คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4135/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นข้อตกลงมีวัตถุประสงค์เป็นการระงับข้อพิพาทในเรื่องการหย่าโดยตรงโดยเฉพาะข้อตกลงซึ่งระบุว่าโจทก์และจำเลยตกลงที่จะ ไม่ทำการจดทะเบียนหย่าซึ่งกันและกัน และโจทก์ยอมจ่ายเงิน ค่าอุปการะเลี้ยงดูและเงินบำเหน็จหรือบำนาญให้แก่จำเลย ถือได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ย่อมทำให้ประเด็นเรื่องการหย่าซึ่งทั้งโจทก์และจำเลยยอมสละระงับสิ้นไปตามมาตรา 852 ในสัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีข้อความใดระบุว่าจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ จึงไม่อาจแปลสัญญาประนีประนอมยอมความนี้เป็นเรื่องจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ กับโจทก์ แต่กรณีเป็นเรื่องจำเลยมีสิทธิที่จะหย่าโจทก์ได้ เนื่องจากโจทก์มีภริยาอีกคนหนึ่งและทิ้งร้างจำเลยไป การที่ โจทก์ยินยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นเรื่อง ที่โจทก์ไม่ยินยอมหย่ากับจำเลย และจำเลยสละสิทธิที่จะขอหย่ากับโจทก์โดยจำเลยขอรับค่าอุปการะเลี้ยงดูแทนเท่านั้น แม้จำเลยทราบดีว่าเมื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว โจทก์จำเลย ก็ต้องแยกกันไปทำมาหากินเช่นเดิมก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าจำเลย สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ แต่พฤติการณ์ที่โจทก์ปฏิบัติต่อจำเลย นับแต่โจทก์ทิ้งร้างจำเลยจนกระทั่งทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่กับจำเลยฝ่ายเดียวเท่านั้น ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวนั้นย่อมไม่เปิดโอกาสให้จำเลยไปอยู่กับโจทก์ได้ ก็ใช่เป็นเรื่องที่จำเลยมีความสมัครใจที่จะ แยกกันอยู่กับโจทก์ นอกจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่าภายหลังทำสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์จำเลยได้ตกลงกันนอกเหนือจากข้อสัญญาในสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ เหตุที่โจทก์จำเลยแยกกันอยู่มาเกิน 3 ปี นับแต่ วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงมิได้เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ ของจำเลยเพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้ โดยปกติสุขแต่เป็นความสมัครใจของโจทก์ฝ่ายเดียวเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยโดยอาศัยเหตุฟ้องหย่าตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4/2) ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขตลอดมาเป็นเวลาเกินสามปีแล้ว ขอให้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน
จำเลยให้การว่า โจทก์จำเลยต้องแยกกันอยู่เนื่องจากโจทก์มีภริยาใหม่ ละทิ้งให้จำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรแต่ลำพังผู้เดียวจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 18 ปี ในปี 2535 จำเลยมีหนังสือไปถึงโจทก์เพื่อให้โจทก์หย่ากับจำเลยและชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยและบุตรโดยจำเลยประสงค์จะดำเนินการฟ้องหย่ากับโจทก์และดำเนินคดีโจทก์ฐานแจ้งความเท็จที่โจทก์จดทะเบียนสมรสซ้อนกับภริยาคนใหม่ด้วยโจทก์กับจำเลยตกลงกันไม่ได้เรื่องการหย่า แต่โจทก์กลัวจะได้รับโทษทางอาญาจึงตกลงประนีประนอมยอมความกับจำเลยโดยทำบันทึกข้อตกลงกันขึ้นซึ่งไม่มีข้อตกลงว่าจะสมัครใจแยกกันอยู่ เพราะโจทก์เป็นฝ่ายทิ้งร้างไปจากจำเลยอยู่แล้วเพียงแต่บันทึกยินยอมที่โจทก์จะชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเท่านั้นหลังจากนั้นโจทก์ส่งเงินให้บุตรเพียงบางเดือนแล้วไม่ได้ส่งให้อีกเลย จำเลยมิได้สมัครใจที่จะแยกกันอยู่กับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี อันเป็นเหตุหย่าตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า บันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.5 เป็นข้อตกลงมีวัตถุประสงค์เป็นการระงับข้อพิพาทในเรื่องการหย่าโดยตรง โดยเฉพาะในข้อ 1 ซึ่งระบุว่าโจทก์และจำเลยตกลงที่จะไม่ทำการจดทะเบียนหย่าซึ่งกันและกันและโจทก์ยอมจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูและเงินบำเหน็จหรือบำนาญให้แก่จำเลย ถือได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้ประเด็นเรื่องการหย่าซึ่งทั้งโจทก์และจำเลยยอมสละระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 นอกจากนี้ในสัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีข้อความใดระบุว่า จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์จึงไม่อาจแปลสัญญาประนีประนอมยอมความนี้เป็นเรื่องจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ หรือแปลสาเหตุการทำสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้ว่าเกิดจากโจทก์จำเลยทะเลาะวิวาทกันด้วยเหตุที่โจทก์ได้นางบุญทยาเป็นภริยาอีกคนหนึ่งจนจำเลยประสงค์จะหย่าจากโจทก์ แต่กรณีเป็นเรื่องจำเลยมีสิทธิที่จะหย่าโจทก์ได้เนื่องจากโจทก์มีภริยาอีกคนหนึ่งและทิ้งร้างจำเลยไป การที่โจทก์ยินยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ยินยอมหย่ากับจำเลย และจำเลยสละสิทธิที่จะขอหย่ากับโจทก์โดยจำเลยขอรับค่าอุปการะเลี้ยงดูแทนเท่านั้นแม้จะได้ความจากจำเลยว่า จำเลยทราบดีว่าเมื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วโจทก์จำเลยก็ต้องแยกกันไปทำมาหากินเช่นเดิมก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ไปอยู่กับนางบุญทยาเช่นเดิมโดยจำเลยไม่ติดใจเรื่องหย่ากับโจทก์หรือฟ้องร้องนางบุญทยาตามที่ปรากฏในสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น และในสัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีข้อใดที่ระบุห้ามมิให้จำเลยไปอยู่กับโจทก์ แต่พฤติการณ์ที่โจทก์ปฏิบัติต่อจำเลยนับแต่โจทก์ทิ้งร้างจำเลยจนกระทั่งทำสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมเป็นที่เข้าใจว่าโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่กับจำเลยฝ่ายเดียวเท่านั้นซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวนั้นย่อมไม่เปิดโอกาสให้จำเลยไปอยู่กับโจทก์ได้ มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยมีความสมัครใจที่จะแยกกันอยู่กับโจทก์ นอกจากนั้นทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าภายหลังทำสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์จำเลยได้ตกลงกันนอกเหนือจากข้อสัญญาในสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ เหตุที่โจทก์จำเลยแยกกันอยู่มาเกิน 3 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงมิได้เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจของจำเลยเพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขแต่เป็นความสมัครใจของโจทก์ฝ่ายเดียวเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยโดยอาศัยเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4/2) ได้
พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์

Share