แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ลักษณะสำคัญของภารจำยอม คือ ต้องมีอสังหาริมทรัพย์อย่างน้อยสองอสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์หนึ่งต้องตกอยู่ในภาระรับกรรมบางอย่างหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างเพื่อประโยชน์แก่อีกอสังหาริมทรัพย์หนึ่ง อสังหาริมทรัพย์ที่ต้องตกอยู่ในภาระรับกรรมนั้นเรียก’ภารยทรัพย์’ และที่มีสิทธิเหนือภารยทรัพย์นั้นเรียก ‘สามยทรัพย์’
โจทก์ฟ้องอ้างสิทธิภารจำยอมให้บังคับจำเลยเปิดทางเดินโดยอ้างว่าจำเลยล้อมรั้วปิดกั้นทางผ่านเข้าออกบนที่ดินของจำเลย แต่ตามแผนที่พิพาทที่โจทก์นำชี้กลับปรากฏว่ารั้วที่จำเลยปิดกั้นทางผ่านเข้าออกที่โจทก์ขอให้รื้อถอนนั้นอยู่ภายในเขตที่ดินของโจทก์เอง ดังนี้ เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องดำเนินการฟ้องร้องในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จะฟ้องอ้างสิทธิภารจำยอมให้จำเลยรื้อรั้วและจดทะเบียนทางเป็นภารจำยอมในที่ดินซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นของโจทก์หาได้ไม่ กรณีเช่นนี้ถือว่าโจทก์นำสืบได้ไม่สมสภาพข้อหาข้ออ้างในคำฟ้อง ศาลชอบที่จะยกฟ้องเสียได้
แม้จะปรากฏในแผนที่พิพาทว่าทางบางส่วนอยู่ในเขตที่ดินจำเลย แต่เป็นทางตอนปลายซึ่งจำเลยมิได้ทำรั้วปิดกั้น เมื่อทางตอนต้นทางซึ่งจำเลยปิดกั้นรั้ว โจทก์ไม่อาจขอให้บังคับ จำเลยเปิดในฐานะเป็นทางภารจำยอมได้ในคดีนี้ย่อมไม่มีประโยชน์ที่ศาลจะวินิจฉัยเฉพาะทางตอนปลายเพราะถึงอย่างไรโจทก์ก็ยังไม่อาจใช้ทางผ่านเข้าออกได้ศาลย่อมยกฟ้องได้ทั้งหมด แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่เกี่ยวกับทางนี้ตามที่ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จากที่ดินโจทก์มีทางผ่านที่ดินจำเลยออกไปสู่ทางสาธารณะ ซึ่งโจทก์และประชาชนใช้มาเป็นเวลา 90 ปี จนได้ภารจำยอมแล้ว จำเลยล้อมรั้วปิดกั้นทางขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนรั้วสิ่งกีดขวางที่ปิดกั้นเส้นทางเข้าออก และให้จดทะเบียนภารจำยอมเหนือที่ดินจำเลย
จำเลยต่อสู้ว่า ไม่เคยมีทางสาธารณประโยชน์หรือทางภารจำยอมฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ทางพิพาทไม่เป็นภารจำยอม พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏชัดตามแผนที่พิพาทซึ่งคู่ความรับรองกันว่าโจทก์นำชี้ที่ดินของโจทก์ตามโฉนดที่ 30 คือที่ภายในเส้นสีเหลืองทั้งหมด ซึ่งมีเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 52 วา ส่วนที่ดินของจำเลยคือที่ดินภายในเส้นสีเขียวทั้งหมดซึ่งเป็นเขตโฉนดที่ 70 และ 17675
คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้เปิดทางเดิน อ้างว่าจำเลยได้ล้อมรั้วปิดกั้นทางผ่านเข้าออกบนที่ดินของจำเลย โดยอ้างสิทธิทางภารจำยอมว่า เดิมมีทางใช้เกวียนเข้าออกไปสู่ทางสาธารณะ ศาลฎีกาเห็นว่าตามกฎหมายนั้น ลักษณะสำคัญของภารจำยอมก็คือ ต้องมีอสังหาริมทรัพย์อย่างน้อยสองอสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์หนึ่งต้องตกอยู่ในภาระรับกรรมบางอย่าง หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างเพื่อประโยชน์แก่อีก อสังหาริมทรัพย์หนึ่ง อสังหาริมทรัพย์ที่ต้องตกอยู่ในภาระรับกรรมบางอย่างนั้นเรียกว่า “ภารยทรัพย์” และที่มีสิทธิเหนือภารยทรัพย์นั้นเรียก “สามยทรัพย์” แต่ตามแผนที่พิพาทที่โจทก์นำชี้กลับปรากฏว่า รั้วที่จำเลยปิดกั้นทางผ่านเข้าออกที่โจทก์ขอให้รื้อถอนนั้นอยู่ภายในเส้นสีเหลืองซึ่งเป็นเขตที่ดินของโจทก์เอง เมื่อโจทก์อ้างว่า เป็นเจ้าของที่ดินซึ่งจำเลยปิดกั้นทาง ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องดำเนินการฟ้องร้องในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ จะมาฟ้องอ้างสิทธิภารจำยอม ให้จำเลยรื้อรั้วและบังคับให้จำเลยจดทะเบียนทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมในที่ดินซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นของโจทก์หาได้ไม่ กรณีของโจทก์เป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์นำสืบได้ไม่สมสภาพข้อหาข้ออ้างในคำฟ้อง แม้ทางพิพาทบางส่วนที่ปรากฏในแผนที่พิพาทจะอยู่ในเขตที่ดินของจำเลย ก็เป็นทางตอนปลาย ซึ่งจำเลยมิได้ทำรั้วปิดกั้นแต่อย่างใดเมื่อทางพิพาทตอนต้นทางซึ่งจำเลยปิดกั้นรั้ว โจทก์ไม่อาจขอให้บังคับจำเลยเปิดในฐานะเป็นทางภารจำยอมได้ในคดีนี้เสียแล้ว ย่อมไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยเฉพาะทางตอนปลายต่อไป เพราะถึงอย่างไรโจทก์ก็ยังไม่อาจใช้ทางพิพาทผ่านเข้าออกได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์มานั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน แต่ไม่ติดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องร้องใหม่เกี่ยวกับทางพิพาทนี้ตามที่ถูกต้องต่อไป