แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานนำเข้ายางกัญชาและฐานพยายามส่งออกยางกัญชา จำคุกกระทงละ 2 ปี โดยปรับบทว่าความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเป็นกรรมเดียวกับฐานพยายามส่งออก ให้ลงโทษฐานพยายามส่งออกซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โดยยังคงให้ลงโทษจำเลยฐานนำเข้ายางกัญชา และฐานพยายามส่งออกยางกัญชา จำคุกกระทงละ 2 ปี แต่ปรับบท เป็นว่าความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเป็นกรรมเดียวกับฐานนำเข้า ให้ลงโทษฐานนำเข้าอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ดังนี้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน 5 ปีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยมีเจตนาเดียวคือนำยางกัญชา ของกลางจำนวนเดียวกันจากประเทศเนปาลเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยทางเครื่องบินเพื่อไปเขตบริหารพิเศษฮ่องกง โดยจำเลยครอบครองยางกัญชาจำนวนดังกล่าวต่อเนื่องกันจนกระทั่งถูกจับการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานมียางกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเพียงกรรมเดียว ไม่เป็นความผิดฐานนำเข้าและพยายามส่งออกยางกัญชาดังกล่าวแต่อย่างใด แต่โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำของจำเลยว่าเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจึงมีผลอย่างเดียวกับการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยยกขึ้นอ้างได้แม้จะไม่ได้ยกขึ้นในศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225 โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่20 ธันวาคม 2539 จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ ก. จำเลยมียางกัญชา จำนวน 15 แท่ง น้ำหนัก 4,974 กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ข.จำเลย นำยางกัญชาตามข้อ ก. จากประเทศเนปาลเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยทางเครื่องบิน และ ค. หลังจากนั้น จำเลยส่งยางกัญชาซึ่งจำเลยมีไว้ในครอบครองตามข้อ ก. และนำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยตามข้อ ข. ออกนอกราชอาณาจักรไทยโดยทางเครื่องบินไปยังเขตบริหารพิเศษฮ่องกง จำเลยลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอด เพราะเจ้าพนักงานตรวจพบก่อนที่จำเลยจะขึ้นเครื่องบิน เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยกระเป๋า 1 ใบ รองเท้า 1 คู่ ซึ่งจำเลยใช้ซุกซ่อนยางกัญชาดังกล่าวเป็นของกลาง เหตุเกิดที่แขวงตลาดบางเขนเขตดอนเมืองกรุงเทพมหานครดังนี้ฟ้องโจทก์ข้อค.ได้กล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดในข้อหาพยายามส่งยางกัญชาของกลางออกนอกราชอาณาจักรโดยกล่าวถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้วฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2539 เวลาประมาณ18 นาฬิกา จำเลยมียางกัญชา อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5จำนวน 15 แท่ง น้ำหนัก 4,974 กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและจำเลยได้นำยางกัญชาที่จำเลยมีไว้ในครอบครองจำนวน 15 แท่งดังกล่าว จากประเทศเนปาลเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยทางเครื่องบินโดยสารของบริษัทการบินไทย จำกัด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย หลังจากนั้นจำเลยส่งยางกัญชาที่จำเลยมีไว้ในครอบครองและนำเข้ามาในราชอาณาจักร จำนวน 15 แท่ง นั้นออกนอกราชอาณาจักรไทยโดยทางเครื่องบินโดยสารของบริษัทการบินไทย จำกัด ไปยังประเทศฮ่องกง (ที่ถูกคือเขตบริหารพิเศษฮ่องกง) แต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะเจ้าพนักงานตรวจพบและจับจำเลยได้เสียก่อน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8,26, 75, 76, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3, 7 ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 26,75, 76, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534มาตรา 3, 7 ลงโทษฐานนำเข้ายางกัญชาจำคุก 4 ปี ฐานพยายามส่งออกยางกัญชาโดยถือเป็นความผิดสำเร็จอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดจำคุก 4 ปี รวมจำคุก 8 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 75 วรรคหนึ่ง,76 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 ฐานมีไว้ในครอบครองและนำเข้าซึ่งยางกัญชาเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษฐานนำเข้ายางกัญชาอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี กระทงหนึ่งฐานพยายามส่งออกซึ่งยางกัญชาต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จ ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534มาตรา 7 จำคุก 4 ปี อีกกระทงหนึ่ง รวมจำคุก 8 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานนำเข้ายางกัญชาและฐานพยายามส่งออกยางกัญชา จำคุกกระทงละ2 ปี โดยปรับบทว่า ความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเป็นกรรมเดียวกับฐานพยายามส่งออก ให้ลงโทษฐานพยายามส่งออกซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โดยยังคงให้ลงโทษจำเลยฐานนำเข้ายางกัญชาและฐานพยายามส่งออกยางกัญชา จำคุกกระทงละ2 ปี แต่ปรับบทเป็นว่าความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเป็นกรรมเดียวกับฐานนำเข้าให้ลงโทษฐานนำเข้าอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดดังนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน 5 ปีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่าการกระทำของจำเลยมีเจตนาเดียวคือ นำยางกัญชาของกลางจำนวนเดียวกันจากประเทศเนปาลเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยทางเครื่องบินโดยสารของบริษัทการบินไทย จำกัด เพื่อไปเขตบริหารพิเศษฮ่องกงโดยจำเลยครอบครองยางกัญชาจำนวนดังกล่าวต่อเนื่องกันจนกระทั่งถูกจับ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานมียางกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเพียงกรรมเดียว ไม่เป็นความผิดฐานนำเข้าและพยายามส่งออกยางกัญชาดังกล่าวแต่อย่างใด แต่โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำของจำเลยว่าเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยข้อนี้เป็นปัญหาข้อเท็จจริง เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจึงมีผลอย่างเดียวกับการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในสถานเบาและรอการลงโทษนั้น ก็เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน ทั้งสองกรณีต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่โดยจำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยลงมือกระทำความผิดฐานส่งออกยางกัญชาแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอด โดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่ากระทำอย่างไร แค่ไหน เพียงใด ที่ถือว่าจำเลยลงมือกระทำความผิดเพราะการพยายามกระทำความผิดแตกต่างไปจากการกระทำที่อยู่ในขั้นตระเตรียมการกระทำความผิด ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 เห็นว่า ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยยกขึ้นอ้างได้ แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลล่างทั้งสอง ทั้งนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2539 เวลาประมาณ 18 นาฬิกาจำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือก. จำเลยมียางกัญชา จำนวน 15 แท่ง น้ำหนัก 4,974 กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ข. จำเลยนำยางกัญชาตามข้อ ก.จากประเทศเนปาลเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยทางเครื่องบินโดยสารของบริษัทการบินไทย จำกัด และ ค. หลังจากนั้น จำเลยส่งยางกัญชา ซึ่งจำเลยมีไว้ในครอบครองตามข้อ ก. และนำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยตามข้อ ข. ออกนอกราชอาณาจักรไทย โดยทางเครื่องบินโดยสารของบริษัทการบินไทย จำกัด ไปยังเขตบริหารพิเศษฮ่องกง จำเลยลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอด เพราะเจ้าพนักงานตรวจพบการกระทำของจำเลยดังกล่าวก่อนที่จำเลยจะขึ้นเครื่องบินโดยสาร จำเลยจึงไม่สามารถส่งยางกัญชาดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักรไทยได้ เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยกระเป๋า 1 ใบ รองเท้า 1 คู่ ซึ่งจำเลยใช้ซุกซ่อนยางกัญชาดังกล่าวเป็นของกลาง เหตุตามข้อ ก. ข. และ ค. เกิดที่แขวงตลาดบางเขนเขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ดังนี้ ฟ้องโจทก์ข้อ ค. จึงได้กล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดในข้อหาพยายามส่งยางกัญชาของกลางออกนอกราชอาณาจักรโดยกล่าวถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำผิดในข้อหาดังกล่าว อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน