คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2466/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อฝ่ายจำเลยกับโจทก์ทำสัญญากันให้โจทก์จัดสถานที่ อบรมสัมมนาที่พักพร้อมอาหารเครื่องดื่มให้แก่ฝ่ายจำเลยซึ่งวัตถุประสงค์แห่งสัญญาดังกล่าวไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาตามฟ้องจึงไม่เป็นโมฆะ ส่วนโจทก์แม้จะยังไม่ได้ รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการโรงแรมก็เป็นการไม่ปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันไม่มีผลกระทบสัญญา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้มาติดต่อใช้โรงแรม ของโจทก์จัดอบรมสัมมนา และตกลงชำระค่าจัดอบรมสัมมนา เป็นเช็คโดยมีข้อตกลงกันว่า หากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยทั้งห้าจะร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ซึ่งต่อมาธนาคารได้ ปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ก็ออกเช็คชำระหนี้ บางส่วนให้แก่โจทก์ทั้งจำเลยที่ 5 ชำระหนี้บางส่วนเป็นเงิน 50,000 บาท ให้แก่โจทก์ด้วย ย่อมเป็นการบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 มีส่วนร่วมในการจัดอบรมสัมมนา นอกจากนี้ยังปรากฏว่า การดำเนินกิจการและการจ่ายเงินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 เป็นผู้สั่งและตัดสินใจคนเดียว ดังนั้นแม้จำเลยที่ 4 จะเป็น ข้าราชการแต่ก็ได้ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการ ของจำเลยที่ 1แทน แสดงว่าจำเลยที่ 4 ร่วมดำเนินกิจการกับ จำเลยที่ 1 ด้วย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 และ ที่ 5 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ดำเนินกิจการ อบรมสัมมนาและทำสัญญาตามฟ้องกับโจทก์ จำเลยที่ 4 และ ที่ 5 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รับผิดชำระหนี้ ให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นได้มาติดต่อเพื่อใช้โรงแรมไพน์เฮิร์สท ลอจ์ด ของโจทก์เป็นสถานที่จัดอบรมสัมมนา เป็นที่พักของผู้เข้าอบรม พร้อมทั้งรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม ในการติดต่อกับโจทก์นั้นจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ได้ตกลงกับจำเลยที่ 1 ร่วมชำระหนี้ให้โจทก์และจำเลยที่ 4 ได้ร่วมทำกิจการดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ด้วยความประสงค์จะแบ่งกำไรกัน มีการจัดอบรมสัมมนา5 ครั้งจำเลยทั้งห้ายังค้างชำระค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าเครื่องดื่มอยู่ ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 240,894.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 ไม่เคยติดต่อหรือมีนิติสัมพันธ์หรือข้อตกลงใด ๆ กับโจทก์ จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นเพียงผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 และเป็นวิทยากรผู้อบรมสัมมนาตามที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน240,894.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 206,797.65 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 ตุลาคม 2537) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการ กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้ถือหุ้นได้ใช้บริการสถานที่ อาหาร และเครื่องดื่มที่โรงแรมไพน์เฮิร์สท ลอร์ด ของโจทก์เพื่อจัดอบรมสัมมนารวม 5 ครั้ง สองครั้งแรกได้ชำระเงินค่าบริการให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ส่วนสามครั้งหลังค่าบริการรวมเป็นเงิน 256,797.65 บาท จำเลยที่ 5 ได้ชำระให้โจทก์แล้วเป็นเงิน50,000 บาท คงค้างชำระ 206,797.65 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ข้อแรกว่า คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ข้อต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 4 และที่ 5 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการโรงแรมในขณะทำสัญญาตามฟ้องสัญญาตามฟ้องจึงเป็นโมฆะ และมูลหนี้ตามฟ้องเป็นสิทธิเฉพาะตัวของเจ้าสำนักโรงแรมเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าฝ่ายจำเลยกับโจทก์ทำสัญญากันให้โจทก์จัดสถานที่อบรมสัมมนาที่พักพร้อมอาหารเครื่องดื่มให้แก่ฝ่ายจำเลย ซึ่งวัตถุประสงค์แห่งสัญญาดังกล่าวไม่ต้องห้ามตามกฎหมายไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนสัญญาตามฟ้องจึงไม่เป็นโมฆะ ส่วนโจทก์แม้จะยังไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการโรงแรมก็เป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงแรมซึ่งเป็นคนละเรื่องกันไม่มีผลกระทบสัญญาตามฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ต่อไปว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์หรือไม่ โจทก์มีนายวิทวัส ไกรว่อง ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความเป็นพยานยืนยันว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้มาติดต่อใช้โรงแรมของโจทก์จัดอบรมสัมมนาและตกลงชำระค่าจัดอบรมสัมมนาเป็นเช็ค หากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยทั้งห้าจะร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ประกอบกับพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 3 ออกเช็คเพื่อจะชำระหนี้บางส่วนให้แก่โจทก์ ตามเช็คเอกสารหมาย จ.13 และจ.19 ทั้งจำเลยที่ 5 ชำระหนี้บางส่วนเป็นเงิน 50,000 บาท ให้แก่โจทก์ ตามสำเนาใบรับฝากเงินเข้าบัญชีเอกสารหมาย จ.23 อันเป็นการบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 มีส่วนร่วมในการจัดอบรมสัมมนา นอกจากนี้โจทก์ยังมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความเป็นพยานสนับสนุนอีกว่าการดำเนินกิจการทุกอย่างของจำเลยที่ 1 และการจ่ายเงิน จำเลยที่ 4 เป็นผู้สั่งและตัดสินใจคนเดียวจำเลยที่ 4 เป็นข้าราชการได้ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 แทน แสดงว่าจำเลยที่ 4 ร่วมดำเนินกิจการกับจำเลยที่ 1 ด้วย ซึ่งพยานทั้งสองปากนี้น่าจะรับฟังเป็นความจริงได้ เพราะมิได้เบิกความเพื่อให้ตนเองพ้นความรับผิดและไม่ปรากฏว่าได้รับประโยชน์ใด ๆ จากโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 4 และที่ 5 เพียงแต่กล่าวอ้างลอย ๆ ว่า เหตุที่ถูกฟ้องเพราะเป็นข้าราชการและถูกข่มขู่ว่าจะร้องเรียนให้เสียหายต่อตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ร้องเรียนให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เสียหายแต่อย่างใด พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อมากกว่าพยานหลักฐานจำเลยที่ 4 และที่ 5 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ดำเนินกิจการอบรมสัมมนาและทำสัญญาตามฟ้องกับโจทก์จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ส่วนฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ไม่ว่าเรื่องศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นหรือวินิจฉัยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริต เห็นว่า ไม่เป็นเหตุให้ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างวินิจฉัยใหม่และไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาทุกข้อของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share