แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ป. ล. ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์และ ป. เป็นเจ้าของร่วมกัน โดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสและตกเป็นของ ป. กับโจทก์ร่วมกัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 ให้อำนาจเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์รวมเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ การที่ ป. ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของ ป. โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382จึงเป็นการกระทำแทนโจทก์ด้วย แม้ต่อมา ป. และโจทก์จะจดทะเบียนหย่าภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีที่ป. ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ ก็ไม่ทำให้สถานะของการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์เปลี่ยนไปต้องถือว่าโจทก์ในคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกันกับ ป. ผู้ร้องในคดีก่อนซึ่งมีผู้คัดค้านในคดีก่อนเป็นจำเลยในคดีนี้เช่นกัน และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดไปก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีนี้ โดยอ้างว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมากว่า 10 ปีโจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แม้โจทก์จะมิได้ระบุในคำฟ้องอ้างมาตรา 1382 มาด้วยก็ตาม จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมนางล้วน ประจวบเหมาะ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 78 ตำบลประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี 2514 นางล้วนยกที่ดินบางส่วนของที่ดินแปลงนี้เนื้อที่ 104 ตารางวา ซึ่งต่อมาแบ่งแยกออกเป็นโฉนดเลขที่ 12790 อันเป็นที่ดินพิพาทคดีนี้ให้แก่โจทก์และนายปราณี โปตะวณิช สามีโจทก์ในขณะนั้น แต่มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นโจทก์และนายปราณีเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลากว่า 10 ปี กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงตกแก่โจทก์ ต่อมานางล้วนถึงแก่ความตาย นายปราณีได้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางล้วนคัดค้าน ในที่สุดนายปราณีเป็นฝ่ายแพ้คดี ตามคดีแพ่งหมายแดงที่ 843/2529 ของศาลชั้นต้นคำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันเฉพาะนายปราณีไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 12790 ตำบลประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยการครอบครองปรปักษ์ ให้เจ้าพนักงานที่ดินแก้ไขทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงดังกล่าว
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า นางล้วนไม่เคยยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์หรือนายปราณี โจทก์และนายปราณีเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของนางล้วน โจทก์เป็นภริยานายปราณีคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 843/2529 ของศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่านายปราณีไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์จึงผูกพันโจทก์ ข้ออ้างของโจทก์เป็นประเด็นเดียวกับคดีของนายปราณีซึ่งศาลวินิจฉัยชี้ขาดแล้วต้องห้ามมิให้โจทก์ดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 การที่โจทก์และนายปราณีไม่ยอมออกจากที่ดินพิพาท ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายไม่น้อยกว่าเดือนละ 20,000 บาท แต่จำเลยขอคิดเพียงเดือนละ 10,000บาท ขอให้ยกฟ้อง และขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาท ให้โจทก์รื้อถอนขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาท ให้โจทก์ส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่จำเลยในสภาพเรียบร้อยโดยโจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย กับโจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยเดือนละ10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์และบริวารจะออกจากที่ดินพิพาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิของตนเอง มิได้อาศัยสิทธิของนายปราณี โจทก์มิได้เป็นคู่ความในคดีที่นายปราณีเป็นโจทก์ คำพิพากษาคดีดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ส่วนฟ้องแย้งให้ยกเสีย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันว่า คดีก่อนนายปราณี โปตะวณิช สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ซึ่งจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 28 เมษายน2493 ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2528ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแสดงว่าที่ดินตามโฉนดเลขที่ 12790ตำบลประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่พิพาทคดีนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของนายปราณีโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 จำเลยในคดีนี้ยื่นคำคัดค้านตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 843/2529 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26ธันวาคม 2529 ว่า นายปราณี ผู้ร้อง ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้เจ้าพนักงานที่ดินแก้ทะเบียนใส่ชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์วันที่ 31 พฤษภาคม 2532 โจทก์กับนายปราณีจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2534 คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยศาลฎีกามีคำพิพากษายกคำร้องขอของนายปราณีผู้ร้อง โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2537 โดยอ้างว่านางล้วน ประจวบเหมาะ เจ้าของที่ดินเดิมยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และนายปราณีตั้งแต่ปี 2514 และได้ร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาเกินกว่า 10 ปี โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทร่วมกับนายปราณีคดีมีปัญหาวินิจฉัย ตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 843/2529 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ ตามคำฟ้องของโจทก์ฟังได้ว่าโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายปราณี นางล้วนยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และนายปราณีเป็นเจ้าของร่วมกัน ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส และตกเป็นของนายปราณีกับโจทก์ร่วมกันในฐานะเจ้าของรวม ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 ให้อำนาจเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิอันเกิดแก่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก และได้ความตามคำฟ้องของโจทก์ต่อไปว่า นายปราณีได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนายปราณีโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ขณะนั้นนายปราณีและโจทก์ยังมีสถานะเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทด้วยกัน การกระทำของนายปราณีดังกล่าวจึงเป็นการกระทำแทนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทด้วย แม้ต่อมานายปราณีและโจทก์จะจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีที่นายปราณียื่นคำร้องของแสดงกรรมสิทธิ์แล้วก็ตาม ก็ไม่ทำให้สถานะของการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในการที่ดินพิพาทของโจทก์เปลี่ยนไปจากที่เป็นอยู่โจทก์ยังคงต้องผูกพันกับการกระทำของนายปราณีในคดีดังกล่าวในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท และต้องถือว่าโจทก์ในคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกันกับนายปราณีผู้ร้องในคดีก่อน ซึ่งมีผู้คัดค้านในคดีก่อนเป็นจำเลยในคดีนี้เช่นกัน และในคดีก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดไปก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีนี้ในประเด็นว่านายปราณีได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หรือไม่ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้โดยอ้างว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมากว่า 10 ปี โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแม้โจทก์จะมิได้ระบุในคำฟ้องอ้างบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 มาด้วยก็ตาม ก็เห็นได้ว่าโจทก์อ้างว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับการที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน โดยคู่ความเดียวกันในคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามมาตรา 148 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคำพิพากษาเปลี่ยนไป คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน