คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6540/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยในประเด็นที่ว่า หนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องและขอให้ชำระหนี้ของโจทก์ ไม่มีการลงลายมือชื่อกรรมการและประทับตราสำคัญบริษัทโจทก์ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและจำเลยไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว ถือไม่ได้ว่ามีการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องโดยชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานอันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ในประเด็นนี้ ข้อฎีกาดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
เมื่อเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าซื้อถูกพิทักษ์ทรัพย์ อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของเจ้าหนี้ย่อมตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพียงผู้เดียวตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6, 22 และ 24 การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทวงหนี้ไปยังจำเลยผู้ค้ำประกันในการเช่าซื้อ เป็นการบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันเป็นการจัดการทรัพย์สินของเจ้าหนี้ การทวงหนี้จึงเป็นการกระทำอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี ซึ่งเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) เมื่อนับจากวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือให้ชำระหนี้จนถึงวันฟ้องยังไม่เกินสิบปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 300,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,693.44 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 40,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 5 มิถุนายน 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า หนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องและขอให้ชำระหนี้ของโจทก์ไม่มีการลงลายมือชื่อกรรมการและประทับตราสำคัญบริษัทโจทก์ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยไม่เคยได้รับหนังสือฉบับดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าได้มีการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องโดยชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ในประเด็นนี้ แต่ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น เห็นว่า ในประเด็นนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า หนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องนั้นได้มีบุคคลลงลายมือชื่อรับไว้น่าเชื่อว่าจำเลยทราบการโอนสิทธิเรียกร้องแล้ว ดังนั้น ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยจึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น อันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ในประเด็นนี้ ข้อฎีกาดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คดีมีปัญหาในข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือให้ชำระหนี้ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 เป็นอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายแทนเจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลาย ไม่ควรถือเป็นการกระทำแทนบุคคลล้มละลายหรือเป็นการบังคับตามสิทธิเรียกร้องของบุคคลล้มละลาย จึงไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (5) เมื่อนับแต่วันที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันจนถึงวันฟ้องเกินกว่าสิบปีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า เมื่อเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าซื้อถูกพิทักษ์ทรัพย์ อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของเจ้าหนี้ย่อมตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพียงผู้เดียว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6, 22 และ 24 การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทวงหนี้ไปยังจำเลยผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อ จึงเป็นการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี ซึ่งเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (5) ดังนั้น เมื่อนับจากวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือให้ชำระหนี้จนถึงวันฟ้อง จึงยังไม่เกินสิบปี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share