แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนี้ตามสัญญายืมที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องและหนี้ตามสัญญาจ้าง ที่โจทก์ฟ้อง ต่างเป็นหนี้คนละรายกัน และมูลความแห่งคดี ของหนี้ทั้งสองรายสามารถแยกออกจากกันได้ ดังนั้นทุนทรัพย์ในคดี จึงต้องแยกตามสัญญายืมและสัญญาจ้างเป็นคนละส่วนกัน จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม พร้อมกับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมต่อศาลชั้นต้นขณะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2535ใช้บังคับการที่จำเลยยื่นคำร้องดังกล่าวหลังจากที่การชี้สองสถานเสร็จไปแล้ว จึงเป็นการยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมภายหลังระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีระบุพยานตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง ได้สิ้นสุดลง แต่เมื่อตามคำฟ้องและสำเนาสัญญาจ้างกับสำเนารายการเบิกเงินงวดงานเอกสารท้ายฟ้องก็ได้ความชัดว่าโจทก์รับจ้างก่อสร้างซึ่งไม่รวมถึงงานติดตั้งระบบประปา และระบบสุขาภิบาลทั้งจำเลยก็ยอมรับในฎีกาว่าโจทก์และจำเลยทำสัญญาติดตั้งระบบประปาและระบบสุขาภิบาลภายหลังที่ทำสัญญาจ้างฉบับที่พิพาทกันแล้ว ดังนั้นจำเลยย่อมทราบดีอยู่แล้วว่ามีสัญญาดังกล่าวมาแต่แรกและจำเลยสามารถยื่นบัญชีระบุพยานดังกล่าวได้ตามที่มาตรา 88 วรรคหนึ่งกำหนดเวลาไว้ ดังนี้ คำร้องดังกล่าวของจำเลยจึงยื่นฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคท้ายศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าวจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารตกลงค่าแรงงานค่าวัสดุเป็นเงิน 21,114,919 บาท กำหนดเสร็จภายในวันที่ 31 มกราคม 2534 โดยตกลงชำระค่าจ้างเป็นงวดรวม 13 งวด กำหนดชำระภายใน 7 วัน หลังจากตรวจรับงานแต่ละงวด และมีข้อตกลงว่าจำเลยมีสิทธิแก้ไขเพิ่มเติมหรือลดงานจากแบบและรายการตามสัญญาได้ ปรากฏตามสำเนาสัญญาก่อสร้างท้ายฟ้อง ต่อมาจำเลยให้โจทก์เพิ่มงานบางอย่างนอกเหนือจากแบบแปลนและลดงานบางส่วนลงจากแบบแปลนงานที่เพิ่มคิดเป็นเงิน 1,037,777 บาท ส่วนงานที่ลดคิดเป็นเงิน5,950,853 บาท ระหว่างก่อสร้างจำเลยซื้อวัสดุก่อสร้างมาเองเป็นเงิน 603,688 บาท และจำเลยยืมวัสดุก่อสร้าง>จากโจทก์ไปใช้นอกเหนือจากการก่อสร้างที่จ้างเป็นเงิน3,889 บาท เมื่อนำราคางานที่เพิ่มกับวัสดุที่จำเลยยืมไปมารวมกับค่าจ้าง หักราคางานที่ลดกับวัสดุที่จำเลยซื้อมาเองแล้วเป็นเงินที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ เป็นเงิน 15,602,044 บาทโจทก์ได้ก่อสร้างอาคารตามสัญญาและตามที่ตกลงกัน แต่จำเลยชำระเงินไม่ครบถ้วนตามงวด เมื่อโจทก์ก่อสร้างอาคารเสร็จตามสัญญาจ้าง เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยออกหนังสือรับรองผลงานให้โจทก์จำเลยต้องชำระค่าจ้างงวดสุดท้ายให้โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ตรวจรับงานเสร็จกับต้องชำระค่าจ้างให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534แต่จำเลยชำระค่าจ้างให้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่15 พฤษภาคม 2534 รวมค่าจ้างที่ชำระมาแล้วทั้งสิ้นเป็นเงิน10,618,705 บาท คงค้างชำระเป็นเงิน 4,983,339 บาทหลังจากนั้นจำเลยไม่ชำระค่าจ้างอีกเลย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 5,497,373 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 4,983,339 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลย จำนวน 10,589,093.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้ผิดสัญญาจ้างจำเลยไม่เคยบอกเลิกสัญญาจ้าง จำเลยจึงไม่ได้รับความเสียหายทั้งยังต้องชำระเงินค่าจ้างให้โจทก์เพิ่มตามจำนวนดังกล่าวอีกงานที่จำเลยจ้างบุคคลอื่นมาทำเสียค่าใช้จ่ายอย่างมากไม่เกินจำนวน 5,000,000 บาท ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน4,983,339 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 514,034 บาท ตามที่โจทก์ขอ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยเสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2533จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ก่อสร้างโรงแรมรอยัล ซี คราวน์ราคาค่าจ้างรวมทั้งค่าวัสดุเป็นเงิน 21,114,919 บาท กำหนดเสร็จภายในวันที่ 31 มกราคม 2534 ตกลงชำระค่าจ้างเป็นงวด รวม13 งวด โดยชำระค่าจ้างภายใน 7 วัน หลังจากตรวจรับงานแต่ละงวด ตามสัญญาจ้างและรายการเบิกเงินงวดงาน เอกสารหมายจ.4 และ จ.5 ขณะก่อสร้างระหว่างการก่อสร้างโจทก์ได้ก่อสร้างงานเพิ่มขึ้นและลดงานก่อสร้างลงบางอย่างจากรายการในสัญญาจ้าง โจทก์ก่อสร้างโรงแรมและรับเงินค่าจ้างไปจากจำเลยแล้วเป็นเงิน 10,618,705 บาท วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2534จำเลยทำหนังสือรับรองว่าโจทก์ก่อสร้างโรงแรมเป็นไปอย่างถูกต้อง
