คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8718/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.น้ำบาดาล พ.ศ.2520 เป็นกฎหมายพิเศษที่มีเจตนารมณ์ที่จะควบคุมดูแลการขุดเจาะน้ำบาดาลและการระบายน้ำลงบ่อบาดาล ทั้งนี้ เพื่อป้องกันรักษาแหล่งน้ำบาดาลซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติไม่ให้ขาดแคลนหรือเสียหาย อีกทั้งป้องกันการทรุดตัวของแผ่นดินและการก่อให้เกิดมลพิษแก่น้ำบาดาลอันเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินหรือสุขภาพของประชาชน อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการดูแลจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แม้ขณะที่จำเลยขุดเจาะน้ำบาดาลในที่ดินของจำเลย บริเวณพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรียังไม่ได้ถูกประกาศให้เป็นเขตน้ำบาดาล แต่เมื่อต่อมากระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2537) กำหนดเขตน้ำบาดาลเพิ่มเติมโดยให้ท้องที่จังหวัดกาญจนบุรีเป็นเขตน้ำบาดาล และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2538 ดังนั้น นับตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2538 เป็นต้นไป การประกอบกิจการน้ำบาดาลโดยการขุดเจาะน้ำบาดาลหรือใช้น้ำบาดาลจากบ่อน้ำบาดาลทั้งสิบสองบ่อในที่ดินจำเลยที่อยู่ในเขตน้ำบาดาลตามฟ้องจะต้องอยู่ภายใต้ความควบคุมของโจทก์ และจำเลยจะต้องขอรับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตามมาตรา 17 และมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.น้ำบาดาล พ.ศ.2520 และจำเลยจะต้องชำระค่าใช้น้ำบาดาลตามที่ระบุไว้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2537) พ.ร.บ.น้ำบาดาล พ.ศ.2520 จึงไม่ได้มีผลย้อนหลังบังคับแก่การขุดเจาะน้ำบาดาลและการใช้น้ำบาดาลของจำเลยก่อนวันที่ 18 มกราคม 2538
ในการเรียกเก็บค่าใช้น้ำบาดาลจากบ่อน้ำบาดาลที่ได้รับอนุญาตนั้นโจทก์เรียกเก็บตามกฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ.2537) และกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ.2540) โดยหากผู้รับใบอนุญาตไม่ได้ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำบาดาลก็เป็นกรณีที่เข้าเงื่อนไขตามกฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ.2537) ข้อ 2 (2) และกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ.2540) ข้อ 3 (2) ที่ไม่อาจคำนวณปริมาณน้ำบาดาลที่ผู้ได้รับใบอนุญาตใช้ได้ ซึ่งตามกฎกระทรวงทั้งสองฉบับกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตชำระค่าใช้น้ำบาดาลตามปริมาณน้ำบาดาลสูงสุดที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตโดยไม่คำนึงว่าจะมีการใช้น้ำบาดาลจริงหรือไม่ เพียงใด เพราะเป็นกรณีที่ไม่สามารถคำนวณการใช้น้ำบาดาลได้ เนื่องจากผู้รับใบอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลไม่ได้ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำ ซึ่งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการใช้น้ำบาดาลจากบ่อของผู้ได้รับใบอนุญาตในที่ดินของผู้รับใบอนุญาตนั้นอยู่ในความรู้เห็นของผู้ได้รับใบอนุญาตเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการยากที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะสามารถตรวจสอบปริมาณน้ำที่ผู้ได้รับใบอนุญาตใช้จริง กฎกระทรวงจึงกำหนดเป็นภาระของผู้ได้รับใบอนุญาตที่จะต้องชำระค่าน้ำบาดาลในปริมาณสูงสุดตามใบอนุญาต โจทก์ไม่มีหน้าที่ภาระการพิสูจน์ว่าจำเลยได้ใช้น้ำบาดาลจริงหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงิน 1,392,870 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้เงิน 680,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนด ค่าทนายความรวม 3,000 บาท
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการจัดสรรที่ดินเพื่อการเกษตรและทำสนามกอล์ฟ มีนายเกรียงศักดิ์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการแทนจำเลย ปี 2533 จำเลยปลูกต้นมะขามลงในพื้นที่สวนเกษตร เนื้อที่ประมาณ 900 ไร่ และขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลจำนวน 12 บ่อ เพื่อนำมาใช้รดต้นมะขามในสวนเกษตร จำเลยจัดทำสวนเกษตรแล้วเสร็จในปี 2537 เมื่อปี 2536 จำเลยเริ่มก่อสร้างสนามกอล์ฟบนเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ สร้างเสร็จปี 2537 และขุดอ่างเก็บน้ำเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ไว้ใช้รดสนามหญ้าในสนามกอล์ฟ จำเลยก่อสร้างท่อสูบน้ำยาว 8 กิโลเมตร เพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำแควน้อยมาเก็บไว้ใช้ในอ่างเก็บน้ำโดยก่อสร้างท่อสูบน้ำแล้วเสร็จในปี 2538 หลังจากจำเลยได้ดำเนินการจัดสร้างสนามกอล์ฟและสวนเกษตรแล้วได้มีการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ.2520 กำหนดให้ผู้ใช้น้ำบาดาลยื่นคำขออนุญาตใช้น้ำบาดาลต่อทรัพยากรธรณีจังหวัด ซึ่งจำเลยได้ไปยื่นขออนุญาตและได้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลจำนวน 12 บ่อแล้ว บ่อที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ใช้น้ำไม่เกินวันละ 80 ลูกบาศก์เมตร บ่อที่ 2 ไม่เกินวันละ 120 ลูกบาศก์เมตร บ่อที่ 3 ไม่เกินวันละ 30 ลูกบาศก์เมตร บ่อที่ 4 ไม่เกินวันละ 120 ลูกบาศก์เมตร บ่อที่ 5 ไม่เกินวันละ 140 ลูกบาศก์เมตร บ่อที่ 6 ไม่เกินวันละ 140 ลูกบาศก์เมตร บ่อที่ 7 ไม่เกินวันละ 120 ลูกบาศก์เมตร บ่อที่ 8 ไม่เกินวันละ 140 ลูกบาศก์เมตร บ่อที่ 9 ไม่เกินวันละ 140 ลูกบาศก์เมตร บ่อที่ 10 ไม่เกินวันละ 40 ลูกบาศก์เมตร บ่อที่ 11 ไม่เกินวันละ 40 ลูกบาศก์เมตร บ่อที่ 12 ไม่เกินวันละ 40 ลูกบาศก์เมตร ต่อมาจำเลยได้ยื่นคำขอยกเลิกการใช้น้ำบาดาล บ่อที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 12 รวมเป็นระยะเวลาการใช้น้ำ 68 วัน คงเหลือบ่อน้ำบาดาลบ่อที่ 2 และที่ 4 ที่จำเลยไม่ได้ยกเลิก รวมเป็นระยะเวลาการใช้น้ำบ่อที่ 2 และที่ 4 จนถึงวันฟ้อง 1,167 วัน ผู้ได้รับอนุญาตต้องชำระค่าน้ำบาดาลแบ่งเป็น 4 งวด ดังนี้ งวดที่ 1 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม งวดที่ 2 ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน งวดที่ 3 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน งวดที่ 4 ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม โดยต้องชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มใช้น้ำงวดถัดไป หากไม่ชำระภายในกำหนดตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2537 ต้องชำระลูกบาศก์เมตรละ 5 บาท และตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2540 ต้องชำระลูกบาศก์เมตรละ 7 บาท และหากผู้ได้รับอนุญาตไม่ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำให้ชำระค่าน้ำในปริมาณน้ำสูงสุดที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาล แต่หากเป็นการใช้เพื่อการอุปโภค บริโภคหรือเพื่อการเกษตรในท้องที่ที่ไม่มีน้ำประปาใช้ให้ได้รับการยกเว้นการเรียกเก็บค่าน้ำบาดาลตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2537) และฉบับที่ 7 (พ.ศ.2540) ในการใช้น้ำบาดาลแต่ละบ่อนั้นจำเลยไม่ติดตั้งมาตรวัดปริมาณน้ำที่ใช้และไม่เคยชำระค่าน้ำเลย
ที่จำเลยฎีกาประการแรกว่า จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องติดตั้งมาตรวัดปริมาณน้ำและไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าน้ำบาดาลให้โจทก์เพราะ ณ วันที่จำเลยขุดน้ำบาดาลบริเวณพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรียังไม่ได้ถูกประกาศให้เป็นเขตน้ำบาดาล โจทก์เพิ่งมีประกาศเพิ่มเขตน้ำบาดาลเพิ่มเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2537 ให้มีผลเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2538 การที่โจทก์มีประกาศจึงเป็นกรณีประกาศใช้กฎหมายย้อนหลังเพื่อบังคับให้จำเลยปฏิบัติตาม เห็นว่า ตามหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ.2520 ได้ระบุเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า “เนื่องจากในปัจจุบันนี้ มีการเจาะน้ำบาดาลและการใช้น้ำบาดาลกันอย่างกว้างขวาง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่ยังไม่มีการควบคุมให้เป็นไปโดยถูกต้องตามหลักวิชาการ จนปรากฏว่าแหล่งน้ำบาดาลบางแห่งขาดแคลนหรือเสียหายซึ่งถ้าปล่อยให้มีสภาพเช่นนี้อยู่ต่อไป อาจเกิดความเสียหายต่อทรัพยากรของชาติ หรือทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษหรือเป็นอันตรายแก่ทรัพย์สินหรือสุขภาพของประชาชน สมควรมีมาตรการป้องกันอันเหมาะสม เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น” ดังนั้น พระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ.2520 จึงเป็นกฎหมายพิเศษที่มีเจตนารมณ์ที่จะควบคุมดูแลการขุดเจาะน้ำบาดาลและการระบายน้ำลงบ่อบาดาล ทั้งนี้ เพื่อป้องกันรักษาแหล่งน้ำบาดาลซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติไม่ให้ขาดแคลนหรือเสียหาย อีกทั้งป้องกันการทรุดตัวของแผ่นดินและการก่อให้เกิดมลพิษแก่น้ำบาดาลอันเป็นอันตรายแก่สิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินหรือสุขภาพของประชาชน อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการดูแลจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ.2520 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้กำหนดเขตท้องที่ใดเป็นเขตน้ำบาดาลโดยได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการน้ำบาดาลโดยคณะกรรมการน้ำบาดาลย่อมได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเขตพื้นที่ดังกล่าวต้องมีการควบคุมการขุดเจาะน้ำบาดาลและการระบายน้ำลงบ่อบาดาล แม้ขณะที่จำเลยขุดเจาะน้ำบาดาลในที่ดินของจำเลยบริเวณพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรียังไม่ได้ถูกประกาศให้เป็นเขตน้ำบาดาล แต่เมื่อต่อมากระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2537) กำหนดเขตน้ำบาดาลเพิ่มโดยให้ท้องที่จังหวัดกาญจนบุรีเป็นเขตน้ำบาดาลเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2537 โดยให้มีผลบังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศราชกิจจานุเบกษา โดยได้ประกาศราชกิจจานุเบกษาวันที่ 20 กันยายน 2537 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2538 ดังนั้น นับแต่วันที่ 18 มกราคม 2538 เป็นต้นไป การประกอบกิจการน้ำบาดาลโดยการขุดเจาะน้ำบาดาลหรือใช้น้ำบาดาลจากบ่อน้ำบาดาลทั้งสิบสองบ่อในที่ดินของจำเลยที่อยู่ในเขตน้ำบาดาลตามฟ้องจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของโจทก์ และจำเลยจะต้องขอรับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ ตามมาตรา 17 และมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ.2520 และจำเลยจะต้องชำระค่าใช้น้ำบาดาลตามที่ระบุไว้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2537) ดังนั้น พระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ.2520 จึงไม่ได้มีผลย้อนหลังบังคับแก่การขุดเจาะน้ำบาดาล และการใช้น้ำบาดาลของจำเลยในที่ดินของจำเลยก่อนวันที่ 18 มกราคม 2538 ดังที่จำเลยกล่าวอ้างแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาต่อมาว่า จำเลยไม่ได้ใช้น้ำบาดาลแล้ว เนื่องจากต้นมะขามหวานในสวนเกษตรมีอายุกว่า 3 ปี ยืนต้นได้ดีโดยไม่ต้องอาศัยการรดน้ำ อีกทั้งจำเลยได้สร้างท่อส่งน้ำเสร็จในปี 2538 และได้นำน้ำจากแม่น้ำแควน้อยมาเก็บที่อ่างเก็บน้ำ เมื่อโจทก์มีประกาศกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2537) เก็บค่าใช้น้ำบาดาล จำเลยจึงยกเลิกบ่อน้ำบาดาลทั้งหมด โจทก์ยังคงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้ศาลเห็นโดยชัดแจ้งว่าจำเลยได้ลักลอบการใช้น้ำบาดาล เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าจำเลยกระทำโดยไม่สุจริตลักลอบใช้น้ำบาดาลแล้ว