คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8718/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

มูลหนี้ที่ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งผู้ร้องฟ้องลูกหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ 20727/2537 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากการผิดสัญญาก่อสร้างงานไม่แล้วเสร็จ โดยขอให้บังคับให้ลูกหนี้ชำระค่าปรับและค่าเสียหายที่ต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มพร้อมดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลูกหนี้ชดใช้ค่าเสียหายในส่วนที่ผู้ร้องต้องว่าจ้างบุคคลอื่นทำการก่อสร้างต่อในราคาที่สูงขึ้นเป็นเงิน 3,486,927.94 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ผู้ร้องได้มายื่นคำขอรับชำระหนี้รวม 5 อันดับ ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยได้ระบุในบัญชีรายละเอียดแห่งหนี้สินว่ามูลหนี้อันดับที่ 2 เป็นหนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 20727/2537 ของศาลชั้นต้นจำนวนเงิน 4,780,720.22 บาท แสดงว่าผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้อันดับที่ 2 เฉพาะหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวของศาลชั้นต้นจำนวน 4,780,720.22 บาทเท่านั้น ส่วนหนี้ค่าปรับเป็นรายวันตามสัญญาตามฟ้องที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดให้นั้น แม้ว่าผู้ร้องจะฟ้องขอให้บังคับชำระหนี้มาด้วยกันและผู้ร้องได้ใช้สิทธิอุทธรณ์และฎีกาตามลำดับแต่ผู้ร้องไม่ได้ขอรับชำระหนี้ดังกล่าวนี้รวมไว้ในมูลหนี้อันดับที่ 2 ในบัญชีรายละเอียดแห่งหนี้สินซึ่งยื่นไว้ด้วย ที่ผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้องให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ว่า ได้แจ้งความประสงค์ว่าผู้ร้องต้องการขอรับชำระหนี้ในส่วนค่าปรับรายวันจากลูกหนี้ตามที่ยื่นฎีกาไว้ก็มิใช่การขอรับชำระหนี้ตามแบบพิมพ์แสดงรายละเอียดแห่งหนี้สินตามบทบัญญัติพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 91 วรรคสอง และแม้ศาลฎีกายังไม่ได้มีคำพิพากษาในส่วนหนี้ค่าปรับรายวันดังกล่าว หากผู้ร้องประสงค์ขอรับชำระหนี้ส่วนนี้ ผู้ร้องย่อมสามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้รวมกับยอดหนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 20727/2537 ของศาลชั้นต้นได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว โดยไม่ต้องรอให้ศาลฎีกามีคำพิพากษาเกี่ยวกับหนี้ส่วนนี้เสียก่อน ดังนั้น เมื่อผู้ร้องนำหนี้ค่าปรับรายวันตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมายื่นขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม จึงพ้นกำหนดเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 91 อีกทั้งหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ย่อมต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสองเด็ดขาด ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ 2 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในมูลหนี้รวม 5 อันดับ โดยมูลหนี้อันดับที่ 2 เป็นมูลหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งของศาลชั้นต้นหมายเลขแดงที่ 20727/2537 ซึ่งผู้ร้องได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จำนวน 4,780,720.22 บาท และได้ให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในชั้นสอบสวน คำขอรับชำระหนี้ว่า ผู้ร้องมีความประสงค์จะขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไปเนื่องจากในขณะยื่นคำขอรับชำระหนี้นั้นคดียังไม่ถึงที่สุด ต่อมาศาลฎีกาได้พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลูกหนี้ทั้งสองร่วมกันชำระค่าปรับรายวันอีกจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมยอดหนี้ในคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับที่ 2 ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยขอแก้ไขเพิ่มเติมยอดเงินค่าปรับเป็น 1,000,000 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 18 สิงหาคม 2536) ถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2539) เป็นดอกเบี้ย 186,961.60 บาท รวมเป็นจำนวนเงินที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมทั้งสิ้น 1,186,961.60 บาท ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องในการขอเพิ่มเติมยอดหนี้โดยอ้างเหตุว่าเป็นการแก้ไขในสาระสำคัญและเลยกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 91 และไม่ใช่กรณีตามมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เนื่องด้วยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้เข้ามาว่าคดีแต่อย่างใด

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้ยกคำร้องขอเพิ่มเติมยอดหนี้ของผู้ร้องนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายเนื่องจากผู้ร้องได้แจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบในขณะสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ว่ามูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คดีหมายเลขแดงที่ 20727/2537 คดียังไม่ถึงที่สุดโดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา และผู้ร้องประสงค์จะขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไป ประกอบกับมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว ผู้ร้องได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดระยะเวลาตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 แล้ว เพียงแต่ผู้ร้องขอแก้ไขยอดหนี้ในคำขอรับชำระหนี้ให้ถูกต้องตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่มีผลเป็นที่สุดแล้วเท่านั้น หาใช่เป็นการยื่นคำขอรับชำระหนี้ใหม่ทั้งมูลหนี้อันเป็นการยื่นภายหลังกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 และมาตรา 93 ไม่ อีกทั้งการที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาในวันที่ 31 มีนาคม 2541 ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลาในการขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 91 แล้ว กรณีจึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอแก้ไขยอดหนี้ให้ถูกต้องตามคำพิพากษาศาลฎีกาได้ทันภายในกำหนดระยะเวลาในการขอรับชำระหนี้มาตรา 91 ดังนั้น ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมยอดหนี้ของผู้ร้องไว้พิจารณาดำเนินการต่อไป

