แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทจำเลยตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชี จำเลยค้างชำระค่าจ้าง ขอให้จำเลยชำระค่าจ้างให้โจทก์ เป็นกรณีที่ลูกจ้างฟ้องเรียกเอาค่าจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(9) อันมีอายุความ 2 ปี มิใช่เป็นการฟ้องเรียกเอาเงินเดือนที่มีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33 เพราะคำว่า “เงินเดือน” ตามบทมาตราดังกล่าวหมายถึงเงินเดือนของข้าราชการหรือเงินเดือนตามพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2538
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชี ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 15,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือนจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2538 ถึงเดือนธันวาคม 2541 เป็นเงินรวม434,544 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้รับเงินค่าจ้างถูกต้องครบถ้วนแล้วจำเลยไม่ได้ค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกำหนดอายุความ 2 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าเงินค้างจ่ายที่โจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลยเป็นเงินเดือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(4) จึงมีอายุความ 5 ปี มิใช่อายุความ 2 ปี ดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยนั้น เห็นว่าคำว่า”เงินเดือน” ตามบทมาตราที่โจทก์อ้างหมายถึง เงินเดือนของข้าราชการหรือเงินเดือนตามพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2538 คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชี จำเลยค้างชำระค่าจ้างให้โจทก์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2538 ถึงเดือนธันวาคม 2541 เป็นเงินรวม 434,544 บาท จึงขอให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ลูกจ้างฟ้องเรียกเอาค่าจ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(9) อันมีอายุความ 2 ปี หาใช่เป็นการฟ้องเรียกเอาเงินเดือนที่มีอายุความ 5 ปี ดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างจากนายจ้างเกิน 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นตามอุทธรณ์ของโจทก์อีกต่อไป”
พิพากษายืน