แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือมอบอำนาจมีข้อความที่เป็นสาระสำคัญระบุว่า บริษัทโจทก์โดยกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนขอแต่งตั้งและมอบอำนาจให้ ถ. และหรือ ส. เป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจของบริษัทในกิจการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้รวม 9 ข้อ โดยในข้อ 2 ระบุให้มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งในคดีแพ่ง คดีอาญาหรือคดีอื่นใดทุกประเภทต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้ทุกศาลทั่วราชอาณาจักร เป็นการมอบอำนาจให้ ถ. และหรือ ส. มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้หลายประการ ทั้งได้ระบุให้มีอำนาจที่จะฟ้องคดีและดำเนินคดีทุกประเภทต่อศาลทุกศาลไว้โดยชัดแจ้งโดยไม่จำกัดตัวบุคคลที่จะต้องถูกฟ้อง การมอบอำนาจดังกล่าวเป็นการมอบอำนาจทั่วไป ที่รวมถึงให้ยื่นฟ้องต่อศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 801 (5) ด้วย ทั้งการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเช่นนี้ไม่จำต้องระบุบุคคลที่จะต้องถูกฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ใด ถ. และหรือ ส. จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามแทนโจทก์
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดฐานะที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยไม่ได้อ้างว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทน คดีไม่มีประเด็นเรื่องตัวการตัวแทน การที่โจทก์อุทธรณ์ในเรื่องดังกล่าวเป็นอุทธรณ์นอกเหนือประเด็นข้อพิพาท ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้ขนส่งต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเป็นผลจากการที่ของซึ่งได้รับมอบจากผู้ส่งของเสียหาย ถ้าเหตุแห่งการเสียหายนั้นเกิดขึ้นระหว่างที่ของดังกล่าวอยู่ในความดูแลของตน และวรรคสองบัญญัติให้ถือว่าของอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งนับตั้งแต่เวลาที่ผู้ขนส่งได้รับของนั้นไว้จากผู้ส่งของจนถึงเวลาที่ผู้ขนส่งส่งมอบของนั้น ณ ท่าปลายทางหรือที่หมายปลายทางตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 40 ดังนั้น ตราบใดที่สินค้าพิพาทยังมิได้ส่งมอบแก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งหรือส่งมอบให้แก่เจ้าหน้าที่หรือบุคคลใด ๆ ตามกฎหมายหรือกฏข้อบังคับที่ใช้ ณ ท่าเรือกรุงเทพอันเป็นท่าปลายทาง ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งจึงยังไม่สิ้นสุดลง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 581,942.79 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 550,710.71 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 31,232.08 บาท ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 25,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์รับประกันภัยสินค้ากล้องถ่ายรูปพร้อมอุปกรณ์ที่บริษัทโคนิก้า มินอลต้า โฟโต้ อิมเมจจิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ซื้อในประเทศไทยสั่งซื้อจากบริษัทโคนิก้า มินอลต้า โฟโต้ อิมเมจจิ้ง เอเชีย เอช. คิว. พีทีอี จำกัด ผู้ขายที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงภัยระหว่างการขนส่งจากท่าเรือต้นทางประเทศสิงคโปร์จนถึงโรงงานหรือโกดังของผู้เอาประกันภัยในประเทศไทย จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับมอบสินค้าพิพาทจากผู้ขายนำมาบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์และออกใบตราส่งเอกสารไว้เป็นหลักฐานแก่ผู้ขายซึ่งเป็นผู้ส่งของแล้วนำตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวบรรทุกลงเรือเกา เจีย มายังประเทศไทย สินค้าพิพาทมาถึงท่าเรือกรุงเทพเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2548 ปรากฏว่าสินค้าพิพาทเสียหายบางส่วน โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปเป็นเงิน 703,110.71 บาท และขายซากสินค้าพิพาทได้เป็นเงิน 152,400 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เพราะหนังสือมอบอำนาจมิได้ระบุให้ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจมีข้อความที่เป็นสาระสำคัญระบุว่า บริษัทโจทก์โดยกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนขอแต่งตั้งและมอบอำนาจให้นายถนัดและหรือนายสุพชัยเป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจของบริษัทในกิจการต่างๆ ตามที่ระบุไว้รวม 9 ข้อ โดยในข้อ 2 ระบุให้มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งในคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีอื่นใดทุกประเภทต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้ทุกศาลทั่วราชอาณาจักร