คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5132/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องระบุหนี้เงินต้นและหนี้ดอกเบี้ยตามสัญญากู้ 2 ฉบับรวมกันมา และเอกสารท้ายฟ้องก็ไม่ได้แยกหนี้ตามสัญญากู้แต่ละฉบับออกจากกัน จำเลยที่ 5 ผู้ค้ำประกันสัญญากู้ฉบับเดียวย่อมไม่ทราบว่าหนี้ที่ตนต้องรับผิดมีเพียงใด ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 จึงเคลือบคลุม
การที่โจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินบัญชีเงินฝากกระแสรายวันโดยใช้เช็คเมื่อใด เป็นเงินเท่าใด มีการชำระเงินเข้าบัญชีเมื่อใด คิดดอกเบี้ยในอัตราใด ทั้งมิได้แนบบัญชีกระแสรายวันมาท้ายฟ้องด้วยนั้น เป็นเพียงรายละเอียดซึ่งโจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ไม่เป็นข้อที่ทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
หนี้เงินต้นกับหนี้ดอกเบี้ยตามสัญญาฉบับเดียวกันถือเป็นหนี้รายเดียวกัน หากมีการฟ้องร้องก็ต้องฟ้องรวมกันมา ไม่อาจแยกเป็นหนี้เงินต้นคดีหนึ่งและหนี้ดอกเบี้ยอีกคดีหนึ่ง เมื่อลูกหนี้ยังชำระหนี้อยู่แม้จะระบุว่าเป็นการชำระหนี้เงินต้นก็ตาม หากเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้และไม่ถือว่าลูกหนี้ผิดนัด ไม่ได้บอกกล่าวเลิกสัญญาให้จำเลยชำระหนี้ โจทก์ยังไม่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวได้ อายุความในหนี้ดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นหนี้เงินต้นหรือหนี้ดอกเบี้ยจึงยังไม่เริ่มนับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6 ร่วมกัน ชำระเงินแก่โจทก์ 72,705,949.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ของเงินต้น 36,637,834.69 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 56,310,000 บาท ในยอดหนี้ 72,705,949.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ของต้นเงิน 36,252,424.58 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดชำระเงิน 3,000,000 บาท ในยอดหนี้ 72,705,949.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งหกไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งหกให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6 ชำระหนี้ให้โจทก์ 72,540,339.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี จากต้นเงิน 72,285,480.15 บาท และ 254,859.17 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 ธันวาคม 2536) และวันที่ 27 มีนาคม 2534 เป็นต้นไปตามลำดับจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันรับผิดในวงเงิน 56,310,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราเดียวกันจากต้นเงิน 36,252,424.58 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดในวงเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันจากต้นเงิน 1,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 50,000 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งหกฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นข้อแรกตามฎีกาของจำเลยทั้งหกคือ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยทั้งหกอ้างเหตุมา 2 ประการ ประการแรกอ้างว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากไม่ได้บรรยายว่า จำเลยที่ 1 ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินฉบับ 3,000,000 บาท เท่าใด อย่างไร หรือเงินต้น ดอกเบี้ยเท่าใด ทำให้จำเลยไม่สามารถทราบยอดหนี้ได้นั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า หลังจากทำสัญญากู้เงินแล้วจำเลยที่ 1 มิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทุก ๆ เดือนตามข้อตกลงในสัญญากู้แต่ละฉบับ ทำให้นับถึงวันฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยค้างชำระตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2526 (สัญญากู้เงินฉบับ 25,000,000 บาท) และฉบับลงวันที่ 30 สิงหาคม 2526 (สัญญากู้เงินฉบับ 3,000,000 บาท) เป็นเงินต้น 1,000 บาท ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2534 จนถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2536 เป็นเงิน 12,687,881.92 บาท รวมเป็นเงิน 12,688,881.92 บาท เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องระบุหนี้เงินต้นและหนี้ดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงิน 2 ฉบับรวมกันมา ทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าหนี้เงินต้นและหนี้ดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินแต่ละฉบับเป็นจำนวนเท่าใด แม้จะมีเอกสารท้ายฟ้องประกอบ ในเอกสารท้ายฟ้องก็ไม่ได้แยกหนี้ตามสัญญากู้เงินแต่ละฉบับออกจากกันเช่นกัน จำเลยที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 30 สิงหาคม 2526 เท่านั้น เมื่อคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุว่าหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 30 สิงหาคม 2526 มีจำนวนเท่าใด ย่อมไม่สามารถทราบได้ว่าหนี้เงินต้นและหนี้ดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 5 จะต้องรับผิดมีเพียงใด ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 จึงเคลือบคลุม
สำหรับข้ออ้างประการที่ 2 จำเลยทั้งหกอ้างว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากไม่ได้บรรยายว่า ในการเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันซึ่งจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้กับโจทก์นั้น จำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คเมื่อใด เป็นเงินเท่าใด มีการชำระเงินเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเมื่อใด ครบกำหนดแล้วมีการหักทอนบัญชีหรือไม่ คงเหลือเงินที่ต้องชำระเท่าใด และมีการคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใด อย่างไร ทั้งมิได้แนบบัญชีกระแสรายวันมาท้ายฟ้องด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2526 จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันอันเป็นบัญชีเดินสะพัดไว้กับโจทก์ ในการเบิกถอนเงินจากบัญชีดังกล่าว จำเลยที่ 1 ตกลงใช้เช็คหรือรูปแบบเอกสารอื่น ต่อมาวันที่ 27 มิถุนายน 2527 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์เพื่อเบิกเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์มาตลอด ยอดหนี้ตามบัญชีสิ้นสุดคือวันที่ 26 พฤษภาคม 2536 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 382,054.60 บาท นั้น ได้แสดงโดยแจ้งชัดว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินเกินบัญชีมาตลอด ยอดหนี้ถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2536 อันเป็นวันสิ้นสุดบัญชี จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เพียงใด สำหรับรายการตามที่จำเลยที่ 6 อ้างนั้น เป็นรายละเอียดซึ่งโจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์ในข้อนี้ไม่เคลือบคลุม
ปัญหาข้อต่อไปจำเลยทั้งหกฎีกาว่า ดอกเบี้ยก่อนวันฟ้องที่เกิน 5 ปี ขาดอายุความหรือไม่ ที่จำเลยทั้งหกอ้างว่า หนี้ดอกเบี้ยกับหนี้เงินต้นต้องแยกออกจากกัน จะนำเอาการผ่อนชำระเงินต้นไปมีผลถึงการชำระดอกเบี้ยด้วยไม่ชอบนั้น เห็นว่า หนี้เงินต้นกับหนี้ดอกเบี้ยเป็นหนี้ตามสัญญาฉบับเดียวกันเป็นหนี้รายเดียวกัน หากมีการฟ้องร้องก็ต้องฟ้องร้องรวมกันมาทั้งหนี้เงินต้นและหนี้ดอกเบี้ย ไม่อาจแยกเป็นหนี้เงินต้นคดีหนึ่งและหนี้ดอกเบี้ยอีกคดีหนึ่ง เมื่อลูกหนี้ยังชำระหนี้อยู่ แม้จะระบุว่าชำระหนี้เงินต้นก็ตาม หากเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้ และไม่ถือว่าลูกหนี้ผิดนัด ไม่ได้บอกกล่าวเลิกสัญญาให้จำเลยชำระหนี้ โจทก์ยังไม่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวได้ อายุความในหนี้ดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นหนี้เงินต้นหรือหนี้ดอกเบี้ยจึงยังไม่เริ่มนับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 การที่จำเลยชำระเงินต้นย่อมมีผลให้สิทธิเรียกร้องในหนี้ดอกเบี้ยยังไม่เริ่มนับด้วย ดอกเบี้ยทั้งหมดตามฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6 ชำระเงินให้โจทก์ 72,285,480.15 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี จากต้นเงิน 36,252,424.58 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและชำระเงิน 254,859.17 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 นับแต่วันที่ 27 มีนาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 5 ในชั้นศาลชั้นต้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share