คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 715/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ได้ภารจำยอมเป็นทางเดินมาโดยอายุความ ไม่ได้จดทะเบียนก็บริบูรณ์และใช้ยันผู้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์สามยทรัพย์อันมิใช่เถียงกันในการได้ทรัพยสิทธิอย่างเดียวกันได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามจำเลยปิดกั้นการใช้ทางพิพาท ให้จำเลยที่ 2, 3 จดทะเบียนเป็นทางภารจำยอม ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะยกฟ้องจำเลยที่ 1จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “เมื่อโจทก์ใช้ทางพิพาทโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาจะให้ได้ภารจำยอม ซึ่งก่อนจะทำทางพิพาทโจทก์เคยขอให้จำเลยที่ 1ทำหนังสือรับรองว่า จะจดทะเบียนให้มีทางภารจำยอมในเมื่อจำเลยที่ 1 แบ่งแยกโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 ด้านทิศใต้เสร็จ อันเป็นแนวทางเดียวกับเส้นทางพิพาท ดังนั้นทางพิพาทจึงตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382

จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกาว่า ได้ที่ดินตรงทางพิพาทมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนโอนทะเบียนแล้ว โจทก์ไม่อาจจะอ้างสิทธิในภารจำยอมที่มิได้จดทะเบียนมาใช้ยันจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้นั้น เห็นว่า โจทก์ได้ภารจำยอมมาโดยอายุความ หาใช่ได้มาโดยนิติกรรมอันจะต้องจดทะเบียนการได้มาให้บริบูรณ์เสียก่อนไม่ และเป็นกรณีโต้เถียงกันระหว่างโจทก์ผู้ได้สิทธิภารจำยอมโดยอายุความกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ผู้มีกรรมสิทธิ์ในภารยทรัพย์ มิใช่การโต้เถียงกันในเรื่องการได้สิทธิในทรัพย์สิทธิอย่างเดียวกัน จำเลยที่ 2 ที่ 3 หาอาจยกการที่รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง ขึ้นต่อสู้คดีกับโจทก์ได้ไม่ เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 805/2518 ระหว่างนางจำรูญ พันธ์มรรดา โจทก์ นางทองชุบยมวรรณ จำเลย”

พิพากษายืน

Share