คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

“สินเดิม” คือทรัพย์สินของผัวหรือของเมียที่มีอยู่ก่อนแต่งงานซึ่งอาจนำมาใช้ประกอบการทำมาหากินให้เกิดผลได้หรืออาจนำมาใช้เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งในภายหลังที่ทำการสมรสแล้ว ถึงแม้จะมิได้นำมาบริคณห์กันในเวลาแต่งงานแล้วก็ดี
การที่โจทก์มีเงินสดติดตัวมาและมีเครื่องทองเพชรสำหรับแต่งตัวเป็นสินเดิม เมื่อมาอยู่กับเจ้ามรดก แม้เจ้ามรดกทำแต่ราชการอย่างเดียวมิได้ค้าขายก็ถือว่ามีสินเดิม มีสิทธิขอแบ่งสินสมรสได้
ผู้ทำพินัยกรรมจะเอาส่วนสินสมรสของโจทก์ไปทำยกให้ผู้อื่นไม่ได้
เมื่อพินัยกรรมได้ระบุยกทรัพย์สินให้ น.ส. หนุ่ย ๆ ตายก่อนเจ้ามรดก ต้องเอาส่วนของ น.ส.หนุ่ยมาแบ่งแก่ทายาทที่มิได้มีคำสั่งกำจัดมรดกทุกคน
การที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งสินสมรสและส่วนมรดก ไม่เป็นการฟ้องให้เพิกถอนข้อกำหนดในพินัยกรรม จึงไม่จำต้องฟ้องภายใน
3 เดือน นับแต่ทราบข้อความในพินัยกรรม
การยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ไม่ใช่เป็นการรับรองพินัยกรรม พินัยกรรมระบุจำนวนเงินที่จะใช้ทำศพแน่นอน ถ้าผู้จัดการใช้เงินเกินไปจากที่กำหนด ที่ประชุมใหญ่ให้ถือว่าเป็นหนี้ทางศีลธรรม ซึ่งผู้ออกเงินไป สมัครออกไปเองจะหักเงินนี้จากกองมรดกไม่ได้
ประชุมใหญ่ครั้งที่ 4

ย่อยาว

คดีนี้ฟ้องและแก้ฟ้องว่า นางเปี่ยมโจทก์ที่ ๑ ได้ทำการสมรสกับพระยาวิสูตรสาครดิษฐ์ชอบด้วยกฎหมาย ๕๕ ปีเศษโดยนางเปี่ยมมีสินเดิมมาตามบัญชีท้ายฟ้องหมายเลข ๑ รวมราคา ๖,๓๐๐ บาท แต่เวลานี้คงเหลือสร้อยข้อมือหนัก ๑ บาท นอกจากนั้นจำหน่ายหมดไปในการกินอยู่กับพระยาวิสูตรฯ และเมื่อนางเปี่ยมกับพระยาวิสูตรฯ อยู่กินกันนั้นเกิดสินสมรสเป็นทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องหมายเลข ๓ ราคา ๖,๐๐๒,๐๐๐ บาท นางผ่อน โชติกเสถียร โจทก์ที่ ๒ ได้ทำการสมรสกับพระยาวิสูตรฯชอบด้วยกฎหมายมา ๓๕ ปี โดยมีสินเดิมตามบัญชีท้ายฟ้องเลข ๒ ราคา ๗,๕๕๐ บาท แต่เวลานี้คงเหลือสร้อยข้อมือฝังเพชร ๑ เส้น นอกนั้นจำหน่ายไปหมดเอาเงินมาใช้ในการกินอยู่กับพระยาวิสูตรฯ และเกิดสินสมรสเป็นทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องหมายเลข ๔ ราคา ๒๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ทั้งสองได้อยู่กินกับพระยาวิสูตรฯจนพระยาวิสูตรฯถึงแก่กรรมเมื่อ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๙๔
เมื่อวันที่ ๒๕มกราคม ๒๔๖๑ พระยาวิสูตรฯได้ทำพินัยกรรมไว้ปรากฎตามสำเนาท้ายฟ้องเลขที่ ๕ ให้นางเปี่ยมโจทก์ได้รับมรดก ๖,๐๐๐ บาท ขณะที่พระยาวิสูตรฯ ถึงแก่กรรมคงเหลือโจทก์ซึ่งเป็นภรรยา ๒ คน บุตร ๓ คน คือจำเลยที่ ๒-๓ และนายชัดสวาสดิ์
ครั้นเดือนกรกฎาคม ๒๔๙๔ โจทก์จำเลยและนายชัดสวาสดิ์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกของพระยาวิสูตรฯ ศาลสั่งตั้งจำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดก ตามคดีแพ่งแดงที่ ๑๐๘๒/๒๔๙๔
