แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการขนส่งมีหน้าที่ตามสัญญารับขนของทางทะเลที่จะต้องดำเนินการให้มีการส่งมอบสินค้าที่ท่าปลายทางแก่ผู้รับตราส่ง การที่โจทก์มีคำสั่งให้ระงับการส่งมอบใบตราส่งแก่ผู้รับตราส่งมีผลให้สินค้ายังคงอยู่ในความครอบครอบของโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 15 ที่จะยึดหน่วงสินค้าไว้จนกว่าจะได้รับชำระค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวางหรือจนกว่าผู้รับตราส่งจะได้จัดให้มีประกันตามสมควร โดยการใช้สิทธิยึดหน่วงนี้จะกระทำได้สำหรับหนี้ที่เป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยสินค้าที่โจทก์ครอบครองอยู่ อันได้แก่หนี้ค่าระวางและค่าบริการการขนส่งสินค้าครั้งที่ 19 เท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 วรรคหนึ่ง และแม้โจทก์จะไม่มีสิทธิยึดหน่วงสินค้าดังกล่าวไว้เพื่อเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าระวางและค่าบริการการขนส่งครั้งก่อน ๆ แต่พฤติการณ์ที่จำเลยค้างชำระค่าระวาง ค่าขนส่ง ค่าบริการ และค่าดำเนินการการขนส่งสินค้าก่อนหน้านั้นอีก 18 ครั้ง เพราะจำเลยประสบปัญหาทางธุรกิจนั้น นับได้ว่าจำเลยเป็นคนสินล้นพ้นตัวไม่สามารถใช้หนี้แก่โจทก์ได้ตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 243 แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าวที่จะยึดหน่วงสินค้าที่ขนส่งไว้ได้ แม้ในขณะนั้นหนี้ค่าระวางและค่าบริการการขนส่งครั้งที่ 19 จะยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ตาม การที่โจทก์ใช้สิทธิยึดหน่วงสินค้าด้วยการไม่ส่งมอบใบตราส่งให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่ท่าปลายทาง จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าโจทก์ผิดสัญญารับขนของทางทะเล
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,679,802.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 1,132,167.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,583,491.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 23,307.54 บาท นับแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2547 ต้นเงิน 3,935.20 บาท นับแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2547 ต้นเงิน 4,856.50 บาท นับแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2547 ต้นเงิน 342,559.54 บาท นับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2547 ต้นเงิน 217,576.03 บาท นับแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2547 ต้นเงิน 7,798.14 บาท นับแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2547 ต้นเงิน 12,813.85 บาท นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2547 ต้นเงิน 184,888.74 บาท นับแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2547 ต้นเงิน 176,002.93 บาท นับแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2547 ต้นเงิน 156,131.22 บาท นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2547 ต้นเงิน 157,296.05 บาท นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2547 ต้นเงิน 155,400.10 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2547 ต้นเงิน 13,907.67 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2547 ต้นเงิน 26,782.50 บาท นับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2547 ต้นเงิน 38,744.54 บาท นับแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2547 ต้นเงิน 15,244 บาท นับแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2547 ต้นเงิน 6,936 บาท นับแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2547 ต้นเงิน 6,079.50 บาท นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2547 และต้นเงิน 33,231.12 บาท นับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันที่ 17 มีนาคม 2548 ต้องไม่เกิน 96,310.97 