คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6164/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมได้รับสิทธิและการคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะไปอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยา ไม่ว่าจะได้อุปการะหรือยกย่องอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ และจำเลยที่ 2 เมื่อรู้แล้วว่าโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 แล้ว หากรับการอุปการะเลี้ยงดูหรือรับการยกย่องฉันภริยาจำเลยที่ 1 ก็ย่อมถือเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะนำคดีมาสู่ศาลเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ได้ โดยถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กชายเทพฤทธิ์ ต่อมาจำเลยที่ 1 กับที่ 2 มีความสัมพันธ์กันฉันชู้สาวและแสดงต่อบุคคลทั่วไปโดยเปิดเผยว่าเป็นสามีภริยากัน การที่จำเลยที่ 1 ให้การอุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ว่าเป็นภริยา เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันกับโจทก์อย่างร้ายแรง จำเลยที่ 1 เคยขอหย่ากับโจทก์เพื่อไปทำการสมรสใหม่กับจำเลยที่ 2 แต่โจทก์ไม่ยอม จำเลยที่ 1 ไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตร ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันให้โจทก์เป็นผู้มีอำนาจปกครองเด็กชายเทพฤทธิ์ บุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และเด็กชายเทพฤทธิ์ในอัตราเดือนละ 3,000 บาท จนกว่าบุตรผู้เยาว์จะอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยาชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และมีบุตรด้วยกัน 1 คนจริง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกัน ไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยกันและไม่ได้แสดงโดยเปิดเผยต่อสาธารณชนตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่เคยอุปการะเลี้ยงดูยกย่องจำเลยที่ 2 เป็นภริยา จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรตลอดมาโดยจำเลยที่ 1 กับโจทก์ได้ร่วมกันซื้อที่ดินแล้วใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของเพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 มีหนี้สินมาก จึงส่งเงินให้โจทก์เพื่อเลี้ยงดูบุตรเพียงเดือนละ 1,000 บาท จำเลยที่ 1 ยังประสงค์ที่จะอยู่กินกับโจทก์และขอร่วมใช้อำนาจปกครองบุตรต่อไป ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 หรือแสดงโดยเปิดเผยต่อสาธารณชนว่าเป็นสามีภริยากัน จำเลยที่ 2 รับราชการมีฐานะและรายได้มั่นคงสามารถเลี้ยงดูตนเองได้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 1,500 บาท นับแต่เดือนมีนาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าบุตรจะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ และให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวนเงิน 20,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความจำนวน 2,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีรับฟังข้อเท็จจริงยุติในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์หย่ากับจำเลยที่ 1 ด้วยเหตุว่าจำเลยที่ 1 เลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยา จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ ในชั้นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ทั้งๆ ที่โจกท์รู้มาก่อนการจดทะเบียนสมรสแล้วว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากันมาก่อนและยังไม่เลิกติดต่อกัน จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ฎีกาโต้แย้งข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย คดีคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการแรกตามที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ทั้งที่รู้อยู่ก่อนจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 แล้วว่า จำเลยที่ 1 กับที่ 2 มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากัน เป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือไม่เห็นว่า เมื่อโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมได้รับสิทธิและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะไปอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่น คือ จำเลยที่ 2 ฉันภริยา ไม่ว่าจะได้อุปการะหรือยกย่องอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ และจำเลยที่ 2 เมื่อรู้แล้วว่าโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 แล้ว หากรับการอุปการะเลี้ยงดูหรือรับการยกย่องฉันภริยาก็ย่อมถือเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะนำคดีมาสู่ศาลเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ได้โดยถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าทดแทนเป็นเงิน 100,000 บาท นั้น เห็นว่า เมื่อคดีนี้ขณะจำเลยที่ 2 เริ่มมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์และจำเลยที่ 1 ยังมิได้เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จนกระทั่งต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ในเดือนตุลาคม 2543 จึงทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 และเมื่อได้ความด้วยว่า ประมาณปลายปี 2545 จำเลยที่ 2 ได้ย้ายกลับไปรับราชการที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองจึงน่าจะห่างกันไปแล้ว ประกอบกับพฤติการณ์ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้ว่า หลังเกิดเหตุโจทก์ยังคงได้รับการให้เกียรติจากญาติตลอดจนเพื่อนร่วมงานของจำเลยที่ 1 ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ 20,000 บาท นั้น จึงเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาเห็นสมควรให้ตกเป็นพับ

Share