คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3704/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การประกอบธุรกิจหางานให้แก่คนงานตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2511 นั้น หมายถึงงานหรือการประกอบธุรกิจที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้เสียหายทั้งสองได้รับการติดต่อจากจำเลยให้ไปค้าประเวณีที่ต่างประเทศ จึงเป็นงานรับจ้างเขาทำเมถุนกรรมที่ผิดกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่นางสาวเบ็ญจา สอนศิริ และนางสาวสุกันยา พรรณมณีทอง คนหางานเพื่อไปทำงานบริการแก่นายจ้างในต่างประเทศซึ่งมีกิจการรับจ้างให้เขาทำเมถุนกรรมโดยเรียกและรับค่าบริการจากคนหางานดังกล่าว โดยจำเลยกับพวกมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานตามกฎหมายและจำเลยกับพวกได้ร่วมกันปลอมเอกสารราชการหนังสือเดินทางของประเทศไทย ปลอมรอยตราของกระทรวงการต่างประเทศให้เอกสารปลอม และยังได้ร่วมกันพยายามพานางสาวเบ็ญจากับนางสาวสุกันยา พรรณมณีทองออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อไปทำงานกับผู้รับจ้างซึ่งมีกิจการเกี่ยวกับการรับจ้างให้เขาทำเมถุนกรรม ( เพื่อค้าประเวณี ) อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำเลยกับพวกลงมือกระทำผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่สำเร็จ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐, ๘๓, ๙๑, ๒๕๑, ๒๕๒, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘ พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.๒๕๑๑ มาตรา ๗,๒๗ พระราชบัญญัติว่าด้วยการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.๒๔๗๑ มาตรา ๔
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๕๒ ประกอบมาตรา ๒๕๑ ให้จำคุก ๓ ปี เป็นกระทงที่หนึ่ง มีความผิดตามมาตรา ๒๖๘ ประกอบ มาตรา ๒๖๕ จำคุก ๒ ปี เป็นกระทงที่สอง มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการค้าหญิงและเด็กหญิง พ.ศ.๒๔๗๑ มาตรา ๔ ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๐ ให้จำคุกคนละ ๒ ปี เป็นกระทงที่สาม และมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.๒๕๑๑ มาตรา ๗ มาตรา ๒๗ จำคุกคนละ ๑ เดือน เป็นกระทงที่สี่ ให้เรียงกระทงลงโทษเป็นจำคุกคนละ ๗ ปี ๑ เดือน ข้อหานอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตและในข้อหาใช้รอยตราปลอม และให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ ในข้อหาใช้เอกสารปลอม นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อหาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตว่า ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.๒๕๑๑
” จัดหางาน ” หมายความว่า การประกอบธุรกิจหางานให้แก่คนหางานหรือหาลูกจ้างให้แก่นายจ้าง เมื่อพิเคราะห์ประกอบเหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ที่ว่า เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ราษฎรผู้หางานทำและบุคคลผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการจัดหางานแล้ว ย่อมแสดงว่าการประกอบธุรกิจหางานให้แก่คนหางานนั้นต้องหมายถึงงานหรือการประกอบธุรกิจที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงได้ความจากผู้เสียหายทั้งสองว่างานที่ผู้เสียหายทั้งสองได้รับการติดต่อจากจำเลยให้ไปทำที่ประเทศญี่ปุ่น คืองานต้อนรับที่จะต้องค้าประเวณี และจะได้รับค่าบริการครั้งละ ๑,๐๐๐ บาท จึงเป็นงานทุรศีลธรรมรับจ้างให้เขาทำเมถุนกรรมที่ผิดกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดฐานใช้รอยตราปลอมตามฟ้องโจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๕๒ และมาตรา ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบ มาตรา ๒๖๕ อันเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จึงให้ลงโทษตามมาตรา ๒๕๒ ซึ่งเป็นบทหนักตามอัตราโทษในอัตรา ๒๕๑ จำคุมีกำหนด ๓ ปี รวมกับโทษในความผิดฐานพยายามนำหญิงออกไปนอกประเทศเพื่อการรับจ้างให้เขาทำเมถุนกรรมตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์รวม จำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๔ ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share