คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4752/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้สัญญาจ้างเหมาเรือจะไม่ระบุว่าบริษัท ค. เป็นตัวแทนหรือกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่สินค้าคือปูนซีเมนต์ที่บรรทุกมากับเรือนั้นเป็นของจำเลยที่ 1 ที่สั่งซื้อจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อนำมายังประเทศไทยซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ใบตราส่งก็ระบุว่าผู้รับตราส่งหรือผู้รับสินค้าคือจำเลยที่ 1 เมื่อเรือขนสินค้ามาถึงท่าเรือเกาะสีชัง ประเทศไทยแล้ว นายเรือก็ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ไปทำการขนสินค้าตามหนังสือบอกกล่าวความพร้อมซึ่งระบุว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่า/ผู้รับสินค้า ต่อมาโจทก์ที่ 1 ได้ทำการกักสินค้า จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อบริษัท ค. ให้ติดต่อฝ่ายโจทก์ให้ปล่อยสินค้าโดยระบุว่าเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้โอนเงินค่าระวางเรือจำนวน 160,000 ดอลลาร์สหรัฐ มาเรียบร้อยแล้ว โดยจำเลยที่ 1 จะรับผิดชอบเรื่องค่าเรือเสียเวลาจำนวน 1,550,000 บาท โดยให้ธนาคารทำสัญญาค้ำประกัน ทั้งปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้จำเลยที่ 2 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันไว้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นจำนวน 1,550,000 บาท ด้วย เมื่อขนถ่ายสินค้าเสร็จแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเรือเสียเวลาให้แก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ได้ทวงถามตามหนังสือทวงถามซึ่งระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าเหมาเรือ จำเลยที่ 1 ก็ไม่เคยโต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้เช่าเรือเลย สัญญาที่จำเลยที่ 1 จ้างบริษัท ค. ขนถ่ายสินค้านั้นปรากฏข้อความว่าจำเลยที่ 1 ให้บริษัท ค. จัดเตรียมเรือเดินทะเลเพื่อขนถ่ายสินค้าทำนองให้กระทำการแทนเท่านั้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1ได้เชิดบริษัท ค. เป็นตัวแทน
แม้คำฟ้องโจทก์ที่ 1 จะบรรยายฟ้องว่า บริษัท ค. ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ก็เป็นการบรรยายฟ้องในเรื่องกฎหมายลักษณะตัวการตัวแทน เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เชิดบริษัท ค. เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดในเรื่องตัวการตัวแทนได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
(วรรคนี้วินิจฉัยตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 8191/2538)
ตามสัญญาจ้างเหมาเรือไม่มีข้อห้ามว่ากรณีที่มิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการแล้ว ห้ามมิให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดฟ้องคดี นอกจากนี้ ป.วิ.พ. ลักษณะ 2 ว่าด้วยวิธีพิจารณาวิสามัญในศาลชั้นต้น หมวด 3 ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ และ พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ก็มิได้มีข้อห้ามมิให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดฟ้องโดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนเช่นเดียวกัน ยิ่งกว่านั้นตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 บัญญัติว่า “ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการโดยมิได้เสนอข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการตามสัญญา คู่สัญญาฝ่ายที่ถูกฟ้องอาจยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันสืบพยานหรือก่อนมีคำพิพากษาในกรณีที่ไม่มีการสืบพยาน ให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่สัญญาดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน และเมื่อศาลทำการไต่สวนแล้วไม่ปรากฏว่ามีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่นหรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ก็ให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสีย” แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจที่จะฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อน แม้จำเลยที่ 2 จะยื่นคำให้การ แต่จำเลยทั้งสองไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลไต่สวนก่อนตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและศาลไม่จำต้องจำหน่ายคดี

