คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4499/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทสองแปลงแรกเป็นทรัพย์มรดกของ ด.ผู้ตาย ดังนั้นข้อกำหนดพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนี้จึงมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ส่วนที่ดินพิพาทอีก 2 แปลงหลังนั้น แม้ผู้ตายจะมีความประสงค์ยกให้แก่จำเลยในปี 2520 โดยการไปยื่นคำร้องต่อสำนักงานที่ดินขอยกที่ดินสองแปลงหลังที่ขณะนั้นยังเป็นที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ซึ่งการยกที่ดินให้แก่กันต้องมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ในนามผู้ยกให้ซึ่งเป็นเจ้าของเดิมก่อน หลังจากนั้นจึงจะดำเนินการจดทะเบียนการยกให้แก่ผู้รับในภายหลัง เมื่อยังไม่มีการจดทะเบียนยกให้ ถือว่าการยกให้ยังไม่สมบูรณ์ ตามพฤติการณ์ของผู้ตายดังกล่าวแสดงว่าผู้ตายประสงค์จะยกที่ดินพิพาทสองแปลงหลังนี้ให้แก่จำเลย โดยวิธีขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ผู้ตายจึงได้ไปดำเนินการเช่นนั้น หาใช่ผู้ตายเจตนายกให้แก่จำเลยทันทีโดยวิธีส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทแก่จำเลยไม่ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาทสองแปลงหลังนี้ยังไม่ได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์จนกระทั่งผู้ตายถึงแก่ความตายในปี 2522 ความประสงค์ของผู้ตายที่จะยกที่ดินพิพาทให้จำเลยจึงไม่มีผลตามกฎหมาย ที่ดินพิพาทสองแปลงหลังนี้จึงยังเป็นของผู้ตายในขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย ข้อกำหนดพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินสองแปลงหลังนี้จึงมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้เช่นเดียวกัน มิได้เป็นอันเพิกถอนไปตามป.พ.พ.มาตรา 1696 วรรคหนึ่ง
ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดรวมทั้งที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลงให้แก่ ด.แต่ผู้เดียว เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ ด.ผู้รับพินัยกรรมทันที ส่วนจำเลยแม้จะเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายแต่ได้ถูกตัดมิให้ได้รับทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ.มาตรา 1608 วรรคท้าย จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นทายาทของผู้ตายที่มีสิทธิรับทรัพย์มรดก ส่วนจำเลยร่วมเป็นบุตรของ ผ. มิใช่ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ดังนั้น จำเลยและจำเลยร่วมจึงไม่มีสิทธิยกอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 1755 ขึ้นต่อสู้ ด.ผู้รับพินัยกรรมรวมทั้งไม่มีสิทธิยกอายุความดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทและเป็นผู้รับมรดกจาก ด.เช่นเดียวกัน

Share