ผู้คัดค้านและโจทก์ยื่นคำคัดค้านในทำนองเดียวกันขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “…ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมหรือแก้ไขยอดหนี้เพิ่มเติมขึ้นตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวเมื่อพ้นกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วได้หรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 20727/2537 ตามบัญชีรายละเอียดแห่งหนี้สินอันดับที่ 2 ซึ่งผู้ร้องได้แจ้งไว้แล้วว่าหนี้ตามคำพิพากษานั้นยังไม่ถึงที่สุด ผู้ร้องได้ยื่นฎีกาเรื่องค่าปรับรายวันพร้อมดอกเบี้ยและผู้ร้องมีความประสงค์ขอรับชำระหนี้ตามยอดเงินค่าปรับพร้อมดอกเบี้ยในส่วนนี้ไว้ด้วย เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ทั้งสองร่วมกันชำระค่าปรับ1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมยอดหนี้ดังกล่าว แม้จะพ้นกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้ตามกฎหมายแต่ก็เป็นการแก้ไขยอดหนี้ให้ถูกต้องตามคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งเป็นเรื่องที่สืบเนื่องจากการยื่นคำขอรับชำระหนี้เดิม มิใช่เป็นการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ใหม่นั้น เห็นว่า มูลหนี้ที่ผู้ร้องนำมาฟ้องลูกหนี้ทั้งสองในคดีหมายเลขแดงที่ 20727/2537 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากการผิดสัญญาก่อสร้างงานไม่แล้วเสร็จ โดยขอบังคับให้ลูกหนี้ทั้งสองร่วมกันชำระค่าปรับและค่าเสียหายที่ต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มรวมเป็นเงิน 6,532,757.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 6,121,158.94 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลูกหนี้ทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายในส่วนที่ผู้ร้องต้องว่าจ้างบุคคลอื่นทำการก่อสร้างต่อในราคาที่สูงขึ้นเป็นเงิน 3,486,927.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสองเด็ดขาด ผู้ร้องได้มายื่นคำขอรับชำระหนี้รวม 5 อันดับ ภายในเวลาตามที่กฎหมายกำหนดโดยได้ระบุในบัญชีรายละเอียดแห่งหนี้สินว่ามูลหนี้อันดับที่ 2 เป็นหนี้ตามคำพิพากษา คดีหมายเลขแดงที่ 20727/2537 ของศาลชั้นต้น จำนวนเงิน 4,780,720.22บาท และหลักฐานประกอบหนี้คือสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 20727/2537แสดงว่าผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้อันดับที่ 2 เฉพาะหนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 20727/2537 ของศาลชั้นต้นจำนวน 4,780,720.22 บาท เท่านั้น ส่วนหนี้ค่าปรับเป็นรายวันตามสัญญาตามฟ้องที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดให้รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,634,231 บาท แม้ว่าผู้ร้องจะฟ้องขอให้บังคับชำระหนี้มาด้วยกันและผู้ร้องได้ใช้สิทธิอุทธรณ์และฎีกาตามลำดับ แต่ผู้ร้องไม่ได้ขอรับชำระหนี้ดังกล่าวนี้รวมไว้ในมูลหนี้อันดับที่ 2 ในบัญชีรายละเอียดแห่งหนี้สินซึ่งยื่นไว้เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2539ไว้ด้วย ที่ผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้องให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ว่า ได้แจ้งความประสงค์ว่าผู้ร้องต้องการขอรับชำระหนี้ในส่วนค่าปรับรายวันจากลูกหนี้ทั้งสองตามที่ยื่นฎีกาไว้ก็มิใช่การขอรับชำระหนี้ตามแบบพิมพ์แสดงรายละเอียดแห่งหนี้สินตามบทบัญญัติพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91วรรคสอง และแม้ศาลฎีกายังไม่ได้มีคำพิพากษาในส่วนหนี้ค่าปรับรายวันดังกล่าว หากผู้ร้องประสงค์ขอรับชำระหนี้ส่วนนี้ ผู้ร้องย่อมสามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้รวมกับยอดหนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 20727/2537 ของศาลชั้นต้นได้ล่วงหน้าอยู่แล้วโดยไม่ต้องรอให้ศาลฎีกามีคำพิพากษาเกี่ยวกับหนี้ส่วนนี้เสียก่อน ดังนั้น เมื่อผู้ร้องนำหนี้ค่าปรับรายวันตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมายื่นคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2541 จึงพ้นกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามบทบัญญัติพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91อีกทั้งหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสองเด็ดขาด ย่อมต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share