แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับ จ. มิได้มีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือจ. เพียงแต่ออกเช็คสั่งจ่ายเงิน4 ฉบับ มอบให้โจทก์ไว้ และการออกเช็คของ จ. อาจจะมิใช่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ก็ตาม แต่เมื่อเช็ค ดังกล่าวไม่มีการชำระเงินตามที่ จ. สั่งจ่ายย่อมเกิดเป็นหนี้ระหว่างโจทก์กับ จ. ตามจำนวนเงินที่ระบุในเช็คนั้นทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 898,900 วรรคหนึ่งซึ่งต่อมาเมื่อ จ. ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้จึงให้จำเลยที่ 2 เข้ามาชำระหนี้แก่โจทก์แทน โดยจำเลยที่ 2ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินให้โจทก์ไว้อันเป็นการแปลงหนี้เดิมซึ่งเป็นหนี้ตามเช็คมาเป็นหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อประทับตราจำเลยที่ 1ออกเช็คสั่งจ่ายเงินรวม 8 ฉบับ ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์รวมทั้งเช็คพิพาททั้งสองฉบับด้วย จึงต้องถือว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายตามความใน พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ตาม สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวและต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงมีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คพิพาท ทั้งสองฉบับชำระหนี้เงินกู้ยืมแก่โจทก์ แต่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทชำระหนี้แทน จ. ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ โดยจำเลยทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินให้โจทก์ และออกเช็คพิพาทชำระหนี้นั้น ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏใน การพิจารณาหาได้แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 4,000 บาท และให้จำคุกจำเลยที่ 2กระทงละ 2 เดือน รวมสองกระทงเป็นปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน8,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 เดือน หากจำเลยที่ 1ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเดิมนางจิราลักษณ์ ถกลศรี กู้เงินโจทก์และนางนารีรัตน์ สัจจาเฟื่องกิจการ ภริยาโจทก์ จำนวน 750,000 บาท โดยมิได้มีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ แต่ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินรวม 4 ฉบับตามเอกสารหมาย จ.15 ให้แก่โจทก์และภริยาโจทก์ไว้ ต่อมาเช็คตามเอกสารหมาย จ.15 รวม 2 ฉบับคือฉบับละ 100,000 บาท และ 150,000 บาท ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ทวงถามให้นางจิราลักษณ์ชำระหนี้ แต่นางจิราลักษณ์ไม่มีเงินชำระหนี้ดังกล่าวจึงได้ให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหนี้นางจิราลักษณ์ชำระหนี้แทน โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินโจทก์และนางจิราลักษณ์เป็นผู้ค้ำประกัน ตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.19 นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อประทับตราจำเลยที่ 1 ออกเช็คสั่งจ่ายเงินรวม 8 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.7 รวมทั้งเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.5 ชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ ครั้นเช็คตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.5 ถึงกำหนดโจทก์ได้นำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่ปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า “ยังรอเรียกเก็บเงินอยู่ โปรดนำมายื่นใหม่” และ “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” ตามเอกสารหมายจ.4 และ จ.6 มีปัญหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การกระทำระหว่างโจทก์จำเลยทั้งสองและนางจิราลักษณ์ถือไม่ได้ว่าเป็นการตกลงทำสัญญาชำระหนี้แทนและถือไม่ได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349, 350 และการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับนางจิราลักษณ์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงเป็นหนี้ไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 แม้เช็คพิพาททั้งสองฉบับจะถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยทั้งสองก็ไม่เป็นความผิดตามฟ้อง เพราะผู้ออกเช็คจะมีความผิดต่อเมื่อเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายนั้นเห็นว่า แม้การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับนางจิราลักษณ์มิได้มีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ นางจิราลักษณ์เพียงแต่ออกเช็คสั่งจ่ายเงิน 4 ฉบับ มอบให้โจทก์ไว้ และการออกเช็คของนางจิราลักษณ์อาจจะมิใช่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ก็ตามแต่เมื่อเช็คดังกล่าวไม่มีการชำระเงินตามที่ นางจิราลักษณ์ สั่งจ่ายย่อมเกิดเป็นหนี้ระหว่างโจทก์กับนางจิราลักษณ์ตามจำนวนเงินที่ระบุในเช็คนั้นทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 898,900 วรรคหนึ่ง ซึ่งต่อมาเมื่อนางจิราลักษณ์ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้จึงให้จำเลยที่ 2 เข้ามาชำระหนี้แก่โจทก์แทนอันเป็นการแปลงหนี้เดิมวิ่งเป็นหนี้ตามเช็คมาเป็นหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.2 และจำเลยที่ 2ได้ลงลายมือชื่อประทับตราจำเลยที่ 1 ออกเช็คสั่งจ่ายเงินรวม 8 ฉบับชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์รวมทั้งเช็คพิพาททั้งสองฉบับด้วย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินอันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ตามความในพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 แล้วเมื่อจำเลยที่ 1ที่ 2 ออกเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.5 เพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวและปรากฏต่อมาว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงมีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว
ปัญหาต่อไปมีว่า ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับชำระหนี้เงินกู้ยืมแก่โจทก์ แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทชำระหนี้แทนนางจิราลักษณ์ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ โดยจำเลยทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินให้โจทก์และออกเช็คพิพาทชำระหนี้นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาหาได้แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน