คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8854/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ระเบียบข้อบังคับในการทำงานของนายจ้างที่กำหนดให้การประพฤติตัวเป็นอันธพาลและกระทำผิดทางอาญาต่อเพื่อนร่วมงานเป็นระเบียบวินัยที่ลูกจ้างฝ่าฝืนไม่ได้ ซึ่งนายจ้างอาจลงโทษได้ถึงเลิกจ้างนั้น ต้องอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (4)
น. และ ป. ลูกจ้างโจทก์ทำร้ายร่างกาย พ. ลูกจ้างโจทก์ด้วยกันเพียงคนเดียว สาเหตุเกิดจากการทะเลาะวิวาทกันด้วยเรื่องส่วนตัว มิใช่ น. และ ป. เกะกระระรานหาเรื่อง พ. แต่ฝ่ายเดียวการกระทำของบุคคลทั้งสองยังไม่ถึงขนาดประพฤติตนเป็นพาลเกเรแกล้งทำให้ พ. เดือดร้อนโดยไม่มีสาเหตุ อันเป็นการประพฤติตนเป็นคนเกะกะระรานตามความหมายของคำว่าอันธพาล ทั้งเป็นเรื่องลูกจ้างทำร้ายกันเองนอกสถานที่ทำงานและนอกเวลางานไม่เกี่ยวกับกิจการของโจทก์โดยตรง จึงไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อชื่อเสียงของโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง ถือไม่ได้ว่าบุคคลทั้งสองฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงานของโจทก์กรณีร้ายแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (4) โจทก์เลิกจ้างบุคคลทั้งสองจึงต้องจ่ายค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายนิรันดร์ และนายประเสริฐศักดิ์ เป็นลูกจ้างโจทก์ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2546 เวลา 18 นาฬิกา บุคคลทั้งสองทะเลาะวิวาทด้วยเหตุส่วนตัวกับนายพลากร ลูกจ้างของโจทก์อีกคนหนึ่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาแก่บุคคลทั้งสองในข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ บุคคลทั้งสองเคยทำร้ายร่างกายลูกจ้างด้วยกันทั้งภายในและภายนอกโรงงานหลายครั้งแล้ว จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายไม่กล้ามาทำงานทำให้เกิดความเสียหายต่อการผลิตสินค้าและชื่อเสียงของโจทก์ การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดต่อระเบียบข้อบังคับการทำงานของโจทก์อย่างร้ายแรงฐานประพฤติตัวเป็นอันธพาล เสื่อมเสียชื่อเสียงของโจทก์และกระทำผิดอาญาต่อเพื่อนร่วมงาน โจทก์จึงมีหนังสือลงวันที่ 30 เมษายน 2546 เลิกจ้างบุคคลทั้งสองโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2546 บุคคลทั้งสองร้องเรียนต่อจำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยสอบสวนแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าบุคคลทั้งสองประพฤติตัวเป็นอันธพาลทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ความผิดที่บุคคลทั้งสองกระทำเป็นความผิดลหุโทษ กฎหมายแรงงานมีหลักเกณฑ์ว่าลูกจ้างกระทำผิดลหุโทษไม่เป็นเหตุยกเว้นให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย จึงมีคำสั่งที่ 5/2546 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2546 ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่บุคคลทั้งสองเป็นเงินคนละ 56,400 บาท จำเลยมีคำสั่งเนื่องจากฟังข้อเท็จจริงผิดและปรับบทกฎหมายตามมาตรา 119 (6) ซึ่งผิดไปจากเหตุเลิกจ้างของโจทก์ โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้บุคคลทั้งสองตามคำสั่งของจำเลย ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 5/2546 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2546 ของจำเลย
จำเลยให้การว่าจำเลยสอบข้อเท็จจริงแล้วไม่มีหลักฐานปรากฏว่าลูกจ้างทั้งสองคนของโจทก์ที่ร้องเรียนต่อจำเลยมีพฤติกรรมเป็นอันธพาลและทำร้ายร่ายกายลูกจ้างด้วยกันเองหลายครั้งตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยจึงวินิจฉัยว่าการกระทำของบุคคลทั้งสองไม่เป็นความผิดต่อระเบียบข้อบังคับการทำงานของโจทก์ในกรณีร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) ส่วนการวินิจฉัยเรื่องการกระทำผิดอาญาต่อเพื่อนร่วมงานเป็นเพียงการแสดงเหตุผลเพื่อให้โจทก์เห็นว่าการกระทำผิดอาญาต้องมีความหนักเบา ไม่ใช่จะถือเป็นกรณีร้ายแรงเสมอไปโดยสรุปเหตุผลการเลิกจ้างตามมาตรา 119 (6) ประกอบเท่านั้น จำเลยไม่ได้วินิจฉัยโดยปรับบทกฎหมายผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ประกอบกิจการผลิตวัสดุก่อสร้างวัตถุมวลเบาโจทก์เลิกจ้างนายนิรันดร์ และนายประเสริฐศักดิ์ ลูกจ้างเนื่องจากบุคคลทั้งสองทะเลาะวิวาททำร้ายนายพลากร ลูกจ้างโจทก์อีกคนหนึ่งด้วยสาเหตุส่วนตัวนอกสถานที่ทำงานและนอกเวลาทำงาน กิจการของโจทก์ไม่ใช่การบริการที่ต้องติดต่อกับบุคคลภายนอก การกระทำของบุคคลทั้งสองไม่มีผลกระทบต่อกิจการของโจทก์ ไม่ทำให้เสียการบริหาร การปกครอง หรือชื่อเสียงของโจทก์ทั้งเป็นความผิดลหุโทษจึงไม่ใช่การฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับกรณีร้ายแรงโจทก์ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่บุคคลทั้งสอง ไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยว่า การที่นายนิรันดร์ และนายประเสริฐศักดิ์ ทำร้ายร่างกายนายพลากร ด้วยสาเหตุส่วนตัวนอกสถานที่ทำงานและนอกเวลางาน เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงานของโจทก์กรณีร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) หรือไม่ เห็นว่า ระเบียบข้อบังคับในการทำงานของโจทก์ผู้เป็นนายจ้างที่กำหนดให้การประพฤติตัวเป็นอันธพาลและกระทำผิดทางอาญาต่อเพื่อนร่วมงานเป็นระเบียบวินัยที่ลูกจ้างฝ่าฝืนไม่ได้ตามเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 6.3 (3) (4) ซึ่งโจทก์อาจลงโทษได้ถึงเลิกจ้างตามข้อ 7.2 (5) นั้น ต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) ด้วย แม้ข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางลงวันที่ 9 กันยายน 2546 และคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่านายนิรันดร์และนายประเสริฐศักดิ์รวม 2 คน ทำร้ายร่างกายนายพลากรเพียงคนเดียว แต่สาเหตุก็เกิดจากการทะเลาะวิวาทกันด้วยเรื่องส่วนตัว หาใช่นายนิรันดร์และนายประเสริฐศักดิ์เกะกะระรานหาเรื่องนายพลากรแต่ฝ่ายเดียวไม่ การกระทำของบุคคลทั้งสองยังไม่ถึงขนาดประพฤติเป็นพาลเกเรแกล้งทำให้นายพลากรเดือดร้อนโดยไม่มีสาเหตุ อันเป็นการประพฤติตนเป็นคนเกะกะระรานตามความหมายของคำว่าอันธพาล ทั้งเป็นเรื่องลูกจ้างทำร้ายกันเองนอกสถานที่ทำงานและนอกเวลางาน ไม่เกี่ยวกับกิจการของโจทก์โดยตรง และไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อชื่อเสียงของโจทก์ ถือไม่ได้ว่าบุคคลทั้งสองฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงานของโจทก์กรณีร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) อันโจทก์จะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ที่จำเลยมีคำสั่งที่ 5/2546 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2546 ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่บุคคลทั้งสองนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share