คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7331/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อ ส. จดทะเบียนโอนขายที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์ก่อนสัญญาเช่าระหว่างจำเลยกับ ส. จะมีผลบังคับ สัญญาเช่าจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ในตึกแถวพิพาทต่อไป และบอกกล่าวแล้ว จำเลยจึงต้องออกไปจากตึกแถวพิพาท เมื่อจำเลยเพิกเฉย โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากตึกแถวพิพาทได้ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าตึกแถวจากนายสุทินเหล่ากุลดิลก มีข้อกำหนดว่า ในกรณีที่ผู้ให้เช่าตกลงขายทรัพย์สินที่เช่าก่อนครบระยะเวลาเช่า ผู้ให้เช่าจะแจ้งให้ผู้เช่าทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 เดือน เพื่อผู้เช่าเตรียมตัวออกจากทรัพย์สินที่เช่า และให้ถือว่าผู้เช่ายอมออกจากที่เช่าตามเอกสารท้ายฟ้องต่อมานายสุทินขายที่ดินพร้อมตึกแถวดังกล่าวให้แก่โจทก์ พร้อมทั้งจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินดังกล่าว สัญญาเช่าระหว่างนายสุทินกับจำเลยเป็นอันยกเลิกตามข้อกำหนดในสัญญา โจทก์กับนายสุทินร่วมกันบอกเลิกการเช่าแล้ว ขอให้จำเลยพร้อมบริวารขนย้ายออกไปจากสถานที่เช่าตามฟ้อง และห้ามยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าว ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 20,000 บาท และต่อไปอีกเดือนละ 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยกับบริวารออกจากตึกพิพาทของโจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 20,000 บาท กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายออกจากตึกพิพาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกการเช่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2529 จำเลยได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจากนายสุทิน เหล่ากุลดิลก มีกำหนดการเช่า 1 ปี นับแต่วันที่ 1ธันวาคม 2531 ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2532 ครั้นถึงวันที่ 21พฤศจิกายน 2531 โจทก์ได้ซื้อตึกแถวพิพาทจากนายสุทิน ต่อมาวันที่ 13 มกราคม 2532 โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทอีกต่อไป จึงได้มีหนังสือแจ้งการรับโอนตึกแถวพิพาทพร้อมทั้งบอกเลิกการเช่าแก่จำเลย เห็นว่า เมื่อนายสุทินได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์ก่อนสัญญาเช่าระหว่างจำเลยกับนายสุทินจะมีผลบังคับ สัญญาเช่าจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ในตึกแถวพิพาทต่อไป และได้บอกกล่าวแล้ว จำเลยจึงต้องออกไปจากตึกแถวพิพาท เมื่อจำเลยเพิกเฉยโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากตึกแถวพิพาทได้ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share