แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำขอให้พิจารณาใหม่ นั้น มาตรา 208 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กำหนดให้ยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งแก่จำเลย ถ้าคู่ความที่ขาดนัดไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาดังกล่าวโดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ คู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง แต่ในกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้าต้องกล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งถึงเหตุแห่งการที่ล่าช้านั้นด้วย
คดีนี้ปรากฏตามสำนวนว่า พนักงานเดินหมายนำคำบังคับไปส่งให้จำเลยโดยวิธีปิดบังคับไว้ ณ ภูมิลำเนาของจำเลยตามฟ้องตามคำสั่งศาลในวันที่ 15 กันยายน 2539 ซึ่งมีผลบังคับในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2539 จำเลยอ้างในคำร้องขอพิจารณาใหม่ว่า จำเลยและครอบครัวได้เดินทางไปจัดการดูแลสวนส้มเขียวหวานของจำเลยที่อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานีและที่อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี จึงไม่มีใครอยู่ดูแลบ้านของจำเลย ทำให้พนักงานเดินหมายได้ปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้ ณ ภูมิลำเนาของจำเลย จำเลยเพิ่งทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้เมื่อวันที่จำเลย เดินทางไปที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2540 ดังนี้ แม้ในคำร้องของจำเลยมิได้กล่าวถึงคำบังคับไว้โดยตรง แต่ก็พออนุมานได้ว่าจำเลยได้ทราบคำบังคับตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2540 อันเป็นวันที่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลงแล้ว จึงเริ่มต้นนับกำหนด 15 วัน ตามบทบัญญัติข้างต้นได้ ถือว่าจำเลยได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งถึงกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้า และเหตุแห่งการล่าช้าชอบด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 แล้ว ฉะนั้น ที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2540 หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่จำเลยอ้างในคำร้อง ก็ถือว่าจำเลยยื่นคำร้องดังกล่าวยังไม่ล่วงพ้นระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติบังคับไว้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นจึงพิจารณาพิพากษาคดีไปฝ่ายเดียว โดยให้โจทก์ชนะคดี
จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นสั่งว่าจำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาใหม่ภายหลังจากที่ได้มีการ ส่งคำบังคับแก่จำเลยโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๓๙ เกิน ๑๕ วัน เป็นการยื่นคำร้องล่าช้าเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยจำเลยมิได้แสดงเหตุแห่งความล่าช้าไว้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๘ วรรคสอง ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน
หลังอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ แล้ว คดีอยู่ระหว่างระยะเวลายื่นฎีกา จำเลยถึงแก่กรรม นายสิทธิโชติ ชูทรัพย์ บุตรจำเลยยื่นคำร้องขอรับมรดกแทนจำเลย ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยโดยนายสิทธิโชติ ชูทรัพย์ ผู้รับมรดกความฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว คดีคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยชอบด้วยกฎหมายในอันที่จะรับไว้พิจารณาหรือไม่ เห็นว่า คำขอให้พิจารณาใหม่นั้น มาตรา ๒๐๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กำหนดให้ยื่นต่อศาลภายใน ๑๕ วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือ คำสั่งแก่จำเลย ถ้าคู่ความที่ขาดนัดไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาดังกล่าวโดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ คู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในกำหนด ๑๕ วัน นับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง แต่ในกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้าต้องกล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งถึงเหตุแห่งการที่ล่าช้านั้นด้วย คดีนี้ปรากฏตามสำนวนว่า พนักงาน เดินหมายนำคำบังคับไปส่งให้จำเลยโดยวิธีปิดคำบังคับไว้ ณ ภูมิลำเนาของจำเลยตามฟ้องตามคำสั่งศาลในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๓๙ ซึ่งมีผลบังคับในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ จำเลยอ้างในคำร้องขอพิจารณาใหม่ว่า จำเลยและครอบครัวได้เดินทางไปจัดการดูแลสวนส้มเขียวหวานของจำเลยที่อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี และที่อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี จึงไม่มีใครอยู่ดูแลบ้านของจำเลย ทำให้พนักงานเดินหมายได้ปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้ ณ ภูมิลำเนาของจำเลย จำเลยเพิ่งทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้เมื่อวันที่จำเลยเดินทางไปที่สำนักงานบังคับคดี จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ ดังนี้ แม้ในคำร้องของจำเลยมิได้กล่าวถึงคำบังคับไว้โดยตรง แต่ก็พออนุมานได้ว่าจำเลยได้ทราบคำบังคับตั้งแต่วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ อันเป็นวันที่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับ ได้สิ้นสุดลงแล้ว จึงเริ่มต้นนับกำหนด ๑๕ วัน ตามบทบัญญัติข้างต้นได้ ถือว่าจำเลยได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งถึงกรณียื่นคำขอล่าช้า และเหตุแห่งการล่าช้าชอบด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๘ แล้ว ฉะนั้น ที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่จำเลยอ้างใน คำร้อง ก็ถือว่าจำเลยยื่นคำร้องดังกล่าวยังไม่ล่วงพ้นระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติบังคับไว้
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ ของจำเลย แล้วทำการไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี .