คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6753/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท น. ซึ่งประกอบกิจการน้ำดื่มโดยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะเป็นคำและรูป คดีก่อนศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 272 (1) ฐานเอาชื่อ รูปรอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของโจทก์มาใช้ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์ แต่ในช่วงระยะเวลาที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์กิจการของโจทก์มีกำไรมากขึ้นจากเดิม โจทก์จึงไม่เสียหายในผลกำไรที่โจทก์ควรได้จากการจำหน่ายน้ำดื่ม
จำเลยระบุเหตุในคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมว่า จำเลยเพิ่งทราบว่ามีพยานดังกล่าวที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้นำสืบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงบกำไรขาดทุนของบริษัท น.ซึ่งมีโจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการว่าระหว่างปี 2537 ถึงปี 2540 บริษัทมีกำไรเฉลี่ยเดือนละประมาณ 600,000 บาทข้อเท็จจริงเหล่านั้นจะปรากฏอยู่ในเอกสารเกี่ยวกับการเงินและการบัญชี เช่นงบดุล แบบแสดงรายการภาษีเงินได้ รายงานของผู้สอบบัญชี เป็นต้น ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้จัดทำขึ้นและยื่นต่อสำนักงานสรรพากรจังหวัดขอนแก่น พยานบุคคลและเอกสารที่จำเลยระบุอ้างเพิ่มเติมก็เป็นสรรพากรจังหวัดขอนแก่นกับงบดุลและงบกำไรขาดทุนของบริษัทดังกล่าวตั้งแต่ปี 2537 ถึงปัจจุบันซึ่งอยู่ในความครอบครองของสำนักงานสรรพากรจังหวัดขอนแก่นทั้งสิ้น หาได้อยู่ในความครอบครองของจำเลยผู้อ้างที่ต้องแนบสำเนามาท้ายคำให้การดังที่กำหนดไว้ในข้อ 7 แห่งข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ไม่ การอนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าวซึ่งเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญที่เกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีย่อมทำให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงบกำไรขาดทุนของบริษัทดังกล่าวเป็นไปโดยเที่ยงธรรม การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าว จึงอนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม จึงชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 87 (2) ย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ กรณีไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อข้อกำหนดหรือเป็นการที่จำเลยจงใจดำเนินกระบวนพิจารณาอันเป็นการเอาเปรียบคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ข้อ 3
โจทก์ดำเนินกิจการน้ำดื่มโดยใช้เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะเป็นคำและรูปมากว่า 20 ปี ด้วยความซื่อสัตย์ จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในหมู่ผู้บริโภคว่าน้ำดื่มของโจทก์มีคุณภาพ การที่จำเลยผลิตน้ำดื่มไม่มีคุณภาพออกจำหน่ายโดยใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง แม้โจทก์ไม่อาจสืบให้เห็นได้แจ้งชัดว่าน้ำดื่มที่จำเลยผลิตไม่มีคุณภาพ และโจทก์เสียหายมากน้อยเพียงใด แต่การกระทำของจำเลยย่อมทำให้โจทก์เสียหาย ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยกำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเรียกค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จากโจทก์เกินไปจากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ จึงให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539มาตรา 26 ประกอบด้วยตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 2,721,043 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,629,396 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยเลิกใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าว
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยเลิกใช้เครื่องหมายการค้า “โคโรลิส” (ที่ถูกเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะเป็นคำและรูปคือเครื่องหมาย ) ทันที ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ในทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันว่า โจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทนอร์ทอีสต์โคโรลิส จำกัด ประกอบกิจการน้ำดื่มโดยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะเป็นคำและรูปคือเครื่องหมาย จำเลยเช่าโรงงานผลิตน้ำดื่มและขออนุญาตใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีกำหนด 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 เป็นต้นไป ต่อมาโจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวจำเลยให้งดใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ จำเลยได้รับแล้วคงเพิกเฉย โจทก์จึงมอบหมายให้ทนายความแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในข้อหาความผิดฐานเอาชื่อ รูปรอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ไปใช้โดย ไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) ครั้นวันที่ 5 กันยายน 2540 ศาลแขวงขอนแก่นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) คดีถึงที่สุดแล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด เห็นว่า แม้พยานหลักฐานของโจทก์จะมีตัวโจทก์และพยานโจทก์เบิกความประกอบเอกสารซึ่งมีบัญชียอดขายปี 2535 ถึงปี 2537 และปี 2540 กับบัญชีส่งสินค้าแก่ลูกค้าในจังหวัดขอนแก่นและต่างจังหวัดก็ตาม ปรากฏว่าเอกสารทั้งหมดดังกล่าวฝ่ายโจทก์จัดทำขึ้นเอง และเป็นเพียงประมาณการซึ่งเป็นการคาดหวังของโจทก์ฝ่ายเดียว จึงยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ายอดจำหน่ายน้ำดื่มของโจทก์ระหว่างปี 2537 ถึงปี 2540 มีจำนวนเท่าใดและโจทก์มีกำไรหรือขาดทุนหรือไม่ เพียงใด พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ พยานโจทก์เบิกความรับว่าระหว่างปี 2535 ถึงปี 2537 โจทก์มีกำไรเดือนละประมาณ 600,000 บาท ปี 2538 ถึงปี 2539 ซึ่งจำเลยเช่ากิจการของโจทก์นั้น มีกำไรเดือนละประมาณ 700,000 บาท และระหว่างเดือนมีนาคม 2540 ถึงเดือนพฤษภาคม 2540 ซึ่งโจทก์กลับเข้าดำเนินการเองมีกำไรเดือนละประมาณ 200,000 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับงบกำไรขาดทุนของบริษัทนอร์ทอีสต์โคโรลิส จำกัด เอกสารหมาย ป.ล.2 (ศาลจังหวัดขอนแก่น) ที่ระบุว่าเฉพาะปี 2537 ซึ่งเป็นปีที่โจทก์ดำเนินกิจการเองก่อนจะให้จำเลยเช่านั้น ปรากฏว่าโจทก์มีกำไรเฉลี่ยจำนวนเพียงเดือนละ 5,221.09 บาท เห็นได้ชัดว่าในช่วง 3 เดือน คือระหว่างเดือนมีนาคม 2540 ถึงเดือนพฤษภาคม 2540 ที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์นั้นกิจการของโจทก์มีกำไรมากขึ้นจากเดิมที่โจทก์ดำเนินกิจการเองในปี 2537 ช่วงเดียวกันเดือนละเพียง 5,221.09 บาท เป็นเดือนละประมาณ 200,000 บาท ดังนั้น โจทก์จึงไม่เสียหายในผลกำไรที่โจทก์ควรได้จากการจำหน่ายน้ำดื่มแต่อย่างใด
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยเพิ่งยื่นคำร้องขออ้างพยานเพิ่มเติมเรื่องงบกำไรขาดทุนเอกสารหมาย ป.ล.2 ถึง ป.ล.5 (ศาลจังหวัดขอนแก่น) และอ้างสรรพากรจังหวัดขอนแก่นเป็นพยานหลังจากที่โจทก์เบิกความแล้วประมาณ 1 ปีเศษ เป็นการเอาเปรียบโจทก์ในเชิงคดี ตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ข้อ 3 และข้อ 7 จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้นั้น จำเลยได้ระบุเหตุในคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมว่า จำเลยเพิ่งทราบว่ามีพยานดังกล่าวที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ เห็นว่า โจทก์ได้นำสืบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงบกำไรขาดทุนของบริษัทนอร์ทอีสต์โคโรลิส จำกัด ซึ่งมีโจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการว่า ระหว่างปี 2537 ถึงปี 2540 บริษัทดังกล่าวมีกำไรเฉลี่ยเดือนละประมาณ 600,000 บาท ข้อเท็จจริงเหล่านั้นจะปรากฏอยู่ในเอกสารเกี่ยวกับการเงินและการบัญชี เช่น งบดุล แบบแสดงรายการภาษีเงินได้ รายงานของผู้สอบบัญชี เป็นต้น ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้จัดทำขึ้นและยื่นต่อสำนักงานสรรพากรจังหวัดขอนแก่น