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าทุนทรัพย์ของวัสดุก่อสร้างซึ่งปรากฏในคำฟ้องต้องแยกจากทุนทรัพย์ของค่าจ้างก่อสร้างตามสัญญาจ้างซึ่งโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระค่าจ้างก่อสร้างตามสัญญาจ้าง แต่โจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยได้ยืมวัสดุก่อสร้างจากโจทก์ไปใช้นอกเหนือจากการก่อสร้างที่จ้างเป็นเงิน 3,889 บาท จำเลยให้การต่อสู้ว่าไม่เคยยืมวัสดุก่อสร้างดังกล่าวจากโจทก์ เห็นได้ว่าหนี้ตามสัญญายืมที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องและหนี้ตามสัญญาจ้างที่โจทก์ฟ้องต่างเป็นหนี้คนละรายกัน มูลความแห่งคดีของหนี้ทั้งสองรายสามารถแยกออกจากกันได้ดังนั้นทุนทรัพย์ในคดีจึงต้องแยกตามสัญญายืมและสัญญาจ้างเป็นคนละส่วนกันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้โดยเห็นว่ามูลคดีตามสัญญายืมและสัญญาจ้างสามารถแบ่งแยกได้ เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักบานของศาลชั้นต้นจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงในคดีที่มีทุนทรัพย์พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามอุทธรณ์ จึงมิได้คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงแห่งคดีแต่อย่างใด
จำเลยฎีกาเป็นข้อที่สองว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ขณะจำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่29 สิงหาคม 2538 ขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 พร้อมกับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ต่อศาลชั้นต้น ขณะนั้นการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2535ซึ่งใช้บังคับ จำเลยยื่นคำร้องดังกล่าวหลังจากที่การชี้สองสถานเสร็จไปแล้ว จึงเป็นการยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ภายหลัง ระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีระบุพยานตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง ได้สิ้นสุดลงแม้คำร้องดังกล่าวจำเลยอ้างว่าจ้างโจทก์ติดตั้งระบบประปาและระบบสุขาภิบาลโดยทำสัญญาจ้างเป็นหนังสืออีกฉบับหนึ่งต่างหากจากสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.4 และมีผู้รู้เห็นเป็นพยานในการทำสัญญาด้วยจำเลยไม่ทราบว่ามีสัญญาดังกล่าวมาก่อนเนื่องจากจำเลยเข้าใจว่าทำสัญญาจ้างกับโจทก์ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.4เพียงฉบับเดียว จำเลยเพิ่งพบสัญญาดังกล่าวภายหลังสัญญาดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานสำคัญในการต่อสู้คดีของจำเลยแต่ตามคำฟ้องและสำเนาสัญญาจ้างกับสำเนารายการเบิกเงินงวดงานรวม 13 งวด เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ก็ได้ความชัดว่าโจทก์รับจ้างก่อสร้างซึ่งไม่รวมถึงงานติดตั้งระบบประปาและระบบสุขาภิบาล ทั้งจำเลยก็ยอมรับในฎีกาว่าโจทก์และจำเลยทำสัญญาติดตั้งระบบประปาและระบบสุขาภิบาลเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2533 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังที่ทำสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.4 กันแล้ว ดังนั้นจำเลยย่อมทราบดีอยู่แล้วว่ามีสัญญาดังกล่าวมาแต่แรกและจำเลยสามารถยื่นบัญชีระบุพยานดังกล่าวได้ตามที่มาตรา 88 วรรคหนึ่งกำหนดเวลาไว้ข้ออ้างของจำเลยจึงขัดต่อเหตุผล ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อ คำร้องดังกล่าวของจำเลยจึงยื่นฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคท้ายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 นั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน