คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10854/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปในห้องของโรงแรมที่เกิดภัยพิบัติ เพื่อลักทรัพย์สินของโรงแรมและนักท่องเที่ยวที่เก็บรักษาไว้ในห้องพัก จำเลยทั้งสองลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอด เพราะมีผู้พบเห็นและเข้าขัดขวางถือได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายครบถ้วนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองพยายามลักเท่านั้นเพราะลักษณะของความผิดย่อมยังไม่อาจทราบได้ว่าเป็นทรัพย์อะไรมีมูลค่าเท่าใด แต่เมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันพยายามลักทรัพย์ของผู้อื่น ฟ้องโจทก์จึงระบุข้อเท็จจริงรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลและสิ่งของพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดีและต่อสู้คดีได้ หาจำต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองพยายามลักดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยไม่ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 80, 83
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (2) (7) (8) วรรคสอง ประกอบมาตรา 80, 83 จำคุกคนละ 2 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) บัญญัติว่า ฟ้องต้องระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี แต่ในคดีความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ดังเช่นคดีนี้ตามลักษณะของความผิดย่อมไม่อาจทราบได้ว่าทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองจะลักเป็นทรัพย์อะไรและมีมูลค่าเพียงใด เพราะจำเลยทั้งสองเพียงแต่ลงมือกระทำความผิดเท่านั้น แต่ยังไม่ได้เอาทรัพย์ไป ดังนี้ โจทก์เพียงแต่บรรยายฟ้องเกี่ยวกับทรัพย์ไว้พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดีก็เป็นการเพียงพอแล้ว คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปในห้องพักอาศัยอันเป็นเคหสถานของโรงแรมที่เป็นที่เกิดภัยพิบัติดังกล่าว เพื่อลักทรัพย์สินของโรงแรมและนักท่องเที่ยวที่เก็บรักษาไว้ในห้องพักดังกล่าว จำเลยทั้งสองลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอด เพราะมีผู้พบเห็นและเข้าขัดขวาง จึงไม่อาจลักทรัพย์สินของผู้อื่นไปได้สำเร็จฟ้องโจทก์ได้บรรยายครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองพยายามลักเท่านั้น แต่เมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันพยายามลักทรัพย์ของผู้อื่น ฟ้องโจทก์จึงระบุข้อเท็จจริงรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลและสิ่งของพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดีและต่อสู้คดีได้ หาจำต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองพยายามลักดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยไม่ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น เนื่องจากคดีนี้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำผิดขอให้ยกฟ้องหรือลงโทษสถานเบาด้วยการรอการลงโทษ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) โดยยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ และสมควรลงโทษจำเลยทั้งสองสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกหรือไม่ เพื่อให้การวินิจฉัยคดีและการกำหนดโทษของจำเลยทั้งสองเป็นไปตามลำดับศาล เพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ ภาค 8 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share