คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6441/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้ามรดกทั้งสองมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดิน 3 แปลง โดยเจ้ามรดกคนที่ 1 มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ เจ้ามรดกคนที่ 2 มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่เศษ และเจ้ามรดกทั้งสองมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเนื้อที่ 25 ไร่เศษ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง จำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก จากนั้นได้โอนมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวบ่งชี้ว่าที่ดิน 3 แปลง เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสองที่จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการในฐานะผู้จัดการมรดก จำเลยที่ 1 จัดการโอนที่ดินมรดกของเจ้ามรดกคนที่ 2 แปลงเนื้อที่ 1 ไร่เศษ ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 3 หลังจากนั้นโจทก์ที่ 3 นำที่ดินไปจำนองไว้แก่ ป. แล้วโอนที่ดินดังกล่าวตีใช้หนี้ ป. เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องไปซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวกลับคืนมาจาก ป. แล้วใส่ชื่อจำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ 4 เป็นเจ้าของที่ดินร่วมกัน แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้จัดการมรดกโดยพลการและอยู่ในความรู้เห็นของโจทก์ที่ 3 และที่ 4 มาตลอด อีกทั้งโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 2 กับมารดาของโจทก์ที่ 2 มีเหตุขัดแย้งกับเจ้ามรดกคนที่ 2 จึงไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินและไม่ไปงานศพของเจ้ามรดกคนที่ 2 มูลเหตุแห่งการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 สืบเนื่องมาจาก ก. บุตรของโจทก์ที่ 1 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โจทก์ที่ 1 กับ ส. บุตรสาวของโจทก์ที่ 1 จึงมาขอร้องให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินไปประกันตัว ก. จำเลยที่ 1 ตกลงและขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปบางส่วนเนื้อที่ 20 ไร่ แล้วมอบหมายให้ ม. ภริยาของจำเลยที่ 1 นำเงินที่ได้จากการขายไปประกันตัว อันเป็นการแสดงว่าโจทก์ที่ 1 รับรู้และเห็นชอบในการขายที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 มาแต่ต้น เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทบางส่วนมาจากจำเลยที่ 1 แล้วเข้าทำนาในที่ดินพิพาทแทนที่โจทก์ที่ 1 กับครอบครัว โจทก์ที่ 1 ก็หลีกทางให้เข้ายึดถือทำประโยชน์โดยไม่มีข้อทักท้วงโต้แย้งใด ๆ เท่ากับเป็นการยอมรับว่าจำเลยที่ 1 มีอำนาจจัดการที่ดินพิพาทได้เพียงผู้เดียว สอดคล้องกับการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทด้วยการให้จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 เอง จึงมิใช่การมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่น หลังจากเจ้ามรดกคนที่ 1 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ดูแลเจ้ามรดกคนที่ 2 ซึ่งมีอาการป่วยเจ็บหนักและต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนนานหลายวันต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนมาก สอดคล้องกับยอดเงินในบัญชีเงินฝากของเจ้ามรดกคนที่ 2 ที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยก่อนถึงแก่ความตาย และยังสอดคล้องกับการที่จำเลยที่ 1 นำเงินที่ได้จากการขายที่ดินมรดกไปชำระหนี้จำนองให้แก่ อ. และ ป. นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ได้อนุญาตให้ ส. บุตรของโจทก์ที่ 1 ทยอยไปขอเบิกเงินที่ได้จากการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จากจำเลยที่ 2 หลายครั้ง อันเป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ขายที่ดินพิพาทแล้วนำเงินไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวเพียงฝ่ายเดียว แต่นำไปใช้เพื่ออุดหนุนจุนเจือโจทก์ที่ 3 และที่ 4 รวมทั้ง ก. และ ส. ซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวของโจทก์ที่ 1 มาโดยตลอด ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสองที่โจทก์ทั้งสี่ยินยอมให้ตกเป็นของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องแบ่งปันที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ทั้งมีอำนาจในการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้โดยชอบ โดยโจทก์ทั้งสี่ไม่อาจบังคับให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 29 ระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 และให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 164084 และนิติกรรมการโอนซื้อขายที่มีชื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 29 ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ให้ได้รับคนละ 1 ส่วน เท่า ๆ กันกับจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 4,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสี่ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า นายชั้น และนางสนิท เจ้ามรดกทั้งสองจดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2508 โดยมีบุตรด้วยกันรวม 5 คน ตามลำดับดังนี้ คนแรกคือนายเชียร ซึ่งถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2543 โดยมีบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วได้แก่โจทก์ที่ 4 คนที่สอง คือนายวันชัย ซึ่งถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2541 โดยมีโจทก์ที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายวันชัย คนที่สามคือนางอังชัญ ซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2545 โดยมีโจทก์ที่ 1 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางอังชัญ คนที่สี่คือจำเลยที่ 1 และคนที่ห้าคือโจทก์ที่ 3 ในระหว่างที่นายชั้นและนางสนิทเจ้ามรดกทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากัน เจ้ามรดกทั้งสองได้ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาท เนื้อที่ 25 ไร่ 2 งาน 30 ตารางวา มาจากผู้อื่นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2537 ต่อมาวันที่ 27 กันยายน 2543 นายชั้น เจ้ามรดกคนที่หนึ่งถึงแก่ความตาย โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายชั้น และต่อมาวันที่ 29 มกราคม 2551 นางสนิท เจ้ามรดกคนที่สองถึงแก่ความตาย โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางสนิท หลังจากนั้นวันที่ 17 ธันวาคม 2551 จำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินพิพาทใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง แล้วโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม 2552 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยยินยอมให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท จากนั้นวันที่ 29 กรกฎาคม 2552 มีการเปลี่ยนเอกสารสิทธิของที่ดินพิพาทจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 164084 และต่อมาวันที่ 10 เมษายน 2557 จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือเนื้อที่ 4 ไร่เศษ ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายชั้นและนางสนิทเจ้ามรดกทั้งสองที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกต้องแบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสี่หรือไม่ ฝ่ายโจทก์ทั้งสี่มีโจทก์ที่ 1 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความได้ความว่า หลังจากจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสองแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่จัดการแบ่งปันที่ดินพิพาทตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดก แต่คบคิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วยการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาททั้งแปลงให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสี่ กับไม่เคยนำเงินที่ได้จากการขายที่ดินพิพาทดังกล่าวมาแบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสี่ อีกทั้งจำเลยทั้งสามยังร่วมกันเปลี่ยนเอกสารสิทธิจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 29 เป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 164084 การกระทำนิติกรรมของจำเลยที่ 1 ถือเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกและทายาท จึงไม่มีผลผูกพันมรดกในส่วนของโจทก์ทั้งสี่ ฝ่ายจำเลยทั้งสามมีจำเลยที่ 1 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความโดยสรุปว่า จำเลยที่ 1 พักอาศัยอยู่ร่วมบ้านเดียวกันกับนายชั้นและนางสนิท โดยทำหน้าที่ดูแลบุคคลทั้งสองมาตลอด หลังจากนายชั้นถึงแก่ความตาย นางสนิทมีอาการป่วยหลายโรค ทั้งอัมพฤกษ์อัมพาต เบาหวาน และความดัน ไม่สามารถเดินได้และต้องนั่งรถเข็น โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้พาไปรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนหลายครั้งและแต่ละครั้งเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินหลายหมื่นบาท และเนื่องจากไม่มีบุตรคนใดของนางสนิทสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ จำเลยที่ 1 กับนางสนิทจึงต้องกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่นและขายที่ดินมีโฉนดของนางสนิท 2 แปลง เพื่อนำเงินมารักษานางสนิท ซึ่งทายาททุกคนของนายชั้นและนางสนิททราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี และก่อนที่นางสนิทจะถึงแก่ความตาย นางสนิทมีทรัพย์สินเป็นที่ดิน 3 แปลง โดยแปลงแรกเป็นที่ดินปลูกบ้านมีเนื้อที่ 1 ไร่เศษ แปลงที่สองเป็นที่ดินมีโฉนดเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ส่วนแปลงที่สามได้แก่ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 24 ไร่เศษ ซึ่งที่ดินแปลงที่สองและแปลงที่สาม นางสนิทยกให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว ส่วนที่ดินแปลงแรก นางสนิทให้จำเลยที่ 1 นำไปแบ่งปันแก่ทายาทคนอื่น ๆ ที่ปลูกบ้านอยู่ในที่ดิน แต่ก่อนเสียชีวิต นางสนิทนำที่ดินแปลงแรกไปจำนองไว้แก่นางอรวรรณ เป็นเงิน 250,000 บาท เพื่อนำเงินไปรักษาตัว และเมื่อนางสนิทเสียชีวิตลง ที่ดินแปลงแรกก็ยังคงติดจำนองอยู่ ต่อมาหลังจากจำเลยที่ 1 ได้เป็นผู้จัดการมรดกของนายชั้นและนางสนิทแล้ว จำเลยที่ 1 ได้โอนทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสองให้แก่ตนเองโดยไม่มีทายาทคนใดคัดค้านเนื่องจากยอมรับในคำสั่งเสียของนางสนิท จากนั้นจำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจำนองไว้แก่นางแป๋วแล้วนำเงินไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายอื่น ๆ ที่กู้ยืมมาก่อนหน้านั้น ต่อมาวันที่ 20 มกราคม 2552 นายเกียรติศักดิ์หรือเต้ บุตรของโจทก์ที่ 1 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โจทก์ที่ 1 กับนางสาวสุภิญญาหรือฝน บุตรของโจทก์ที่ 1 จึงมาขอร้องให้จำเลยที่ 1 หาเงินไปประกันตัวนายเกียรติศักดิ์ด้วยการขายที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ตกลงและตั้งใจจะขายที่ดินพิพาทเพียง 20 ไร่ ในราคาไร่ละ 200,000 บาท ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 5 ไร่ จะเก็บไว้ทำกินเอง จากนั้นมีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นอาของจำเลยที่ 1 มาติดต่อขอซื้อ จำเลยที่ 1 จึงขายที่ดินพิพาทเนื้อที่ 20 ไร่ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นสามีภริยากันในราคา 4,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนเงินค่าซื้อที่ดินพิพาทบางส่วนเข้าบัญชีธนาคารของนางมนตรา ภริยาของจำเลยที่ 1 เป็นจำนวน 1,000,000 บาท และเมื่อได้เงินมาแล้ว จำเลยที่ 1 นำเงิน 850,000 บาท ไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากนางแป๋วโดยได้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของที่ดินพิพาทกลับคืนมา จากนั้นจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทเนื้อที่ 20 ไร่ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วยการให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตกลงนำที่ดินพิพาทไปขอออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน ต่อมาจำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนเงินค่าซื้อที่ดินอีก 2,000,000 บาท เข้าบัญชีธนาคารของนางมนตรา นางมนตราจึงถอนเงินออกจากบัญชีแล้วนำเงินไปใช้ประกันตัวนายเกียรติศักดิ์หรือเต้ บุตรของโจทก์ที่ 1 เป็นจำนวน 400,000 บาท และเมื่อนายเกียรติศักดิ์หรือเต้ถูกฟ้อง นางมนตราก็ไปประกันตัวในชั้นพิจารณาให้อีกโดยนายเกียรติศักดิ์หรือเต้ขอเงินจำเลยที่ 1 เป็นจำนวน 500,000 บาท เพื่อจ้างทนายความต่อสู้คดี แต่ต่อมานายเกียรติศักดิ์หรือเต้ให้การรับสารภาพและศาลมีคำพิพากษาจำคุกไปแล้ว ศาลจึงคืนเงิน 400,000 บาท ให้นางมนตรา แต่เมื่อนางมนตราหย่าขาดจากจำเลยที่ 1 นางมนตราก็ไม่ได้คืนเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด สำหรับเงินค่าซื้อที่ดินพิพาทงวดสุดท้ายอีก 1,000,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 ได้ทยอยขอเบิกมาใช้เองบ้างกับให้นายเกียรติศักดิ์หรือเต้และนางสาวสุภิญญาหรือฝนไปขอเบิกจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 เองหลายครั้ง ต่อมาจำเลยที่ 1 ตกลงขายที่ดินพิพาทส่วนที่เหลืออีก 4 ไร่เศษ ซึ่งมีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในราคา 800,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 กับนายเกียรติศักดิ์หรือเต้และนางสาวสุภิญญาหรือฝนได้ทยอยขอเบิกเงินจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 เหมือนครั้งก่อน ๆ โดยจำเลยที่ 1 นำเงินที่ได้มาไปไถ่ถอนจำนองที่ดินปลูกบ้านเนื้อที่ 1 ไร่เศษ จากนางอรวรรณแล้วโอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่โจทก์ที่ 3 แต่ต่อมาโจทก์ที่ 3 นำที่ดินแปลงนี้ไปจำนองไว้แก่นางแป๋วแล้วไม่ชำระหนี้และโอนที่ดินตีใช้หนี้ให้นางแป๋ว จำเลยที่ 1 จึงตัดสินใจขายที่ดินมีโฉนดเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ให้แก่บริษัทท็อปแลนด์อาเขต จำกัด ในราคา 6,000,000 บาท แล้วนำเงินไปซื้อที่ดินปลูกบ้านคืนมาจากนางแป๋วในราคา 4,500,000 บาท โดยใส่ชื่อจำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ 4 เป็นเจ้าของร่วมกัน ต่อมาที่ดินปลูกบ้านแปลงนี้ได้ออกเป็นโฉนดที่ดินแล้วมีการแบ่งแยกเป็นแปลงย่อย 3 แปลงให้แก่โจทก์ที่ 4 และนางสาวสุภิญญาหรือฝนบุตรของโจทก์ที่ 1 สำหรับโจทก์ที่ 2 และมารดาของโจทก์ที่ 2 มีเหตุขัดแย้งกับนางสนิทและแจ้งแก่ทายาททุกคนว่าไม่ต้องการทรัพย์สินของนางสนิทเพราะมีทรัพย์สินอยู่มากแล้ว ทั้งเมื่อนางสนิทถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 2 กับมารดาของโจทก์ที่ 2 ก็ไม่ไปร่วมงานศพนางสนิท จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้จัดการทรัพย์สินให้โจทก์ที่ 2 ซึ่งการทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกของนายชั้นและนางสนิทนั้น จำเลยที่ 1 ได้กระทำไปโดยทายาททุกคนรับทราบและไม่คัดค้าน อีกทั้งโจทก์ที่ 1 ก็ยินยอมให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าทำกินในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ที่ 1 กับครอบครัวได้ โดยไม่มีการโต้แย้งใด ๆ เห็นว่า ในขณะที่นายชั้นถึงแก่ความตายก็ดี และนางสนิทถึงแก่ความตายก็ดี เจ้ามรดกทั้งสองมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดิน 3 แปลง โดยนายชั้นมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ นางสนิทมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่เศษ และนายชั้นกับนางสนิท ร่วมกันมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเนื้อที่ 25 ไร่เศษ โดยขณะที่นายชั้นและนางสนิทถึงแก่ความตาย เจ้ามรดกทั้งสองไม่ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินที่ตนมีชื่อเป็นเจ้าของให้แก่บุคคลใด ประกอบกับเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายชั้นและนางสนิทแล้ว ข้อเท็จจริงปรากฏตามสารบัญจดทะเบียนของเอกสารทั้งสามฉบับว่าจำเลยที่ 1 ได้โอนชื่อเจ้าของที่ดินจากนายชั้นและนางสนิทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชั้นและนางสนิทก่อนจากนั้นได้โอนชื่อเจ้าของที่ดินในฐานะผู้จัดการมรดกมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวอีกทอดหนึ่ง ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินของนายชั้นและนางสนิทมาในลักษณะเช่นนี้ นับเป็นพยานหลักฐานที่บ่งชี้ว่าที่ดิน 3 แปลง ตามเอกสารสิทธิทั้งสามฉบับข้างต้นเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง ที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจะต้องดำเนินการตามหน้าที่ อย่างไรก็ตาม แม้โจทก์ทั้งสี่จะฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 จัดการมรดกโดยไม่มีอำนาจและโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสี่เฉพาะที่ดินพิพาทเนื้อที่ 25 ไร่เศษ เพียงแปลงเดียว แต่ศาลก็จำต้องพิจารณาถึงการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 