คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 988/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาซื้อรถยนต์จากโจทก์โดยมีเงื่อนไข เมื่อจำเลยผิดนัดชำระเงินโจทก์ได้ใช้สิทธิตามสัญญาเข้ายึดรถคืนมาโดยมิได้มีกบอกเลิกสัญญาก่อน หลังจากนั้นโจทก์ขายรถดังกล่าวไป ซึ่งจำเลยมิได้โต้แย้ง ถือว่าคู่สัญญาได้ตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายแล้ว ทำให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคแรกโจทก์มีหน้าที่ต้องคืนราคารถยนต์ที่รับไปแล้วแก่จำเลย และจำเลยต้องชดใช้เงินค่าใช้ทรัพย์นั้นแก่โจทก์ด้วยโดยถือเป็นค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถตามฟ้อง แต่ถือได้ว่าราคารถยนต์ที่โจทก์ได้รับไปแล้วเป็นค่าใช้ทรัพย์ส่วนหนึ่งแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการได้ทำสัญญาซื้อรถยนต์โดยมีเงื่อนไข เป็นรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุไปจากโจทก์รวม 4 คัน ชำระราคารถยนต์บางส่วนในวันทำสัญญาส่วนที่เหลือผ่อนชำระเดือนละงวดรวม 36 งวด มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาชำระราคารถยนต์ทั้ง 4 คันแก่โจทก์ไม่ครบ คงค้างชำระจำนวน 1,699,920บาท โจทก์จึงยึดรถยนต์ทั้ง 4 คันคืนไป การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์เสียหายจากการขาดผลประโยชน์ในการใช้รถยนต์ โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายดังกล่าวเพียง 500,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ค้ำประกันจำเลยที่ 1เกี่ยวกับการไม่ชำระราคารถยนต์ตามสัญญาเท่านั้น จำเลยที่ 3ไม่ได้ค้ำประกันแก่กรณีที่โจทก์ขาดผลประโยชน์ในการใช้รถยนต์ที่ซื้อขาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 เกี่ยวกับค่าขาดผลประโยชน์ รถยนต์ที่โจทก์ยึดคืนไปอยู่ในสภาพดี หากจะมีชำรุดเสียหายก็เป็นไปตามสภาพการใช้งานตามปกติ สภาพรถยนต์เมื่อตีราคาแล้วจึงมีราคาสูงกว่าราคารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระอยู่มาก โจทก์ได้รับผลประโยชน์มากกว่าราคารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน100,000 บาท แก่โจทก์
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 220,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่25 กันยายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการ ทำสัญญาซื้อรถยนต์ โดยมีเงื่อนไขจากโจทก์รวม 4 คัน เป็นรถยนต์บรรทุกยี่ห้ออีซูซุคันที่ 1 และที่ 2 ราคาคันละ 838,400 บาท จำเลยที่ 1 ชำระราคารถยนต์ในวันทำสัญญาคันละ 50,000 บาท คันที่ 3 ราคา 732,640 บาท จำเลยที่ 1ชำระราคารถยนต์ในวันทำสัญญา 130,000 บาท คันที่ 4 ราคา 715,400บาท จำเลยที่ 1 ชำระราคารถยนต์ในวันทำสัญญา 170,000 บาทจำเลยที่ 3 ได้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์สำหรับราคารถยนต์ส่วนที่เหลือทั้งหมดของรถยนต์ทั้ง 4 คันแบ่งชำระเป็น 36 งวด คันที่ 1 และคันที่ 2 งวดละ 21,900 บาทคันที่ 3 งวดละ 16,740 บาท คันที่ 4 งวดละ 15,150 บาท สำหรับรถยนต์คันที่ 1 และที่ 2 นั้นจำเลยที่ 1 ชำระราคารถยนต์แก่โจทก์เพียง 7 งวด คงค้างชำระคันละ 630,000 บาทเศษ คันที่ 3 และที่ 4จำเลยที่ 1 ชำระราคารถยนต์แก่โจทก์เพียง 5 งวด คงค้างชำระเป็นเงิน 217,000 บาทเศษ และ 212,000 บาทเศษ ตามลำดับรวมค้างชำระจำนวน 1,699,920 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสามไม่ชำระการที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระเงินตามสัญญา ทำให้โจทก์มีสิทธิเข้ายึดถือครอบครองรถยนต์ทั้ง 4 คัน ได้ทันที ทั้งไม่ทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นไปจากหน้าที่อันจะต้องชำระราคารถยนต์ที่ค้างชำระแก่โจทก์ โจทก์ได้ยึดรถยนต์ทั้ง 4 คัน คืนไปแล้วปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 มีว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าเสียหายหรือไม่เพียงใด…
