คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3827/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยทำสัญญารับฝากขายสินค้ากันโดยโจทก์ให้ค่าตอบแทนเดือนละ 120,000 บาท แก่จำเลย และโจทก์วางเงิน ไว้เป็นประกันแก่จำเลย 575,100 บาท โดยพื้นที่รับฝากสินค้า จำเลยเช่ามาจากบริษัทซ.ต่อมาบริษัทซ.บอกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่กับจำเลย จำเลยจึงไม่สามารถให้โจทก์ใช้พื้นที่ได้ ทำให้สัญญารับฝากขายสินค้าพิพาทต้องเลิกกันโดยโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ได้ คู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 การชำระหนี้ ของคู่สัญญาอันเกิดแก่การเลิกสัญญานั้น มาตรา 392 ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 369 ว่าด้วยการชำระหนี้ในสัญญาต่างตอบแทน มาใช้บังคับโจทก์ต้องออกจากพื้นที่พิพาทเพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิมแต่โจทก์เมื่อยังไม่ได้ออกจากพื้นที่พิพาท จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเอาเงินประกันคืนจากจำเลยได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงหยิบยก ขึ้นมาวินิจฉัยได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วย มาตรา 246 และ 247 แต่เมื่อ จำเลยได้ฟ้องแย้งและฎีกาขอให้เอาเงินค่าเสียหายที่โจทก์ ต้องชำระแก่จำเลยหักออกจากเงินประกันที่โจทก์วางไว้กับ จำเลย จึงเป็นกรณีที่จำเลยขอหักหนี้โดยไม่ต้องการประโยชน์ แห่งเงื่อนเวลาต่อไป ซึ่งย่อมกระทำได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 192 วรรคสอง จึงต้องนำเอาค่าเสียหายที่โจทก์ก่อขึ้นอันเนื่องมาจากการ ไม่ส่งมอบพื้นที่พิพาทให้แก่จำเลยตลอดเวลาที่ยังไม่ส่งมอบ พื้นที่พิพาทคืนหักกับเงินประกันที่โจทก์วางไว้กับจำเลย ดังกล่าวจนกว่าจะส่งมอบพื้นที่พิพาทคืน การที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อหักกับเงินประกันของโจทก์ที่เหลืออยู่ จำนวน 352,361.76 บาทแล้ว โจทก์จะต้องชำระเงินค่าเสียหาย ให้แก่จำเลยอีกจำนวน 212,698.56 บาทนั้นเป็นฎีกาที่เกินกว่า คำขอตามฟ้องแย้งของจำเลย ศาลบังคับให้ไม่ได้เพราะฟ้องแย้ง เป็นคำฟ้องอย่างหนึ่ง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่า หรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยทำสัญญารับฝากขายสินค้า โดยให้โจทก์นำสินค้าเข้าวางจำหน่ายในพื้นที่เช่าซึ่งจำเลยมีสิทธิเช่าของศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าบริเวณชั้นใต้ดิน โจทก์ได้วางเงินประกันเพื่อปฏิบัติตามสัญญาไว้แก่จำเลย 575,100 บาท ซึ่งจำเลยจะต้องคืนให้โจทก์เมื่อครบสัญญา ต่อมาจำเลยได้บอกเลิกสัญญาและโจทก์ได้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปภายในกำหนดแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมคืนเงินประกันให้ ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน575,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ได้นำพื้นที่ครึ่งหนึ่งให้นายวิพล บรรจงลักษมี เช่าช่วง อีกครั้งหนึ่ง เป็นเหตุให้บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด เจ้าของสถานที่ บอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลย จำเลยจึงบอกกล่าวให้โจทก์และบริวารออกจากพื้นที่เช่าภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2539 โจทก์ขอให้จำเลยหักกลบลบหนี้เงินที่จำเลยต้องชำระเดือนละ 120,000 บาท ออกจากเงินประกันจำนวน 575,100 บาท แต่เมื่อถึงวันที่ 18 มีนาคม 2539โจทก์ไม่ออกจากพื้นที่เช่า โจทก์ต้องชำระเงินตามสัญญารับฝากขายสินค้าเท่ากับที่จำเลยถูกบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด ฟ้องเรียกจากจำเลย โดยจำเลยขอหักจากเงินประกันที่จำเลยจะต้องคืนให้โจทก์แต่ที่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีจากเงินประกันนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิคิดเนื่องจากโจทก์เป็นฝ่ายก่อให้เกิดความเสียหาย