ที่เกี่ยวกับที่ดินแปลงอื่นประกอบด้วย เพราะเป็นการจัดการมรดกที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันไปในคราวเดียวและเพื่อให้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ในภาพรวมว่า จำเลยที่ 1 กระทำการตามที่โจทก์ทั้งสี่กล่าวหาหรือไม่ โดยคดีนี้ โจทก์ทั้งสี่มีโจทก์ที่ 3 เป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายชั้นและนางสนิทกับมีโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 4 เป็นหลานของนายชั้นและนางสนิทที่มีสิทธิรับมรดกแทนที่นายวันชัยและนายเชียร แต่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่มาเบิกความต่อศาลเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของตนให้เห็นประจักษ์ ข้อนำสืบของโจทก์ทั้งสี่ที่มีโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรเขยของนายชั้นและนางสนิทมาเบิกความเป็นพยานเพียงปากเดียว จึงมีน้ำหนักน้อย ประกอบกับข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ปรากฏชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 ได้จัดการโอนที่ดินมรดกของนางสนิท แปลงเนื้อที่ 1 ไร่เศษ ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 3 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2553 แต่หลังจากนั้นโจทก์ที่ 3 นำที่ดินไปจำนองไว้แก่นางแป๋วในวงเงินสูงถึง 3,000,000 บาท แล้วไม่ชำระหนี้และต่อมาโจทก์ที่ 3 ตกลงโอนที่ดินแปลงนี้ตีใช้หนี้ให้นางแป๋ว เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องไปซื้อที่ดินแปลงนี้กลับคืนมาจากนางแป๋วแล้วใส่ชื่อจำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ 4 เป็นเจ้าของที่ดินร่วมกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มิได้จัดการทรัพย์มรดกโดยพลการ แต่อยู่ในความรู้เห็นของโจทก์ที่ 3 และที่ 4 มาตลอด อีกทั้งโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 ในประการใด สำหรับโจทก์ที่ 2 นั้น นอกจากจะไม่มาเบิกความชี้ให้เห็นข้อพิรุธหรือข้อบกพร่องในการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 แล้ว ถ้อยคำที่จำเลยที่ 1 ยืนยันว่า โจทก์ที่ 2 กับมารดาของโจทก์ที่ 2 มีเหตุขัดแย้งกับนางสนิท ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของนางสนิทและไม่ไปร่วมงานศพนางสนิท โจทก์ที่ 1 ก็เบิกความตอบคำถามค้านในทำนองยอมรับข้อเท็จจริงตามคำของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์ที่ 2 ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 จัดการมรดกโดยมิชอบจึงขาดความน่าเชื่อถืออีกประการหนึ่ง
ต่อไปในส่วนที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทอันเป็นที่ดินมรดกของนายชั้นและนางสนิทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยโจทก์ทั้งสี่มิได้รู้เห็นยินยอม การโอนขายที่ดินพิพาทจึงไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสี่นั้น เห็นว่า ในตอนสืบพยานของฝ่ายจำเลย จำเลยที่ 1 ได้เบิกความยืนยันว่า มูลเหตุแห่งการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 สืบเนื่องมาจากนายเกียรติศักดิ์หรือเต้บุตรของโจทก์ที่ 1 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและไม่มีผู้ใดไปประกันตัว โจทก์ที่ 1 กับนางสาวสุภิญญาหรือฝนบุตรสาวของโจทก์ที่ 1 จึงมาขอร้องให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินไปประกันตัวนายเกียรติศักดิ์หรือเต้ จำเลยที่ 1 ตกลงและโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปบางส่วนจำนวน 20 ไร่ แล้วมอบหมายให้นางมนตรา ภริยาของจำเลยที่ 1 นำเงินที่ได้จากการขายที่ดินพิพาทไปประกันตัวนายเกียรติศักดิ์หรือเต้ ซึ่งข้อเท็จจริงตามคำของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้ โจทก์ที่ 1 เบิกความตอบคำถามค้านยอมรับว่า โจทก์ที่ 1 ทราบเรื่องที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วนำเงินไปประกันตัวบุตรชายของตนจริง ประกอบกับโจทก์ที่ 1 ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมอีกว่า หลังจากจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายชั้น แล้วรับโอนทรัพย์มรดกของนายชั้นมาเป็นของจำเลยที่ 1 เองนั้น ไม่มีทายาทคนใดคัดค้านการกระทำของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด อันเป็นการแสดงว่า