จึงต้องฟังยุติว่าบ่อน้ำบาดาลทั้งสิบสองบ่อ จำเลยได้ยกเลิกทั้งหมดแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 ที่จะจัดเก็บค่าใช้น้ำจากจำเลยได้ เห็นว่า ในการเรียกเก็บค่าใช้น้ำบาดาลจากบ่อน้ำบาดาลที่ได้รับใบอนุญาต โจทก์เรียกเก็บตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2537) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2540) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ.2520 อันเป็นการจัดเก็บตามบทบัญญัติของกฎหมาย โดยหากผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลไม่ได้ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำบาดาลก็เป็นกรณีที่เข้าเงื่อนไขตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2537) ข้อ 2 (2) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2540) ข้อ 3 (2) ที่ไม่อาจคำนวณปริมาณน้ำบาดาลที่ผู้ได้รับใบอนุญาตใช้ได้ ซึ่งตามกฎกระทรวงทั้งสองฉบับกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตชำระค่าใช้น้ำบาดาลตามปริมาณน้ำบาดาลสูงสุดที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตโดยไม่คำนึงว่าจะมีการใช้น้ำบาดาลจริงหรือไม่ เพียงใด เพราะเป็นกรณีที่ไม่สามารถคำนวณการใช้น้ำบาดาลได้เนื่องจากผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลไม่ได้ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำ ซึ่งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการใช้น้ำบาดาลจากบ่อน้ำบาดาลของผู้ได้รับใบอนุญาตในที่ดินของผู้รับใบอนุญาตนั้นอยู่ในความรู้เห็นของผู้ได้รับใบอนุญาตเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการยากที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะสามารถตรวจสอบปริมาณน้ำที่ผู้ได้รับใบอนุญาตใช้จริงได้ ดังนั้น กฎกระทรวงจึงกำหนดเป็นภาระของผู้ได้รับอนุญาตที่จะต้องชำระค่าใช้น้ำบาดาลในปริมาณสูงสุดตามใบอนุญาต เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติว่าจำเลยได้ไปยื่นขออนุญาตและได้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลจำนวน 12 บ่อ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2538 ต่อมาจำเลยได้ยื่นคำขอยกเลิกการใช้น้ำบาดาล บ่อที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 12 ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2538 รวมเป็นระยะเวลาการใช้น้ำถึง 68 วัน คงเหลือบ่อที่ 2 และที่ 4 ที่จำเลยไม่ได้ยกเลิกรวมเป็นระยะเวลาการใช้บ่อที่ 2 และที่ 4 จนถึงวันฟ้อง (วันที่ 3 สิงหาคม 2541) เป็นเวลา 1,167 วัน จึงเป็นกรณีที่จำเลยมีบ่อน้ำบาดาลที่ได้รับใบอนุญาตที่ไม่ได้ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำบาดาลซึ่งเข้าเงื่อนไขตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2537) ข้อ 2 (2) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2540) ข้อ 3 (2) จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าน้ำบาดาลสำหรับบ่อที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 12 ให้แก่โจทก์ในช่วงระยะเวลานับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่ได้รับอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยได้ยื่นคำขอยกเลิกการใช้และชำระค่าน้ำบาดาลสำหรับบ่อที่ 2 และที่ 4 ในช่วงระยะเวลานับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่ได้รับอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลจนถึงวันฟ้อง โดยโจทก์ไม่มีหน้าที่ภาระการพิสูจน์ว่าจำเลยได้ใช้น้ำบาดาลจริงหรือไม่ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 1,392,870 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 สิงหาคม 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาของโจทก์และจำเลยเป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share