แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยขับรถจักรยานยนต์หลบหลีกเข้าไปในช่องทางเดินรถโดยสารประจำทางชนผู้เสียหายอย่างแรงตรงทางม้าลาย จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายสาหัส ในขณะที่รถคันอื่น ๆต่างจอดรถให้ผู้เสียหายเดินข้ามถนนไปก่อนพฤติการณ์เช่นนี้เป็นการขับขี่รถที่ขาดความสำนึกที่ดี เป็นการประมาทอย่างร้ายแรงแม้จำเลยจะมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว เคยมีความประพฤติดี และไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ก็ไม่สมควรรอการลงโทษ.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทชนผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายสาหัส โดยขับรถแซงรถคันอื่นที่จอดรอให้ผู้เสียหายเดินข้ามถนนตรงทางม้าลาย ล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถประจำทางโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา91, 300 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 48,157
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ฐานขับรถล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถประจำทาง ปรับ 1,000 บาท ฐานประมาท จำคุก 8 เดือนรวมจำคุก 8 เดือน ปรับ 1,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน ปรับ 500บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ที่จำเลยฎีกาว่า ไม่ได้ขับรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุนั้นเท่ากับฎีกาว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำผิดเห็นว่า เป็นแต่เพียงข้อกล่าวอ้างลอยๆ ในชั้นฎีกาเท่านั้นทั้งเป็นข้ออ้างที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย และไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน ฟังไม่ได้ ส่วนปัญหาว่าควรรอการลงโทษจำเลยหรือไม่ เห็นว่าจำเลยขับรถจักรยานยนต์ชนนางชลิดาอัศวชัยตระกูล หรือปิตะสิงห์ ผู้เสียหาย อย่างแรงจนเป็นอันตรายแก่กายสาหัสตรงช่องทางสำหรับคนเดินข้ามถนน (ทางม้าลาย) ในขณะที่คนขับรถคันอื่นๆ ต่างจอดรถให้ผู้เสียหายเดินข้ามถนนไปก่อนการที่ผู้เสียหายเดินข้ามถนนตรงช่องทางดังกล่าวย่อมหวังว่าจะได้รับความปลอดภัย แต่จำเลยกลับละเลย ขาดความสำนึกที่ดีและหลบหลีกเข้าไปในช่องทางเดินรถโดยสารประจำทางจนเกิดเหตุร้ายแรงขึ้น เป็นการขับขี่ที่มีความประมาทอย่างร้ายแรง แม้จำเลยจะมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว เคยมีความประพฤติดี และไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนก็ตาม เมื่อเทียบกับพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ควรรอการลงโทษที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่รอการลงโทษจำเลยนั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.