ที่ดินและสิ่งก่อสร้างตำบลสาธร ตามบัญชีท้ายฟ้องหมายเลข ๓ อันดับ ๑-๒ ราคาประมาณ ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท ตามพินัยกรรมยกให้จำเลยทั้งสาม แต่ทรัพย์รายนี้เป็นสินสมรสของนายเปี่ยมโจทก์เสีย ๑ ใน ๓ คิดเป็นเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บ. พินัยกรรมจึงคงสมบูรณ์เพียงสินสมรสส่วนของพระยาวิสูตรฯคิดเป็นราคา ๘๐๐,๐๐๐ บาทเท่านั้น
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตำบลสามเสนใน ราคาประมาณ ๒,๑๐๐,๐๐๐ บาท ตามบัญชีท้ายฟ้องหมายเลข ๓ อันดับ ๓-๔-๕ ตามพินัยกรรมตกได้แก่ น.ส.หนุ่ย โชติกเสถียร บุตร แต่ผู้รับพินัยกรรมนี้ตายไปก่อนพระยาวิสูตรฯ ทรัพย์รายนี้เป็นสินสมรสของนางเปี่ยมโจทก์เสีย ๑ ใน ๓ คิดเป็นเงิน ๗๐๐,๐๐๐บาท ส่วนที่เป็นสินสมรสของพระยาวิสูตรฯคิดเป็นเงิน ๑,๔๐๐,๐๐๐ บาทที่ยกให้ น.ส.หนุ่ยจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของพระยาวิสูตรฯ คือโจทก์กับจำเลยที่ ๒-๓ กับนายชัดสวาสดิ์รวม ๕ คน ตามส่วนเท่า ๆ กันคนละ ๒๘๐,๐๐๐ บาท
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตำบลสัมพันธ์วงศ์ ๓ แปลงตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องหมายเลข ๓ อันดับ ๖-๗-๘ ราคาประมาณ ๑,๒๕๐,๐๐๐ บาท เป็นสินสมรส ของนางเปี่ยม โจทก์อยู่ ๑ ใน ๓ เป็นเงิน ๔๑๖,๖๖๖ บาท นอกนั้นเป็นสินสมรสของพระยาวิสูตรฯ ซึ่งตามพินัยกรรมจะต้องแบ่งทรัพย์ส่วนนี้ของพระยาวิสูตรฯแก่จำเลยทั้ง ๓ กับน.ส.หนุ่ย คิดแล้วคงได้คนละ ๒๐๘,๓๓๓ บาท ส่วน น.ส.หนุ่ยส่วนหนึ่งนั้นเมื่อผู้รับตายไปก่อนจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของพระยาวิสูตรฯ ๕ คน เช่นเดียวกัน คนละ ๔๑,๖๖๖ บาท แต่จำเลยทั้ง ๓ ในฐานะผู้จัดการมรดกโดยไม่สุจริตไม่ปรึกษาโจทก์ กลับโอนที่ดิน ๓ แปลงนี้เป็นของจำเลยเสียคนละแปลงเมื่อเดือน พ.ย. ๒๔๙๔ เป็นการปิดบังยักยอกมรดก ทำให้โจทก์เสื่อมเสียประโยชน์ จำเลยจึงย่อมถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกในที่ดิน ๓ แปลงนี้ จึงให้เพิกถอนการโอนนั้นเสีย แล้วแบ่งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นสินสมรสของพระยาวิสูตรฯเงิน ๘๓๓,๓๓๔ บาทให้แก่โจทก์ทั้งสองกับนายชัดสวาสดิ์คนละ ๒๗๗,๗๗๗ บาท
สรุปแล้วนางเปี่ยมโจทก์มีสิทธิได้รับแบ่งสินสมรสตามฟ้อง ๒,๐๐๐,๖๑๖ บาท และที่ได้รับตามพินัยกรรม ๖,๐๐๐ บาท ในฐานเป็นทายาทโดยธรรมอีก ๖๐๐,๕๕๑ บาท กับสินสมรสใช้สินเดิม ๕,๘๐๐ บาท กับ โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งสินสมรสรวมกัน ๖๖,๖๖๖ บาท นางผ่อนมีสิทธิได้รับมรดกฐานทายาท ๖๑๑,๕๕๑ บาทกับสินสมรสใช้สินเดิม ๖๐๕๐ บาท เงินจำนวนนี้โจทก์ขอแบ่งจากจำเลยแล้วจำเลยไม่ยอมแบ่ง จึงฟ้องขอให้ศาลบังคับ
