แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อปรากฏว่าได้มีการส่งหนังสือนัดประชุมใหญ่ให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทตามภูมิลำเนาของผู้ร้องในวันที่21 มกราคม 2537 ก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วันแล้ว ย่อมถือได้ว่าได้มีการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1175แล้ว แม้ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2537 ทางไปรษณีย์จะส่งหนังสือคืนมา และบริษัทได้ส่งซ้ำกลับคืนให้ผู้ร้องในวันนั้นซึ่งผู้ร้องได้รับในวันที่ 27 มกราคม 2537 ก่อนวันนัดประชุมสองวัน ก็ไม่มีผลทำให้การส่งครั้งแรกที่ถูกต้องกลายเป็นไม่ชอบอีกทั้งยังปรากฏว่าในวันที่ 14 มกราคม 2537 ซึ่งเป็นวันที่มีการประชุมกรรมการของบริษัทและมีมติให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 29 มกราคม 2537 นั้น ผู้ร้องได้ร่วมประชุมอยู่ด้วยและทราบวันนัดประชุมแล้ว จึงถือได้ว่าได้มีการแจ้งวันนัดประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทให้ผู้ร้องทราบโดยชอบแล้ว แม้ เอกสารพิพาทจะเป็นพยานเอกสารที่ผู้คัดค้านที่ 2หมายเรียกมาจากบุคคลภายนอก และในวันนัดสืบพยาน ทนายผู้คัดค้านที่ 2 แถลงไม่ติดใจสืบพยาน และผู้คัดค้านที่ 1 มิได้อ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าทนายผู้ร้องซึ่งเบิกความเป็นพยานผู้ร้องเบิกความตอบคำถามค้านของทนายผู้คัดค้านที่ 1 ว่า ไม่คัดค้านเอกสารดังกล่าวเท่ากับเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงในเอกสารดังกล่าว จึงชอบที่ศาลจะรับฟังเอกสารพิพาทดังกล่าวได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของบริษัทนครินทร์ วาย.ซี. อินดัสตรี้ จำกัด เมื่อวันที่ 29มกราคม 2537 บริษัทนครินทร์ วาย.ซี. อินดัสตรี้ จำกัด ได้ทำการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท ครั้งที่ 1/2537โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ บริษัทมิได้ส่งหนังสือบอกกล่าวเรียกประชุมให้ผู้ร้องทราบล่วงหน้าก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และในการประชุมดังกล่าวที่ประชุมได้ลงมติที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมดังกล่าว
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า การเรียกประชุมและมติในที่ประชุมชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความแถลงยอมสละประเด็นข้อพิพาทอื่น ๆ คงให้ศาลวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า ได้มีการแจ้งวันนัดประชุมให้ผู้ร้องทราบโดยชอบหรือไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้จากพยานหลักฐานของผู้ร้องและผู้ร้องคัดค้านว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม2537 บริษัทนครินทร์ วาย.ซี. อินดัสตรี้ จำกัด ได้จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น ณ ที่ทำการของบริษัทผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของบริษัทดังกล่าว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่าได้มีการแจ้งวันนัดประชุมใหญ่ของบริษัทให้ผู้ร้องทราบโดยชอบหรือไม่ ในข้อนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1175 บัญญัติไว้ว่า “คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ทุกคราวนั้นให้ลงพิมพ์โฆษณาอย่างน้อยสองคราวในหนังสือพิมพ์แห่งท้องถิ่นฉบับหนึ่ง ก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน หรือส่งทางไปรษณีย์ไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนบรรดามีชื่อในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ฯลฯ” จากข้อนำสืบของผู้คัดค้านทั้งสองตามเอกสารหมาย ค.3 ถึง ค.13 โดยเฉพาะตามเอกสารหมาย ค.10ลำดับเลขทะเบียนที่ 747 ว่า ได้มีการส่งหนังสือนัดประชุมใหญ่ให้ผู้ร้องตามภูมิลำเนาของผู้ร้องในวันที่ 21 มกราคม 2537ก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วันนั้น ถือได้ว่าได้มีการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1175 แล้ว แม้ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2537 ทางไปรษณีย์จะส่งหนังสือคืนมา และบริษัทได้ส่งซ้ำกลับคืนให้ผู้ร้องในวันนั้น ซึ่งผู้ร้องได้รับในวันที่27 มกราคม 2537 ก่อนวันนัดประชุมสองวัน ก็ไม่มีผลทำให้การส่งครั้งแรกที่ถูกต้องไม่ชอบ อีกทั้งยังปรากฏตามเอกสารหมาย ค.1 ว่าในวันที่ 14 มกราคม 2537 ซึ่งเป็นวันที่มีการประชุมกรรมการของบริษัทและมีมติให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่29 มกราคม 2537 นั้น ผู้ร้องได้ร่วมประชุมอยู่ด้วยและทราบวันนัดประชุมแล้ว จึงถือได้ว่าได้มีการแจ้งวันนัดประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทให้ผู้ร้องทราบโดยชอบแล้ว ที่ผู้ร้องฎีกาว่าพยานเอกสารหมาย ค.10 ค.12 และ ค.13 เป็นพยานเอกสารที่ผู้คัดค้านที่ 2 หมายเรียกมาจากบุคคลภายนอก แต่ในวันนัดสืบพยานทนายผู้คัดค้านที่ 2 แถลงไม่ติดใจสืบพยานผู้คัดค้านที่ 1 มิได้อ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน พยานผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเบิกความพาดพิงถึงและไม่มีสิทธินำเสนอพยานหลักฐานดังกล่าวต่อศาลรวมทั้งไม่ชอบที่ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานเอกสารดังกล่าวนั้น ในข้อนี้นางสาวอนงค์ สิงห์จู ทนายผู้ร้องซึ่งเบิกความเป็นพยานผู้ร้อง เบิกความตอบคำถามของทนายผู้คัดค้านที่ 1 ว่า ไม่คัดค้านเอกสารดังกล่าว เท่ากับเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงในเอกสารดังกล่าว จึงชอบที่ศาลจะรับฟังได้
พิพากษายืน