คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5268/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามในมูลหนี้เดียวกับคดีนี้ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการแต่ศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งจำหน่ายคดีเมื่อวันที่22ธันวาคม2532เนื่องจากจำเลยที่1ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลเมื่อไม่มีข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่าขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามครั้งแรกที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการนั้นโจทก์ได้ฟ้องภายในกำหนดอายุความ1ปีตามมูลละเมิดแล้วจะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา176มาปรับแก่คดีของโจทก์ในกรณีนี้หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันวินาศภัยรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน 8จ-3214 กรุงเทพมหานคร ของนางสาวศิริกุล ต่อมาวันที่ 18 กันยายน 2531 เวลา 14.45 นาฬิกา ขณะที่นางสาวศิริกุลขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8จ-3214 กรุงเทพมหานคร มาตามถนนวิทยุมุ่งหน้าไปทางสี่แยกเพลินจิตด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างดี จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น-7399ประจวบคีรีขันธ์ มุ่งหน้าไปทางสี่แยกเพลินจิตเช่นกันแต่อยู่ในช่องเดินรถด้านซ้ายส่วนนางสาวศิริกุลขับรถยนต์อยู่ในช่องเดินรถด้านขวา จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วสูงไม่ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอในการที่จะเปลี่ยนช่องเดินรถจากด้านซ้ายมาด้านขวา จำเลยที่ 1 ขับรถเข้ามาในช่องเดินรถด้านขวาเป็นเหตุให้ชนรถยนต์คันที่นางสาวศิริกุลขับมาได้รับความเสียหายหลายรายการเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูที่เกิดเหตุและลงความเห็นว่าจำเลยที่ 1เป็นฝ่ายประมาทซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ โจทก์ได้ซ่อมแซมรถของนางสาวศิริกุลเสียค่าซ่อมแซมเป็นเงิน 49,235 บาทจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำละเมิดและเป็นลูกจ้างปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับและเป็นนายจ้างผู้มอบหมายใช้วานให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปในขณะเกิดเหตุจึงต้องร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย อนึ่งโจทก์ฟ้องคดีนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 เดิม
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมและคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะฟ้องคดีนี้เมื่อล่วงเลยกำหนดระยะเวลา 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448จึงหมดสิทธิที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสาม โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1และที่ 2 ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการตามคดีหมายเลขดำที่ 1374/2532ต่อมาศาลดังกล่าวได้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งเดิมเป็นไม่รับฟ้องและจำหน่ายคดีจากสารบบความมิได้พิพากษายกฟ้องด้วยเหตุไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจศาล โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องใหม่ภายใน 6 เดือนขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน49,235 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิจากนางสาวศิริกุล ผู้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์และเป็นการฟ้องคดีในมูลละเมิดซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรกบัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้นท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด” คดีนี้มูลละเมิดเกิดเมื่อวันที่18 กันยายน 2531 ซึ่งนางสาวศิริกุล รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วตั้งแต่วันนั้นโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิจากนางสาวศิริกุลจึงมีสิทธิเช่นเดียวกับนางสาวศิริกุล โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2533เมื่อนับแต่วันที่ 18 กันยายน 2531 ถึงวันฟ้องพ้นกำหนด 1 ปีแล้วโจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามในมูลหนี้รายนี้ ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการแล้วครั้งหนึ่ง ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1735/2532 คดีดังกล่าวศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งจำหน่ายคดีเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม2532 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจเท่านั้นโดยไม่มีข้อเท็จจริงใดที่จะแสดงให้เห็นว่าขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามครั้งแรกที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ โจทก์ได้ฟ้องภายในกำหนดอายุความ 1 ปีแล้ว เมื่อโจทก์ไม่นำสืบก็ต้องถือว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448ส่วนที่โจทก์กล่าวในฟ้องว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 เดิมนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 เดิมบัญญัติว่า “ถ้าศาลยกคดีเสียเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลและกำหนดอายุความสิ้นไปแล้วในระหว่างพิจารณาก็ดี หรือจะสิ้นลงในระหว่างหกเดือนภายหลังที่ได้พิพากษาคดีถึงที่สุดก็ดี ท่านให้ขยายอายุความนั้นออกไปถึงหกเดือนภายหลังคำพิพากษานั้น” ตามบทบัญญัติดังกล่าว มีความหมายแต่เพียงว่าขณะโจทก์ฟ้องคดีครั้งแรกนั้น โจทก์ได้ฟ้องภายในกำหนดอายุความแล้ว แต่อายุความได้สิ้นสุดลงในระหว่างพิจารณาหรือจะสิ้นสุดภายในหกเดือนหลังจากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด เพราะเหตุคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลเท่านั้นอายุความจึงจะขยายออกไปอีกหกเดือน และให้สิทธิโจทก์ฟ้องคดีใหม่ได้ในกำหนดเวลาดังกล่าวจึงนำมาปรับแก่คดีของโจทก์ในกรณีนี้หาได้ไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share