โจทก์ไม่ให้การแก้ฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 455,100 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่19 มีนาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชำระเงินจำนวน352,361.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญารับฝากขายสินค้ากันโดยโจทก์ให้ค่าตอบแทนเดือนละ 120,000 บาท แก่จำเลยและโจทก์ได้วางเงินไว้เป็นประกันให้แก่จำเลยจำนวน 575,100 บาท ด้วยตามสัญญารับฝากขายสินค้าเอกสารหมาย จ.1 โดยพื้นที่รับฝากสินค้าตามสัญญานี้จำเลยเช่ามาจากบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด สัญญานี้เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2537 ถึงเดือนตุลาคม 2540 เมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาแล้วจำเลยจะคืนเงินประกันให้แก่โจทก์ หากโจทก์ไม่มีภาระติดค้างอยู่กับจำเลย ต่อมาบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด บอกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่กับจำเลย จำเลยจึงไม่สามารถให้โจทก์ใช้พื้นที่ได้ตามสัญญาจำเลยจึงบอกเลิกสัญญากับโจทก์ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2539 โดยกำหนดให้โจทก์ออกจากพื้นที่เช่าภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2539 แต่โจทก์และบริวารไม่ได้ออกจากพื้นที่เช่าอันเป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยและต้องใช้เงินตามควรค่าแห่งการใช้พื้นที่เช่า 1 เดือน จำนวน 120,000 บาท กับค่าเสียหายเดือนละ 51,363.12 บาท นับแต่เดือนมีนาคม 2539 ถึงวันที่โจทก์ฟ้องเป็นเงินรวม 222,738.24 บาท ให้แก่จำเลย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยมีสิทธิขอให้นำค่าเสียหายที่จำเลยได้รับความเสียหายภายหลังจากวันที่โจทก์ฟ้องมาหักกลบลบหนี้กับเงินประกันที่โจทก์วางให้ไว้กับจำเลยนั้นหรือไม่เพียงใด และมีสิทธิขอให้บังคับโจทก์ชำระค่าเสียหายในส่วนนี้เกินจากที่หักกลบลบหนี้กับเงินประกันไปจนหมดแล้วหรือไม่จำเลยฎีกาว่า โจทก์และบริวารยังคงอยู่ไม่ยอมขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่พิพาทจนถึงวันที่ 12 มีนาคม 2540 ดังนั้นโจทก์ต้องใช้ค่าเสียหายต่อจากเดือนพฤษภาคม 2539 ในอัตราเดือนละ51,369.12 บาท จนถึงวันที่ 12 มีนาคม 2540 ด้วย ซึ่งรวมเป็นเงินจำนวน 565,060.32 บาท เมื่อหักกับเงินประกันของโจทก์ที่เหลืออยู่จำนวน 352,361.76 บาท แล้วโจทก์จะต้องชำระเงินค่าเสียหายให้แก่จำเลยอีก 212,698.56 บาทด้วย เห็นว่า เมื่อสัญญารับฝากขายสินค้าพิพาทเลิกกันโดยโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ได้แล้วสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 คือต้องให้คู่สัญญาได้กลับคืนสู่ฐานะเดิม การชำระหนี้ของคู่สัญญาอันเกิดแก่การเลิกสัญญานั้นมาตรา 392 ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 369 ว่าด้วยการชำระหนี้ในสัญญาต่างตอบแทนมาใช้บังคับ ในกรณีนี้โจทก์ต้องออกจากพื้นที่พิพาทเพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิม แต่โจทก์ยังไม่ได้ออกจากพื้นที่พิพาท โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเอาเงินประกันคืนจากจำเลยได้ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและข้อเท็จจริงที่นำมาวินิจฉัยปัญหานี้ ปรากฏในสำนวนตามที่คู่ความนำสืบมาโดยถูกต้องตามวิธีพิจารณา ศาลฎีกาจึงหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247 แต่อย่างไรก็ตามจำเลยได้ฟ้องแย้งและได้ฎีกาขอให้เอาเงินค่าเสียหายที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยหักออกจากเงินประกันที่โจทก์วางไว้กับจำเลย จึงเป็นกรณีที่จำเลยขอหักหนี้โดยจำเลยไม่ต้องการประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาต่อไปซึ่งย่อมกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192 วรรคสองจึงต้องนำเอาค่าเสียหายที่โจทก์ก่อขึ้นอันเนื่องมาจากการไม่ส่งมอบพื้นที่พิพาทให้แก่จำเลยตลอดเวลาที่ยังไม่ส่งมอบพื้นที่พิพาทคืนหักกับเงินประกันที่โจทก์วางไว้กับจำเลยดังกล่าวจนกว่าจะส่งมอบพื้นที่พิพาทคืน ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อหักกับเงินประกันของโจทก์ที่เหลืออยู่จำนวน 352,361.76 บาทแล้ว โจทก์จะต้องชำระเงินค่าเสียหายให้แก่จำเลยอีกจำนวน 212,698.56 บาทนั้นเป็นฎีกาที่เกินกว่าคำขอตามฟ้องแย้งของจำเลย ศาลบังคับให้ไม่ได้เพราะฟ้องแย้งเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่งซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ และให้หักเงินค่าเสียหายเดือนละ 51,369.12 บาท อันเนื่องจากที่โจทก์หรือบริวารโจทก์ไม่คืนพื้นที่พิพาทให้แก่จำเลยออกจากเงินประกันที่โจทก์วางไว้กับจำเลยส่วนที่ยังเหลืออยู่จำนวน 352,361.76 บาท ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยเริ่มตั้งแต่วันฟ้องคือวันที่ 3 พฤษภาคม 2539เป็นต้นไป จนกว่าโจทก์ส่งมอบพื้นที่พิพาทคืน แต่ทั้งนี้ให้หักกันจนครบตามจำนวนเงินประกันที่โจทก์วางไว้แก่จำเลยเท่านั้นนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share