เป็นการมอบอำนาจให้นายถนัดและหรือนายสุพชัยมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้หลายประการ ทั้งได้ระบุให้มีอำนาจที่จะฟ้องคดีและดำเนินคดีทุกประเภทต่อศาลทุกศาลไว้โดยชัดแจ้งโดยไม่จำกัดตัวบุคคลที่จะต้องถูกฟ้อง การมอบอำนาจดังกล่าวเป็นการมอบอำนาจทั่วไปที่รวมถึงให้ยื่นฟ้องต่อศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 (5) ด้วย ทั้งการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเช่นนี้ไม่จำต้องระบุบุคคลที่จะต้องถูกฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ใด นายถนัดและหรือนายสุพชัยจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามแทนโจทก์เป็นคดีนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
…สำหรับจำเลยที่ 2 ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสามเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน มีจำเลยที่ 2 เป็นบริษัทแม่ จำเลยที่ 3 ออกใบตราส่งภายใต้ขอบเขตการเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทน จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกสำหรับความเสียหายที่ตัวแทนของตนได้ก่อขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 ประกอบมาตรา 821 และพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 43 เห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดฐานะที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยไม่ได้อ้างว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทน คดีไม่มีประเด็นเรื่องตัวการตัวแทน อุทธรณ์ของโจทก์ส่วนนี้เป็นอุทธรณ์นอกเหนือประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี ถือได้ว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ประการต่อมามีว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายของสินค้าพิพาทหรือไม่ ปัญหานี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทเพราะเป็นผู้ทำสัญญารับขนของทางทะเลตามใบตราส่ง จำเลยที่ 3 ได้รับสินค้าพิพาทจากผู้ขายมาบรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์แล้วนำมาส่งมอบให้ตัวแทนเรือขนมาประเทศไทย แม้จำเลยที่ 3 ไม่ได้ขนส่งสินค้าพิพาทด้วยตนเอง แต่ได้มอบหมายให้บริษัทซามูเดลา ชิปปิ้ง ไลน์ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของเรือเกา เจีย ขนส่งสินค้าพิพาท ทั้งบริษัทซามูเดลา ชิปปิ้ง ไลน์ จำกัด และเรือเกา เจีย จึงเป็นผู้ขนส่งอื่นที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 3 ให้ขนส่งสินค้าพิพาท จำเลยที่ 3 ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งในประเด็นนี้ เพียงแต่อุทธรณ์ต่อสู้ว่า หน้าที่และความรับผิดของจำเลยที่ 3 สิ้นสุดลงแล้วเมื่อได้ส่งมอบสินค้าพิพาทแก่บริษัทซามูเดลา ชิปปิ้ง ไลน์ จำกัด ผู้ขนส่งที่แท้จริงในสภาพเรียบร้อยครบถ้วน จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น เห็นว่า พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้ขนส่งต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเป็นผลจากการที่ของซึ่งได้รับมอบจากผู้ส่งของเสียหาย ถ้าเหตุแห่งการเสียหายนั้นเกิดขึ้นระหว่างที่ของดังกล่าวอยู่ในความดูแลของตน และวรรคสองบัญญัติให้ถือว่าของอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งนับตั้งแต่เวลาที่ผู้ขนส่งได้รับของนั้นไว้จากผู้ส่งของจนถึงเวลาที่ผู้ขนส่งส่งมอบของนั้น ณ ท่าปลายทางหรือที่หมายปลายทางตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 40 ดังนั้น ตราบใดที่สินค้าพิพาทยังมิได้ส่งมอบแก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งหรือส่งมอบให้แก่เจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดๆ ตามกฎหมายหรือกฎข้อบังคับที่ใช้ ณ ท่าเรือกรุงเทพอันเป็นท่าปลายทาง ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งจึงยังไม่สิ้นสุดลง และเมื่อข้อเท็จจริงที่ได้จากรายการสำรวจสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยและรายงานการสำรวจฟังได้ว่าความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดขึ้นก่อนที่จะได้ส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่ง ดังนั้น แม้จำเลยที่ 3 จะได้ส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าพิพาทให้บริษัทซามูเดลา ชิปปิ้ง ไลน์ จำกัด ขนส่งทางทะเลจากท่าเรือต้นทางประเทศสิงคโปร์มาถึงยังประเทศไทยแล้วก็ตาม จำเลยที่ 3 ก็ยังคงต้องรับผิดเพื่อความเสียหายของสินค้าพิพาทต่อโจทก์ตามมาตรา 39 ประกอบมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินแก่โจทก์ 550,710.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 พฤศจิกายน 2549) ต้องไม่เกิน 31,232.08 บาท ตามที่โจทก์ขอ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง