลักษณะ เป็นการกำหนดเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 และ 383

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้โจทก์ตามสัญญา โจทก์จึงติดตามยึดรถที่เช่าซื้อคืน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 1,110,437.76 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 281,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 372,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาข้อต่อมาว่า ค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถยนต์คืนของโจทก์เป็นเงิน 5,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้เพียง 2,000 บาท ต่ำเกินไปนั้นศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มีเพียงนางสาวสร้อยเพชร ชูชัยสุวรรณศรีผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความลอย ๆ เพียงว่า ในการติดตามรถยนต์คืนโจทก์ได้เสียค่าพาหนะและค่าเบี้ยเลี้ยงพนักงานเป็นเงิน5,000 บาทเท่านั้น โดยโจทก์มิได้พิสูจน์ให้เห็นว่าได้เสียค่าใช้จ่ายสิ่งใดบ้างให้ปรากฏ เมื่อโจทก์มีภาระในการพิสูจน์แต่พิสูจน์ไม่ได้ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์เป็นเงิน 2,000 บาท นับว่าเป็นการเหมาะสมแก่พฤติกรรมแห่งรูปคดีแล้วฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาข้อต่อมาโดยขอค่าเสียหายอันเป็นราคารถยนต์ที่ยังขาดอยู่หลังจากที่ประมูลขายไปเป็นเงิน 3,084,112.15 บาทยังขาดอยู่อีกจำนวน 467,289.76 บาท นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้ตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 10 ระบุว่าถ้าเจ้าของได้ขายทรัพย์สินที่เช่าซื้อไปแล้วยังไม่คุ้มราคาค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระทั้งหมดตามสัญญานี้กับค่าเสียหายอื่น ๆที่เกิดขึ้น ผู้เช่าซื้อจะชดใช้เงินให้เจ้าของจนครบถ้วนดังนี้ แสดงให้เห็นว่าข้อสัญญาดังกล่าวเป็นข้อตกลงกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรกรณีจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 379 ดังนั้น หากค่าปรับมีจำนวนสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 เมื่อโจทก์ตั้งราคาค่าเช่าซื้อเป็นเงิน 4,112,149.58 บาท โดยมีราคารถยนต์ที่แท้จริงจำนวน 3,600,000 บาท และโจทก์คิดดอกเบี้ยล่วงหน้าไว้จำนวน 22 เดือน ในอัตราร้อยละ 7.77 ต่อปี รวมเป็นค่าเช่าซื้อดังกล่าวข้างต้นแต่จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อเดือนละ 186,915.89 บาท จำนวน 3 งวดคำนวณแล้วคิดเป็นเงิน 560,747 บาทและโจทก์นำรถยนต์ตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อพิพาทนี้ออกประมูลขายได้เป็นเงิน 3,084,112.15 บาท เมื่อรวมกับจำนวนเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์ไปแล้ว จำนวน 3 งวด รวมเป็นเงิน3,644,859 บาท ซึ่งเกินราคารถยนต์ที่แท้จริงแล้ว ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ได้กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงิน100,000 บาทนั้น นับว่าเป็นคุณและเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 9 นั้นศาลฎีกาเห็นว่า ตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 9 ระบุว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดหรือผิดสัญญาและต้องชำระเงินใด ๆ ให้แก่เจ้าของหรือในกรณีที่สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงและผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าเสียหายใด ๆ แก่เจ้าของผู้เช่าซื้อยอมเสียดอกเบี้ยของเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันผิดนัด ดังนี้ เห็นได้ชัดแจ้งว่าเป็นข้อตกลงที่กำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าวิธีหนึ่งอันมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงชอบแล้วฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share