โจทก์ที่ 1 รับรู้และเห็นชอบในการขายที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทบางส่วนมาจากจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2552 แล้วเข้าทำนาในที่ดินพิพาทแทนที่โจทก์ที่ 1 กับครอบครัว โจทก์ที่ 1 ก็หลีกทางให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้ายึดถือทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแต่โดยดีโดยไม่มีข้อทักท้วงหรือข้อโต้แย้งใด ๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการยอมรับว่าจำเลยที่ 1 มีอำนาจจัดการที่ดินพิพาทได้อย่างเต็มที่แต่เพียงผู้เดียวสอดคล้องกับการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทด้วยการให้จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของนายชั้นและนางสนิทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 เอง จึงมิใช่การมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่น ที่โจทก์ทั้งสี่ฎีกาต่อไปทำนองว่าข้ออ้างของจำเลยที่ 1 เรื่องการขายที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินไปชำระหนี้ค่ารักษาพยาบาลนางสนิทให้แก่ผู้ให้กู้เป็นข้ออ้างที่ไม่มีหลักฐานมาแสดง และเงินในบัญชีเงินฝากของนางสนิทก็มีมากพอที่จะนำมาใช้ได้ อีกทั้งการรักษาพยาบาลนางสนิทก็เป็นหน้าที่ทางศีลธรรมของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของนางสนิท การที่จำเลยที่ 1 โอนชื่อผู้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทจากชื่อของเจ้ามรดกทั้งสองมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 เอง แล้วโอนขายที่ดินพิพาททั้งแปลงให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการกระทำโดยมิชอบนั้น เห็นว่า ในตอนที่โจทก์ที่ 1 เบิกความตอบคำถามค้าน โจทก์ที่ 1 ยอมรับว่า หลังจากนายชั้นถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ดูแลนางสนิทซึ่งมีอาการเจ็บป่วยหนักถึงขนาดต้องนั่งรถเข็นโดยไม่สามารถเดินได้ และบางครั้งนางสนิทต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนนานหลายวันหรือเป็นสัปดาห์ ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวนอกจากจะเป็นไปตามคำยืนยันของจำเลยที่ 1 ที่ว่า การรักษาพยาบาลนางสนิทในโรงพยาบาลเอกชนต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนมากแล้ว ยังสอดคล้องกับยอดเงินในบัญชีเงินฝากของนางสนิทที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยมาตั้งแต่ปี 2548 ก่อนนางสนิทถึงแก่ความตายประมาณ 3 ปี และสอดคล้องกับการที่จำเลยที่ 1 นำเงินที่ได้จากการขายที่ดินมรดกไปชำระหนี้จำนองให้แก่นางอรวรรณและนางแป๋ว นอกจากนี้ คดียังปรากฏตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2 และตามสมุดบันทึกอีกว่า เงินที่จำเลยที่ 1 ได้มาจากการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น จำเลยที่ 1 ได้อนุญาตให้นางสาวสุภิญญาหรือฝนบุตรของโจทก์ที่ 1 ทยอยไปขอเบิกจากจำเลยที่ 2 หลายครั้ง อันเป็นข้อบ่งชี้อีกประการหนึ่งว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขายที่ดินพิพาทแล้วนำเงินที่ได้ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวเพียงฝ่ายเดียวดังที่โจทก์ทั้งสี่ฎีกา แต่ได้นำไปใช้เพื่ออุดหนุนจุนเจือโจทก์ที่ 3 และที่ 4 รวมทั้งนายเกียรติศักดิ์หรือเต้และนางสาวสุภิญญาหรือฝน ซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวของโจทก์ที่ 1 มาโดยตลอด พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ตามพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามที่วินิจฉัยเป็นลำดับมาจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสี่โดยคดีรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายชั้นและนางสนิทที่โจทก์ทั้งสี่ยินยอมให้ตกเป็นของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องแบ่งปันที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ทั้งมีอำนาจในการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้โดยชอบ โดยโจทก์ทั้งสี่ไม่อาจบังคับให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและเพิกถอนโฉนดที่ดินของที่ดินพาทตามคำฟ้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสี่มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share