แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์เพลงของผู้เสียหายโดยการนำเพลงของผู้เสียหายที่มีผู้ทำซ้ำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ไปบรรจุอันเป็นการทำซ้ำในหน่วยความจำของเครื่องคาราโอเกะ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย เป็นการทำซ้ำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 26 และ 27 ซึ่งโจทก์อ้างว่า ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ที่ถูกต้องคือ มาตรา 27 และ 28 แต่คำบรรยายฟ้องในส่วนนี้โจทก์ได้บรรยายไว้หลังคำฟ้องที่ว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนในงานสร้างสรรค์ประเภทงานดนตรีกรรม งานสิ่งบันทึกเสียง และงานโสตทัศนวัสดุของผู้เสียหาย ดังนั้นข้อความที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้ว่า โดยการนำเพลงของผู้เสียหายที่มีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายไปบรรจุในหน่วยความจำของเครื่องคาราโอเกะ จึงเป็นเพียงการบรรยายให้เห็นถึงวิธีการที่จำเลยนำเพลงของผู้เสียหายออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อหากำไรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายเท่านั้น คำบรรยายฟ้องโจทก์ดังกล่าวเป็นคำฟ้องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการทำซ้ำตามมาตรา 27 (1) และ 28 (1) ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่
สำหรับความผิดฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (2) โจทก์ต้องบรรยายฟ้องว่า จำเลยรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานที่จำเลยนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนนั้นเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดตามมาตราดังกล่าวมาด้วย แม้โจทก์บรรยายฟ้องตอนท้ายว่า จำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายและไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายก็ตาม แต่ก็อาจทำให้จำเลยเข้าใจเพียงว่า การที่จำเลยนำงานของผู้เสียหายออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่จำเลยอาจไม่รู้ว่างานที่จำเลยนำออกเผยแพร่นั้นเป็นงานที่ทำขึ้น โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ฟ้องโจทก์ในความผิดดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 28, 31, 70, 75, 76 และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตครบองค์ประกอบของความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 และ 28 และโจทก์ประสงค์จะให้ศาลลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดดังกล่าวด้วยหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์เพลงของผู้เสียหายโดยการนำเพลงของผู้เสียหายที่มีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ไปบรรจุอันเป็นการทำซ้ำลงในหน่วยความจำของเครื่องคาราโอเกะโดยไม่รับอนุญาตจากผู้เสียหายนั้น เป็นการทำซ้ำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 26, 27 ซึ่งตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ที่ถูกต้องคือ มาตรา 27 และมาตรา 28 นั้น เห็นว่า แม้ได้ความจากคำฟ้องโจทก์ว่าได้บรรยายฟ้องไว้เช่นนั้นก็ตาม แต่คำบรรยายฟ้องในส่วนนี้โจทก์ได้บรรยายไว้หลังคำบรรยายฟ้องที่ว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนในงานสร้างสรรค์ประเภทงานดนตรีกรรม งานสิ่งบันทึกเสียงและงานโสตทัศนวัสดุของผู้เสียหาย ดังนั้นข้อความที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้ว่าโดยการนำเพลงของผู้เสียหายที่มีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายไปบรรจุในหน่วยความจำของเครื่องคาราโอเกะจึงเป็นเพียงการบรรยายให้เห็นถึงวิธีการที่จำเลยนำเพลงของผู้เสียหายออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อการค้าหากำไรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายเท่านั้น คำบรรยายฟ้องโจทก์ดังกล่าวเป็นคำฟ้องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการทำซ้ำตามมาตรา 27 (1) และ 28 (1) ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้วินิจฉัยการกระทำความผิดของจำเลยในข้อหาความผิดดังกล่าวจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสุดท้ายมีว่า ฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (2) นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า มาตรา 31 บัญญัติว่า “ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์…” โจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องว่า จำเลยรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานที่จำเลยนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนนั้นเป็นงานที่ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดตามมาตราดังกล่าวมาด้วย แม้โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2 ตอนท้ายว่า จำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายก็ตาม แต่ก็อาจทำให้จำเลยเข้าใจเพียงว่า การที่จำเลยนำงานของผู้เสียหายออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่จำเลยอาจไม่รู้ว่างานที่จำเลยนำออกเผยแพร่นั้นเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ฟ้องโจทก์ในฐานความผิดดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดฐานดังกล่าวนั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน