แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์ที่ 1 เจ้าของรวมในที่ดินแปลงที่ถูกเวนคืนจะไม่ได้ยื่นอุทธรณ์เงินค่าทดแทน ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทน ซึ่งทำให้โจทก์ที่ 1 สิ้นสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาอุทธรณ์เงินค่าทดแทนของโจทก์ที่ 1 จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาฯจำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่ก็ไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติให้การเสียสิทธิดังกล่าวของโจทก์ที่ 1มีผลให้โจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 ซึ่งเป็นเจ้ากรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมกับโจทก์ที่ 1 ต้องเสียสิทธิในการอุทธรณ์เงินค่าทดแทนต่อจำเลยที่ 3 ไปด้วย
ป.พ.พ.มาตรา 1359 เป็นบทบัญญัติให้เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆอาจใช้สิทธิอันเกิดแก่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์ทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ ไม่ใช่บทบัญญัติให้เจ้าของรวมคนอื่น ๆ เสียสิทธิไปเพราะเหตุที่เจ้าของรวมคนหนึ่งไม่ใช้สิทธินั้น ดังนั้นการที่โจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับโจทก์ที่1 ได้ยื่นอุทธรณ์เงินค่าทดแทนต่อจำเลยที่ 3 ถือว่าเป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1359 ย่อมเป็นผลถึงโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมด้วย และเมื่อจำเลยที่ 3 มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 60 วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ทั้งโจทก์ที่ 1 ที่ 2ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 ได้ฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว จึงเป็นการฟ้องคดีถูกต้องตามขั้นตอนและภายในกำหนดเวลาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 25 และมาตรา 26 วรรคหนึ่งโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 จึงมีอำนาจฟ้องขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่ม
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 16วรรคสุดท้าย บัญญัติให้นับแต่วันที่ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 15ใช้บังคับ ถ้าผู้มีสิทธิในทรัพย์สินนั้นโอนสิทธิให้แก่บุคคลภายนอก ผู้รับโอนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องได้ก็แต่เฉพาะเงินค่าทดแทนเท่านั้น ดังนั้น แม้การเวนคืนจะดำเนินการไปถึงขั้นตอนตาม พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ซึ่งในกรณีนี้คือที่ดินตามฟ้องแล้ว ก็ยังสามารถโอนสิทธิกันได้ โดยกฎหมายมิได้บัญญัติห้าม เพียงแต่ผู้รับโอนไปมีสิทธิเรียกร้องได้เฉพาะแต่เงินค่าทดแทนเท่านั้นและไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าหากผู้รับโอนรู้มาก่อนว่าที่ดินดังกล่าวจะต้องถูกเวนคืนหรืออยู่ในบริเวณที่จะต้องเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.แล้วจะเรียกเงินค่าทดแทนไม่ได้ ทั้งการกำหนดเงินค่าทดแทน กฎหมายก็บัญญัติให้มีคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530เป็นผู้พิจารณากำหนดตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ฉบับเดียวกัน หากผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไม่พอใจก็มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหากยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้อีก ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งแปดฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนจึงเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายให้สิทธิไว้ แม้โจทก์ทั้งแปดจะเรียกเงินค่าทดแทนสูงกว่าราคาที่ดินที่โจทก์ซื้อมา ก็เป็นเรื่องการใช้สิทธิทางศาล ซึ่งศาลจะต้องพิจารณากำหนดให้ตามหลักเกณฑ์ที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 กำหนดไว้ กรณีไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ทั้งแปดใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
แม้คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งแปดเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนโดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินมาเป็นเกณฑ์ โดยคำนึงถึงสภาพและทำเลที่ตั้งของที่ดินประกอบด้วย จะไม่ครบถ้วนหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดก็ตามแต่โจทก์ทั้งแปดเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าโจทก์ทั้งแปดควรจะได้รับเงินค่าทดแทนตามจำนวนที่โจทก์ทั้งแปดฟ้อง จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ทั้งแปดจะต้องหาพยานมาสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ทั้งแปดดังกล่าวให้มีน้ำหนักรับฟังได้ แต่โจทก์ทั้งแปดก็ไม่ได้นำสืบว่า ในวันที่พ.ร.ฎ.ฯ มีผลใช้บังคับที่ดินของโจทก์ทั้งแปดตามฟ้องมีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตารางวาละเท่าใด และเมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งแปดรับฟังไม่ได้ว่าที่ดินตามฟ้องของโจทก์ทั้งแปดมีราคาสูงดังที่โจทก์ทั้งแปดฎีกา ศาลฎีกาย่อมพิเคราะห์ถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 (1) ถึง (5) แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 แล้วกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งแปดผู้ถูกเวนคืนและสังคม
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26วรรคท้าย บัญญัติในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น เห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดให้ได้รับดอกเบี้ยปรับขึ้นลงตามอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน เมื่อการที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์อัตราร้อยละ 10.5 ต่อปีคงที่ตลอดไป เป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเป็นดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปีได้แม้โจทก์จำเลยไม่ได้อุทธรณ์