บาท กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท ยกฟ้องแย้งของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2547 ถึงเดือนกรกฎาคม 2547 จำเลยว่าจ้างโจทก์จัดการขนส่งสินค้าไปต่างประเทศ รวมทั้งดำเนินพิธีการศุลกากร รวม 19 ครั้ง โจทก์ดำเนินการตามความประสงค์ของจำเลย แต่จำเลยไม่ชำระค่าระวาง ค่าบริการและค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมเป็นเงิน 1,583,491.17 บาท สำหรับการขนส่งสินค้าครั้งที่ 19 จำเลยว่าจ้างโจทก์ดำเนินการขนส่งสินค้าอุปกรณ์เครื่องจักรซักผ้าทางทะเลจากประเทศไทยไปส่งให้ลูกค้าที่ประเทศกรีซโดยคิดค่าระวางและค่าบริการเป็นเงิน 33,231.12 บาท โจทก์จัดส่งอุปกรณ์ดังกล่าวถึงท่าปลายทางประเทศกรีซเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 แต่บริษัทแวนเดอราคิส อี.พี.อี. ลูกค้าของจำเลยซึ่งเป็นผู้รับตราส่งไม่สามารถรับมอบสินค้าได้ เนื่องจากโจทก์มีคำสั่งให้ระงับการส่งมอบใบตราส่งแก่ลูกค้าของจำเลยดังกล่าว โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระค่าระวางและค่าบริการที่ค้างชำระรวม 19 ครั้งก่อน เป็นเงิน 1,583,491.17 บาท แต่จำเลยผัดผ่อนโดยจะขอชำระเงินค่าระวางและค่าบริการเฉพาะครั้งที่ 19 เป็นเงิน 33,231.12 บาท และขอให้โจทก์ปล่อยสินค้า แต่จำเลยก็มิได้ชำระค่าระวางและค่าบริการครั้งที่ 19 ภายในกำหนด
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า เมื่อสินค้าไปถึงท่าปลายทางแล้ว การที่โจทก์ไม่ยอมมอบใบตราส่งให้แก่ลูกค้าของจำเลยซึ่งเป็นผู้รับตราส่ง ถือเป็นการผิดสัญญารับขนของทางทะเลหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องดำเนินการให้มีการส่งมอบสินค้าที่ท่าปลายทางแก่บริษัทแวนเดอราคิส อี.พี.อี. ซึ่งเป็นผู้รับตราส่ง การที่โจทก์มีคำสั่งให้ระงับการส่งมอบใบตราส่งให้แก่ผู้รับตราส่งดังกล่าวมีผลทำให้สินค้ายังคงอยู่ในความครอบครองของโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 15 ที่จะยึดหน่วงสินค้าไว้จนกว่าจะได้รับชำระค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวางหรือจนกว่าผู้รับตราส่งจะได้จัดให้มีประกันตามสมควร โดยการใช้สิทธิยึดหน่วงนี้จะกระทำได้สำหรับหนี้ที่เป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยสินค้าที่โจทก์ครอบครองอยู่ อันได้แก่หนี้ค่าระวางและค่าบริการการขนส่งสินค้าครั้งที่ 19 เท่านั้น ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ดี แม้โจทก์จะไม่มีสิทธิยึดหน่วงสินค้าดังกล่าวไว้เพื่อเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าระวางและค่าบริการการขนส่งครั้งก่อน ๆ และแม้ว่าหนี้ค่าระวางและค่าบริการการขนส่งครั้งที่ 19 จะถึงกำหนดชำระในวันที่ 6 สิงหาคม 2547 หลังจากที่โจทก์ยึดหน่วงสินค้าไว้แล้วก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยยังคงค้างชำระค่าระวาง ค่าขนส่ง ค่าบริการ และค่าดำเนินการการขนส่งสินค้าก่อนหน้านั้นอีก 18 ครั้ง เป็นเงินรวมกันถึง 1,550,260.05 บาท ทั้งจำเลยก็ยอมรับในอุทธรณ์ว่า ปี 2547 จำเลยประสบปัญหาทางธุรกิจ จึงค้างชำระหนี้แก่โจทก์หลายครั้ง พฤติการณ์ดังกล่าวนับได้ว่าจำเลยเป็นคนสินล้นพ้นตัวไม่สามารถใช้หนี้แก่โจทก์ได้ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 243 แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าวที่จะยึดหน่วงสินค้าที่ขนส่งไว้ได้ แม้ในขณะนั้นหนี้ค่าระวางและค่าบริการการขนส่งครั้งที่ 19 จะยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ตาม การที่โจทก์ใช้สิทธิยึดหน่วงสินค้าด้วยการไม่ส่งมอบใบตราส่งให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่ท่าปลายทาง จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าโจทก์ผิดสัญญารับขนของทางทะเล จำเลยจึงไม่อาจเรียกร้องให้โจทก์ชำระค่าเสียหายตามฟ้องแย้งได้ คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า จำเลยได้รับความเสียหายตามฟ้องแย้งหรือไม่อีกต่อไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