คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 192/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้จัดการสหกรณ์มิใช่ผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้มีอาชีพและประกอบธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนคือเป็นผู้จัดการสหกรณ์ อาศัยโอกาสในตำแหน่งหน้าที่เบียดบังเอาเงินของสหกรณ์ไปโดยสุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 354 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหาย จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 354 สองกระทง จำคุกกระทงละสามปี รวมจำคุกหกปี และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 240,988.35 บาทแก่ผู้เสียหาย จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่าสหกรณ์ธุรกิจเศรษฐกิจ ร.พ.ช. อำเภอบ้านผือ จำกัด (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกโดยย่อว่า สหกรณ์) ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2518 ระหว่างเกิดเหตุมีจำเลยเป็นผู้จัดการ นางสาวไสว กองมณี เป็นผู้ช่วยผู้จัดการสหกรณ์ดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับเอกสารหมาย จ.2 เมื่อประมาณต้นปี พ.ศ. 2524 ได้มีการตรวจพบว่าสหกรณ์ไม่ได้ทำบัญชีเงินสดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2523 เป็นต้นมา จึงได้มีการจัดทำบัญชีย้อนหลังและทำบัญชีรายวันต่อไป แล้วผู้ตรวจบัญชีสหกรณ์จึงได้ตรวจบัญชีดังกล่าว พบว่าถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2524 เงินสดขาดบัญชีไป220,724.62 บาท ส่วนที่ขาดไม่ทราบอยู่ที่ไหน และต่อมาเมื่อวันที่7 หรือ 8 กันยายน 2524 จำเลยมอบหมายงานให้ผู้จัดการคนใหม่ ปรากฏว่าเงินสดขาดบัญชีอีก 20,253.73 บาท
มีปัญหาในชั้นนี้ว่า จำเลยได้ครอบครองเงินจำนวนดังกล่าวของสหกรณ์แล้วเบียดบังเอาไปโดยทุจริตหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามระเบียบข้อบังคับของสหกรณ์ เอกสารหมาย จ.2 ข้อ 37 มีว่า ผู้จัดการมีหน้าที่จัดการทั่วไปเกี่ยวกับบรรดากิจการประจำของสหกรณ์ รวมทั้งในข้อต่อไปนี้ (14) รับผิดชอบในการจัดทำบัญชีและทะเบียนต่าง ๆของสหกรณ์ให้เป็นการถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน (15) รับผิดชอบตรวจตราการรับจ่ายเงินทั้งปวงของสหกรณ์ให้เป็นการถูกต้อง ตลอดจนรวบรวมใบสำคัญและเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการเงินของสหกรณ์ไว้โดยครบถ้วน (16) รักษาเงินสดของสหกรณ์ในจำนวนที่คณะกรรมการดำเนินการอนุญาตให้สำรองไว้ใช้จ่ายในกิจการของสหกรณ์ และจัดส่งเงินของสหกรณ์นอกจากจำนวนดังกล่าวนั้นเข้าฝากตามที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด และนายสมภาร ผิวผ่อง ประธานกรรมการสหกรณ์ขณะเกิดเหตุเบิกความว่า คณะกรรมการได้กำหนดให้จำเลยมีอำนาจถือเงินไปในมือได้ไม่เกิน 30,000 บาท ส่วนที่เกินกว่านี้ต้องนำไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสิน สาขาบ้านผือ ในนามของสหกรณ์ เห็นว่าระเบียบข้อบังคับของสหกรณ์พิมพ์เป็นเล่มเรียบร้อย ข้อกำหนดของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ก็มีเป็นกิจจะลักษณะ ทั้งจำเลยเบิกความตอบโจทก์ว่า ตามข้อบังคับสหกรณ์แล้วเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องทำบัญชีและเก็บรักษาเงิน เมื่อจำเลยรู้หน้าที่และความรับผิดชอบของตนเช่นนี้ จำเลยย่อมจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังไม่ปล่อยปละละเลยให้คนอื่นเก็บรักษาเงินเอาไว้เสียเอง นอกจากนี้ยังปรากฏจากเอกสารหมาย จ.50 ว่า จำเลยเขียนข้อความรับรองว่าจำนวนเงินสดที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยยังขาดอยู่ 220,734.62บาท ซึ่งแม้จะเป็นการทำคำรับรองภายหลังจากที่เงินได้ขาดหายไปแล้วแต่ก็เป็นข้อสนับสนุนว่าจำเลยได้รับเงินไว้แล้ว แม้นางสาวไสวกองมณี จะเบิกความว่าจำเลยมักจะไม่อยู่ และระหว่างที่จำเลยไม่อยู่นางสาวไสวเป็นผู้รับและจ่ายเงิน ทั้งในใบสำคัญรับจ่ายเงินตามเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.46 นางสาวไสวลงชื่อรับเงินเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม แต่นางสาวไสวก็เบิกความว่า เมื่อจำเลยกลับมาทุกครั้งได้มอบเงินที่เก็บไว้ให้จำเลยไป คดีจึงฟังได้ว่า จำเลยได้รับเงินสดของสหกรณ์ผู้เสียหายไว้แล้ว ดังนั้น เมื่อเงินสดของสหกรณ์ขาดหายไปย่อมแสดงว่า จำเลยเป็นคนเบียดบังเอาเงินไปโดยทุจริต ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้นแต่การที่จำเลยเป็นผู้จัดการสหกรณ์ มิใช่เป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 ดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา สมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคแรก สองกระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 4 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share