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ตกลงให้โจทก์ที่ 1 ขนส่งปูนซีเมนต์จากท่าเรือฟางเชง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมายังประเทศไทย จำเลยที่ 1 โดยบริษัทตัวแทน คือ บริษัทไคฮุง จำกัด ฮ่องกง กับบริษัทดาร์ทวินชิปปิ้ง แอนด์ เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด บริษัทตัวแทนของโจทก์ที่ 1 ได้ทำสัญญาจ้างเหมาระวางเรือ “เมซดูเรซิน” ขนสินค้าดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีข้อตกลงในเรื่องการขนสินค้าลงเรือ ขึ้นจากเรือ ค่าระวางและค่าป่วยการเรือเสียเวลาเอาไว้ด้วย เมื่อเรือ “เมซดูเรซิน” ได้รับสินค้าดังกล่าวครบถ้วนแล้ว นายเรือได้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ตราส่ง ในการขนส่งทางทะเลครั้งนี้มีบริษัทมายาดชิปปิ้ง ไลนส์ จำกัด เป็นบริษัทตัวแทน (บริษัทเอเยน) และมีโจทก์ที่ 2 เป็นบริษัทตัวแทนร่วม (บริษัทเอเยน) มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 ในประเทศไทยในการขนส่งทางทะเลรายพิพาทตามสัญญา เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2534 เรือ “เมซดูเรซิน” ได้ขนสินค้าดังกล่าวมาถึงท่าเรือเกาะสีชัง เพื่อส่งมอบสินค้าให้จำเลยที่ 1 ขนขึ้นจากเรือ นายเรือได้แจ้งความพร้อมที่จะให้จำเลยที่ 1 ขนสินค้าขึ้นให้บริษัทมายาดชิปปิ้ง ไลน์ จำกัด บริษัทตัวแทน (บริษัทเอเยน) ทราบ บริษัทมายาดชิปปิ้ง ไลนส์ จำกัดได้ออกหนังสือยืนยันความพร้อมดังที่นายเรือแจ้งมาไปยังจำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2534 จำเลยที่ 1 ได้เริ่มขนสินค้าขึ้นจากเรือ “เมซดูเรซิน” จำเลยที่ 1 ต้องขนสินค้าขึ้นจากเรือในอัตราวันละ 1,200 เมตริกตัน จำเลยที่ 1 จึงต้องขนถ่ายสินค้าให้เสร็จภายใน 8.37 วัน นับแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2535 (ที่ถูกเป็น 2534) เวลา 8 นาฬิกา เป็นต้นไป ระหว่างการขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือ “เมซดูเรซิน” โจทก์ที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์ที่ 2 ดำเนินการกักสินค้าตามสิทธิบุริมสิทธิของโจทก์ที่ 2 (ที่ถูกเป็นโจทก์ที่ 1) เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าระวาง แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้หาหลักประกันโดยนำจำเลยที่ 2 เข้าค้ำประกันหนี้ค่าป่วยการเรือเสียเวลาให้โจทก์ที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาประกันหนี้อันพึงมีขึ้นจากการขนส่งทางทะเลดังกล่าวต่อโจทก์ที่ 2 ในฐานะบริษัทตัวแทนร่วม (บริษัทเอเยน) ของโจทก์ที่ 1 ในประเทศไทย เมื่อโจทก์ทั้งสองได้รับหลักประกันเป็นที่พอใจแล้ว จึงเลิกกักสินค้า จำเลยที่ 1ได้ขนถ่ายสินค้าเสร็จเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2534 เวลา 22 นาฬิกา เป็นเวลาเรือเสียเวลาอันเนื่องมาจากการกักสินค้าและจำเลยที่ 1 ขนถ่ายสินค้าล่าช้าเองเป็นเวลา 29.20278 วัน ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับระยะเวลาที่เรือเสียเวลาอันเนื่องมาจากการกักสินค้าและการขนถ่ายสินค้าล่าช้า จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระค่าป่วยการเรือเสียเวลาให้โจทก์ทั้งสองภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2534 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันชดใช้ค่าป่วยการเรือเสียเวลาเป็นเงิน 2,256,790.84 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2534 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 11 เดือน 28 วัน เป็นดอกเบี้ย 168,138.50 บาท รวมเป็นเงิน 2,424,929.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 2,256,790.84 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 772,800 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 1 เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 1 ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้สัญญาจ้างเหมาเรือจะไม่ระบุว่าบริษัทไคฮุง จำกัด ฮ่องกง เป็นตัวแทนหรือกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่สินค้าคือปูนซีเมนต์ที่บรรทุกมากับเรือนั้น เป็นของจำเลยที่ 1 ที่สั่งซื้อจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อนำมายังประเทศไทยซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ใบตราส่งก็ระบุว่าผู้รับตราส่งหรือผู้รับสินค้าคือจำเลยที่ 