แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายสำหรับโจทก์ที่ 1 จำนวน 73,011 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 38,000 บาทโจทก์ที่ 3 จำนวน 8,183 บาท และโจทก์ที่ 4 จำนวน 10,368 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 129,562 บาท ดังนี้ไม่ใช่หนี้ร่วมที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนเงินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดเท่านั้น คดีในส่วนของโจทก์ที่ 3ที่ 4 มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 20,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224แม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้ก็ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา จำเลยที่ 2ไม่มีสิทธิที่จะฎีกาข้อเท็จจริงในส่วนของโจทก์ที่ 3 ที่ 4 ต่อมาได้และคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาท เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยที่ 2 ในข้อเท็จจริงสำหรับคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 มานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 รับประกันภัยรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน 1 ข-2463 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ที่ 2 โดยโจทก์ที่ 3 เป็นผู้ขับรถยนต์เก๋งดังกล่าวมีโจทก์ที่ 4 นั่งมาด้วยจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน 01209กรุงเทพมหานคร (แผ่นป้ายทะเบียนสีแดง) ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2วันที่ 23 มกราคม 2529 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา จำเลยที่ 1ขับรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 2 หักหลบรถยนต์บรรทุกน้ำเข้าไปในช่องเดินรถสวน เป็นเวลาเดียวกับที่โจทก์ที่ 3 ขับรถยนต์เก๋งมาจึงเป็นเหตุให้รถยนต์เก๋งชนกับรถยนต์กระบะซึ่งจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์เก๋งได้รับความเสียหายทั้งคัน โจทก์ที่ 3 และที่ 4 ได้รับบาดเจ็บโจทก์ที่ 1 ได้ซ่อมแซมรถยนต์เก๋งของโจทก์ที่ 2 ตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยใช้เงินในการซ่อมจำนวน 73,011 บาท โจทก์ที่ 1 จึงเข้ารับช่วงสิทธิตามกฎหมาย รถยนต์เก๋งของโจทก์ที่ 2 เสื่อมราคา 20,000บาท โจทก์ที่ 2 ต้องเช่ารถยนต์คันอื่นมาใช้แทนรถยนต์คันดังกล่าวในอัตราวันละ 200 บาท เป็นเวลา 90 วัน เป็นเงิน 18,000 บาทโจทก์ที่ 3 ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 8,183 บาท โจทก์ที่ 4เสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 10,368 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 129,562 บาท แก่โจทก์ทั้งสี่พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า นายชนะ โอสถผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1ไม่ใช่ลูกจ้างและกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2ไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน 01209 กรุงเทพมหานครเหตุที่รถยนต์ทั้งสองคันชนกันนั้น เพราะรถยนต์เก๋ง หมายเลขทะเบียน1 ข-2463 กรุงเทพมหานคร แล่นเข้ามาชนรถยนต์กระบะในช่องเดินรถของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เหตุเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1แต่อย่างใด ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ ค่าซ่อมรถยนต์เก๋งไม่เกิน10,000 บาท และเมื่อซ่อมแล้วไม่เสื่อมสภาพหรือเสื่อมราคาหากจะเสื่อมก็ไม่เกิน 1,000 บาท โจทก์ที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์เก๋ง ไม่ได้ประกอบธุรกิจการค้า จึงไม่เสียหายในส่วนที่ไม่ได้รับความสะดวกในการไม่ได้ใช้รถยนต์คันดังกล่าวหากเสียหายก็ไม่เกิน 1,000 บาท สำหรับโจทก์ที่ 3 และที่ 4 นั้นถ้าได้รับบาดเจ็บจริง ค่ารักษาพยาบาลก็ไม่เกินคนละ 2,000 บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน73,011 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ชำระเงิน 20,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2ชำระเงิน 8,138 บาท แก่โจทก์ที่ 3 และชำระเงิน 10,368 บาทแก่โจทก์ที่ 4
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 3 บัญญัติว่า”ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินสองหมื่นบาท ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง” และมาตรา 248ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 6 บัญญัติว่า”ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาทและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง” คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 129,562 บาท โดยโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์เก๋งของโจทก์ที่ 2 เรียกร้องเงินที่ได้ชดใช้ค่าเสียหายในการซ่อมรถยนต์เก๋งของโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 73,011 บาทโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์เก๋งคันที่ถูกชนเรียกร้องค่าที่รถยนต์เสื่อมราคากับค่าเช่ารถยนต์คันอื่นมาใช้แทนรวมเป็นเงิน38,000 บาท โจทก์ที่ 3 เรียกร้องค่ารักษาพยาบาลตนเองเป็นเงิน8,183 บาท และโจทก์ที่ 4 เรียกร้องค่ารักษาพยาบาลตนเองเป็นเงิน10,368 บาท ดังนี้ไม่ใช่เป็นหนี้ร่วมที่ไม่อาจจะแบ่งแยกได้โจทก์แต่ละคนฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวจึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนเงินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดมาดังกล่าวเท่านั้น เมื่อคดีในส่วนของโจทก์ที่ 3 ที่ 4 มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 20,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้ก็ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิจะฎีกาข้อเท็จจริงในส่วนของโจทก์ที่ 3 ที่ 4 ต่อมาได้ และคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาท เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยที่ 2ในข้อเท็จจริงสำหรับคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ดังกล่าวมานั้นจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน