คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8699/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินโดยมิได้ใช้อำนาจ ยึด อายัด หรือขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ซึ่งค้างชำระค่าภาษี ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 44 วรรคหนึ่ง และพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 115 วรรคสอง ก่อนที่โรงเรือนพิพาทจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กรณีไม่อาจถือได้ว่าโจทก์คบคิดกันฉ้อฉลหรือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด และเมื่อโจทก์ทวงถามจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เจ้าของคนใหม่แล้ว แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ย่อมถือว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 806,496.81 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,385,848 บาท และให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,171,625.19 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ,ที่ 2,ที่ 3 และที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ในคดีหมายเลขแดงที่ 20/2547 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยื่นคำแถลงต่อศาลภาษีอากรกลาง ไม่ขอเข้าว่าคดีแทนและขอให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 806,496.81 จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 1,385,848 บาท และจำเลยที่ 4 ชำระเงินจำนวน 1,171,625.19 บาท ให้แก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามสัดส่วนของจำนวนทุนทรัพย์ที่ต้องรับผิด โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ค่าทนายความแทนโจทก์คนละ 4,000 บาท และให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ 3,000 บาท
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของโรงเรือนเลขที่ 43/44 ถึงเลขที่ 43/909 ซึ่งเป็นตึกแถว 2 ชั้น และ 2 ชั้น รวม 570 ห้อง ตั้งอยู่ที่ถนนพระราม 2 แขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 832, 833 และ 834 ตำบลบางมด อำเภอบางขุนเทียน ( ปัจจุบันเขตจอมทอง )กรุงเทพมหานคร ของนางพเยาว์ ตามสัญญาเช่าที่ดิน รวม 3 ฉบับ มีกำหนด 23 ปี สัญญาเช่าสิ้นสุดในวันที่ 4 ธันวาคม 2544 จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 832 พร้อมตึกแถวรวม 139 ห้อง บนที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 833 พร้อมตึกแถวรวม 238 ห้อง บนที่ดินดังกล่าว และจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดเลขที่ 834 พร้อมตึกแถวรวม 203 ห้อง บนที่ดินดังกล่าวจากนางพเยาว์ จำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2536 ถึงปีภาษี 2541 สำหรับตึกแถวทั้ง 570 ห้องดังกล่าว ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี โจทก์ประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับตึกแถวในปีภาษี 2536 ถึงปีภาษี 2541 คิดเป็นค่ารายปี ปีละ 4,587,600 บาท และค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีละ 573,450 บาท รวมเป็นเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินทั้งสิ้น 3,440,700 บาท โดยแจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว จำเลยที่ 1 มิได้ร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ และมิได้นำเงินค่าภาษีไปชำระตามการประเมิน ซึ่งต้องรับผิดในการชำระเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ด้วย คิดเป็นเงินเพิ่มปีภาษีละ 57,345 บาท รวมเป็นค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินและเงินเพิ่มทั้งสิ้น 3,440,700 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอผ่อนชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับปีภาษี 2536 ถึงปีภาษี 2539 ซึ่งมียอดภาษีค้างชำระจำนวน 2,293,800 บาท และเงินเพิ่มจำนวน 229,380 บาท โดยขอแบ่งชำระเป็น 48 งวด งวดละหนึ่งเดือน เดือนละ 52,600 บาท และเดือนสุดท้ายเป็นเงิน 50,980 บาท เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2542 เป็นต้นไป และทำสัญญายอมรับในหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินและเงินเพิ่มตามจำนวนดังกล่าว และยินยอมผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระให้แก่โจทก์เพียงบางส่วนและยังคงมียอดหนี้ค่าภาษีและเงินเพิ่มค้างชำระสำหรับปีภาษี 2536 ถึงปีภาษี 2539 อีกจำนวน 2,102,380 บาท ส่วนค่าภาษีและเงินเพิ่มสำหรับปีภาษี 2540 ถึงปีภาษี 2541 จำนวน 1,261,590 บาท ยังมิได้ชำระให้แก่โจทก์แต่อย่างใด รวมเป็นหนี้ค่าภาษีและเงินเพิ่มค้างชำระทั้งสิ้น 3,363,970 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 45 บัญญัติว่า ” ถ้าค่าภาษีค้างอยู่และยังมิได้ชำระขณะเมื่อทรัพย์สินได้โอนกรรมสิทธิ์ไปเป็นของเจ้าของใหม่โดยเหตุใด ๆ ก็ตาม ท่านว่าเจ้าของคนเก่าและคนใหม่เป็นลูกหนี้ค่าภาษีนั้นร่วมกัน ” เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน จึงเป็นภาษีค้างชำระ และต่อมาโรงเรือนพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ดังนี้ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงตกอยู่ในฐานะเป็นเจ้าของคนใหม่ ต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีค้างร่วมกันกับจำเลยที่ 1 เจ้าของคนเก่าตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว การที่โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน โดยมิได้ใช้อำนาจ ยึด อายัด หรือขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ซึ่งค้างชำระค่าภาษี ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 44 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 115 วรรคสอง ก่อนที่โรงเรือนพิพาทจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กรณีไม่อาจถือได้ว่าโจทก์คบคิดกันฉ้อฉลหรือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด และได้ความว่า โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ย่อมถือว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง สำหรับอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิใช่ข้อสาระสำคัญที่จะทำให้คำวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเปลี่ยนแปลงไป ไม่ยกขึ้นวินิจฉัยให้ ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามา ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share