1 เมื่อเรือขนสินค้ามาถึงท่าเรือเกาะสีชัง ประเทศไทยแล้ว นายเรือก็ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ไปทำการขนสินค้าตามหนังสือบอกกล่าวความพร้อม ซึ่งระบุว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่า/ผู้รับสินค้า ต่อมาโจทก์ที่ 1 ได้ทำการกักสินค้า จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อบริษัทไคฮุง จำกัด ฮ่องกง ให้ติดต่อฝ่ายโจทก์ให้ปล่อยสินค้าโดยระบุว่าเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้โอนเงินค่าระวางเรือจำนวน 160,000 ดอลลาร์สหรัฐมาเรียบร้อยแล้วโดยจำเลยที่ 1 จะรับผิดชอบเรื่องค่าเรือเสียเวลาจำนวน 1,550,000 บาท โดยให้ธนาคารทำสัญญาค้ำประกัน ทั้งปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้จำเลยที่ 2 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันไว้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นจำนวน 1,550,000 บาทด้วย ครั้นเมื่อขนถ่ายสินค้าเสร็จแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเรือเสียเวลาให้แก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ได้ทวงถามตามหนังสือทวงถาม ซึ่งระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าเหมาเรือ จำเลยที่ 1 ก็ไม่เคยโต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้เช่าเรือเลย กลับได้ความจากนางสวาทกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1 ว่าจะชดใช้ค่าเรือเสียเวลาให้เพียง 15,000 ดอดลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นสัญญาที่จำเลยที่ 1 จ้างบริษัทไคฮุง จำกัด ฮ่องกง ขนถ่ายสินค้านั้น ศาลตรวจดูแล้วไม่มีรูปแบบของการรับขนทางทะเลและไม่ปรากฏข้อความที่ระบุว่าเป็นการจ้างเลย แต่กลับปรากฏข้อความว่าจำเลยที่ 1 ให้บริษัทไคฮุง จำกัด ฮ่องกง จัดเตรียมเรือเดินทะเลเพื่อขนถ่ายสินค้าทำนองให้กระทำการแทนเท่านั้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เชิดบริษัทไคฮุง จำกัด ฮ่องกง เป็นตัวแทน แม้คำฟ้องโจทก์ที่ 1 จะบรรยายฟ้องว่าบริษัทไคฮุง จำกัด ฮ่องกง ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ก็เป็นการบรรยายฟ้องในเรื่องกฎหมายลักษณะตัวการตัวแทน เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เชิดบริษัทไคฮุง จำกัด ฮ่องกง เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดในเรื่องตัวการตัวแทนได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
ตามสัญญาจ้างเหมาเรือไม่มีข้อห้ามว่ากรณีที่มิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการแล้ว ห้ามมิให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดฟ้องคดี นอกจากนี้ ป.วิ.พ. ลักษณะ 2 ว่าด้วยวิธีพิจารณาวิสามัญในศาลชั้นต้น หมวด 3 ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ และ พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ก็มิได้มีข้อห้ามมิให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดฟ้องโดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนเช่นเดียวกัน ยิ่งกว่านั้นตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลการ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 บัญญัติว่า “ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการโดยมิได้เสนอข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการตามสัญญา คู่สัญญาฝ่ายที่ถูกฟ้องอาจยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันสืบพยานหรือก่อนมีคำพิพากษาในกรณีที่ไม่มีการสืบพยาน ให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่สัญญาดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน และเมื่อศาลทำการไต่สวนแล้วไม่ปรากฏว่ามีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่นหรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ก็ให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสีย” อันแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจที่จะฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อน แม้จำเลยที่ 2 จะยื่นคำให้การ แต่จำเลยทั้งสองไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลไต่สวนก่อนตามที่กฎหมายกำหนดโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและศาลไม่จำต้องจำหน่ายคดี
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share