คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8817/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินขวัญถุงที่ข้าราชการได้รับจำนวน 7 เท่า ของเงินเดือนตาม พ.ร.ฎ. เงินช่วยเหลือผู้ซึ่งลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ พ.ศ. 2542 มาตรา 8 เป็นส่วนหนึ่งของเงินที่ทางราชการจ่ายเพื่อช่วยเหลือข้าราชการที่ลาออกก่อนเกษียณอายุราชการ ถือได้ว่าเป็นเงินบำเหน็จ ซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 286 (2)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเพชรบูรณ์ ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2544 ที่สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดเพชรบูรณ์ สั่งจ่ายเป็นเงิน “ขวัญถุง” จำนวน 60,165 บาท ให้แก่จำเลยเนื่องจากจำเลยลาออกจากราชการตามโครงการเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิตก่อนเกษียณอายุราชการ
จำเลยยื่นคำร้องว่า เงินดังกล่าวไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 286 ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการอายัดเช็คฉบับดังกล่าวของเจ้าพนักงานบังคับคดี
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า เงินตามเช็คที่อายัดมิใช่เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ และบำเหน็จของข้าราชการ โจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีได้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการอายัดเงินตามเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเพชรบูรณ์ จำนวนเงิน 60,165 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เงินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเงินที่ทางราชการจ่ายเพื่อช่วยเหลือข้าราชการที่ลาออกก่อนเกษียณอายุราชการจำนวน 7 เท่าของเงินเดือนตาม พ.ร.ฎ. เงินช่วยเหลือผู้ซึ่งลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ พ.ศ. 2542 มาตรา 8 มีลักษณะเดียวกับการจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ข้าราชการที่ลาออกหรือเกษียณอายุราชการตามปกติ ถือได้ว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินบำเหน็จ ซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 286 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ.
(มานะ ศุภวิริยกุล – สมชาย จุลนิติ์ – ชาลี ทัพวิมล)

Share