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาต่อไปว่า โจทก์นำสืบไม่ได้ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใดนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระเงินตามสัญญาโจทก์จึงใช้สิทธิเข้ายึดรถยนต์ทั้ง 4 คันคืนตามข้อ 6 ของสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.7 โดยที่ยังไม่มีการเลิกสัญญาแต่อย่างใด แต่ข้อเท็จจริงได้ความจากนางวีนัส นพคุณ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่า โจทก์ยึดรถยนต์ทั้ง 4 คันมาแล้ว ได้ขายเหมารวมกันไปขาดทุน 1,000,000 บาทเศษ ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้นำสืบถึงพฤติการณ์ว่าได้มีการโต้แย้งคัดค้านในข้อที่โจทก์ยึดรถยนต์ทั้ง 4คันไปแล้วนำไปขายในภายหลังแต่อย่างใด ถือได้ว่า คู่สัญญาได้ตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายแล้ว กรณีต้องบังคับตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคแรก คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมโจทก์ได้ยึดรถยนต์ทั้ง 4 คัน คืนไปแล้ว แต่โจทก์ยังคงมีหน้าที่ต้องคืนราคารถยนต์ที่รับชำระไปแล้วแก่จำเลยที่ 1 ได้พิจารณาจากคำพยานโจทก์และตามหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.7แล้ว โจทก์ได้รับชำระราคารถยนต์ทั้ง 4 คัน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น866,050 บาท โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องคืนราคารถยนต์จำนวนดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 สำหรับการที่จำเลยที่ 1 ครอบครองรถยนต์ทั้ง 4 คันไว้ใช้ประโยชน์นับแต่วันทำสัญญาซื้อรถยนต์จนถึงวันที่โจทก์ยึดรถยนต์ทั้ง 4 คันคืนไปถือว่า เป็นการที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 ใช้ทรัพย์นั้น ฉะนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391วรรคสาม จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นแก่โจทก์ด้วยโดยถือเป็นค่าขาดผลประโยชน์ในการใช้รถยนต์ตามฟ้องส่วนข้อที่ว่าโจทก์รับความเสียหายเพียงใดนั้น โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1ครอบครองรถยนต์ทั้ง 4 คัน นับแต่วันทำสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4ถึง จ.7 ถึงวันที่โจทก์ยึดรถยนต์ทั้ง 4 คัน คืนไปตามคำฟ้อง คือวันที่ 24 เมษายน 2530 วันที่ 26 กันยายน 2529 วันที่ 20 พฤศจิกายน2527 วันที่ 11 มกราคม 2528 ซึ่งเป็นเวลานาน 4 ปีเศษ 3 ปีเศษ1 ปีเศษ และ 1 ปีเศษ ตามลำดับและรถยนต์ทั้ง 4 คัน หากนำออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าคันละ 1,500 บาท ถึง 2,000 บาท ต่อวัน ศาลฎีกาเห็นว่ารถยนต์ทั้ง 4 คัน ไม่ใช่รถยนต์ขนาดใหญ่ เป็นการไม่แน่ว่าโจทก์จะสามารถให้เช่าได้ทุกวัน อัตราค่าเช่าไม่ควรเกินคันละ 500 บาท ต่อวันเมื่อพิจารณาประกอบกับระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองรถยนต์ทั้ง 4คันอยู่ดังกล่าวมาแล้วกับราคารถยนต์ทั้ง 4 คัน ที่โจทก์ได้รับไปจากจำเลยที่ 1 โดยถือเป็นค่าใช้ทรัพย์ส่วนหนึ่งจำนวน 866,050 บาทแล้วที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันร่วมกับจำเลยที่ 1ที่ 2 ใช้ค่าเสียหายจำนวน 220,000 บาท แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share