พยานบุคคลและเอกสารที่จำเลยระบุอ้างเพิ่มเติมก็เป็นสรรพากรจังหวัดขอนแก่นกับงบดุลและงบกำไรขาดทุนของบริษัทดังกล่าวตั้งแต่ปี 2537 ถึงปัจจุบันซึ่งอยู่ในความครอบครองของสำนักงานสรรพากรจังหวัดขอนแก่นทั้งสิ้น หาได้อยู่ในความครอบครองของจำเลยผู้อ้างที่ต้องแนบสำเนามาท้ายคำให้การดังที่กำหนดไว้ในข้อ 7 แห่งข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ไม่ การอนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าวซึ่งเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญที่เกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีย่อมทำให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงบกำไรขาดทุนของบริษัทดังกล่าวเป็นไปโดยเที่ยงธรรม การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าวจึงอนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมนั้นจึงชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (2) แล้ว งบกำไรขาดทุนเอกสารหมาย ป.ล.2 ถึง ป.ล.5 (ศาลจังหวัดขอนแก่น) ย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ กรณีไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อข้อกำหนดหรือเป็นการที่จำเลยจงใจดำเนินกระบวนพิจารณาอันเป็นการเปรียบคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ข้อ 3 ดังที่โจทก์อุทธรณ์แต่อย่างใด
ส่วนที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงนั้น โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ดำเนินกิจการน้ำดื่มโดยใช้เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะเป็นคำและรูปคือเครื่องหมาย มากว่า 20 ปี ด้วยความซื่อสัตย์จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในหมู่ผู้บริโภคว่าน้ำดื่มของโจทก์มีคุณภาพ การที่จำเลยผลิตน้ำดื่มไม่มีคุณภาพออกจำหน่ายโดยใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง กว่าโจทก์จะชี้แจงให้ลูกค้าทราบความเป็นจริงและกลับมาบริโภคน้ำดื่มของโจทก์ก็คงต้องใช้เวลาหลายเดือน จำเลยจึงควรต้องชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์จำนวน 1,000,000 บาท นั้น ในปัญหาข้อนี้พยานโจทก์คงมีตัวโจทก์และผู้จัดการโรงงานน้ำดื่ม โคโรลิสเบิกความเพียงว่า จำเลยลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยผลิตและจำหน่ายน้ำดื่มไม่มีคุณภาพ จึงถูกลูกค้าต่อว่า ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวไม่อาจนำสืบให้เห็นได้แจ้งชัดว่าน้ำดื่มที่จำเลยผลิตไม่มีคุณภาพ และกรณีนี้โจทก์เสียหายมากน้อยเพียงใด ที่โจทก์เรียกให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 1,000,000 บาท นั้น เป็นการประเมินของโจทก์ฝ่ายเดียว จึงมิใช่ความเสียหายตามความเป็นจริง แต่การกระทำของจำเลยย่อมทำให้โจทก์เสียหายและเป็นความเสียหายที่ศาลต้องวินิจฉัยกำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์เป็นเงินจำนวน 30,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้มีทุนทรัพย์ตามคำฟ้องจำนวน 2,721,043 บาท ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยชำระเงินเพิ่มเพื่อให้เต็มจำนวนตามคำฟ้องแก่โจทก์อีกจำนวน 2,691,043 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาจึงมีจำนวน 2,691,043 บาท ดังนี้ ที่ศาลดังกล่าวเรียก ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จากโจทก์โดยคิดคำนวณจากทุนทรัพย์จำนวน 2,721,043 บาท เป็นการเรียกค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จากโจทก์เกินไปจากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เป็นจำนวน 30,000 บาท จึงให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในอัตราร้อยละ 2.5 ของทุนทรัพย์จำนวน 30,000 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 750 บาท แก่โจทก์ ตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและ การค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่โจทก์เสียเกินมาจำนวน 750 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share