จำเลยทั้งสามให้การว่า เป็นผู้จัดการมรดกของพระยาวิสูตรฯ และจำเลยทั้งสองเป็นภรรยาพระวิสูตรฯ ได้ทำพินัยกรรมไว้จริง แต่พินัยกรรมได้จำหน่ายทรัพย์ทั้งหมดแล้ว โดยให้นางเปี่ยมได้ ๖,๐๐๐ บาทเท่านั้น นางเปี่ยมจึงมิได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอื่น ๆ กฎหมายถือว่าโจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทโดยธรรมถูกต้องมิได้รับมรดกของพระยาวิสูตรฯ
โจทก์ฟ้องคดีเมื่อทราบพินัยกรรมแล้ว ๓ เดือน จึงขาดอายุความ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมไว้ครั้งหนึ่ง จึงเท่ากับรับรองข้อกำหนดในพินัยกรรมจึงจะฟ้องเพิกถอนพินัยกรรมไม่ได้ ทั้งเมื่อนางเปี่ยมทราบข้อความในพินัยกรรมแล้วมิได้โต้แย้งจึงถูกปิดปาก
โจทก์ไม่มีสินเดิมมา ทรัพย์ที่โจทก์กล่าวอ้างเกิดมีเมื่อได้เป็นภรรยาพระยาวิสูตรฯ แล้วจึงไม่ใช่ทุนสินเดิม โจทก์ไม่ได้ช่วยเหลือในการหาเลี้ยงชีพเพราะพระยาวิสูตรรับราชการอย่างเดียว จึงไม่ได้ส่วนแบ่ง ทรัพย์ที่ยกให้ น.ส.หนุ่ย ๆ ตายก็ต้องเป็นของจำเลยตามพินัยกรรม จำเลยโอนที่ไปโดยถือว่าเป็นผู้จัดการมรดก ไม่ได้ยักยอก ไม่ถูกกำจัดมรดก การทำศพหมดเงินไป ๘๐,๐๐๐ บาทตามสมควรฐานะและเกียรติยศของผู้ตาย จึงต้องหักค่าทำศพตามนี้
ศาลชั้นต้นพิจารณา แล้วพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีบางส่วน
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ พิพากษาให้แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยคดีไว้ (ซึ่งยกมาไว้เฉพาะข้อ ก.ม.) ดั่งต่อไปนี้
ทุนเดิมหรือทุนตามกฎหมาย ลักษณะผัวเมียบทที่ ๖๘ หมายถึงทรัพย์ที่มาจะต้องเป็นทรัพย์ที่พอเป็นกำลังในการทำมาหาเลี้ยงชีพ และได้ใช้ทรัพย์นั้นในการทำมาหาเลี้ยงชีพกับชายฐานเป็นทุนตามฐานะของหญิงชาย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือทรัพย์สินของเมียหรือผัวที่มีอยู่ก่อนแต่งงานซึ่งอาจนำมาใช้ประกอบการทำมาหากินให้เกิดผลได้ หรืออาจนำมาใช้เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งในภายหลังที่ทำการสมรสกันแล้ว ถึงแม้จะมิได้เอามาบริคณห์กันในเวลาแต่งงานก็ดี นับว่าเป็นสินเดิม
คำว่า “อาจ” นั้นหมายความว่าทรัพย์ใด ๆ ก็ดี โดยไม่คำนึงถึงว่ามีค่าและราคาเท่าใด ถ้าทรัพย์นั้นหากได้นำมาใช้ประกอบการทำมาหากินเลี้ยงชีพผัวเมียได้แล้วหรือหากนำมาใช้เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งของคู่สมรสทั้งสองได้แล้ว ถึงแม้จะยังไม่ได้นำเอาไปใช้แต่ถ้านำไปใช้แล้วจะได้ประโยชน์หรือได้ผลแก่คู่สมรสในการประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพในการอยู่ร่วมกันของคู่สมรส
การที่โจทก์มีเงินสดติดตัวมาและมีเครื่องทองเพชรสำหรับแต่งตัวเป็นสินเดิมหรือสินส่วนตัวมา แม้เมื่อมาอยู่กับพระยาวิสูตรฯ ๆ ทำแต่ราชการ ไม่ได้ค้าขาย ก็ถือได้ว่าโจทก์มีสินเดิม มีสิทธิขอแบ่งสินสมรสได้
พระยาวิสูตรฯ จะมีอำนาจทำพินัยกรรมยกทรัพย์ส่วนที่เป็นสินสมรสให้จำเลยโดยมิได้แบ่งสินสมรสให้โจกท์ทั้งสองก่อนได้หรือไม่? เมื่อไม่ปรากฎว่าโจทก์ทราบข้อความในพินัยกรรมและไม่มีพฤติการณ์ส่อแสดงว่าโจทก์ทราบข้อความในพินัยกรรมอย่างใด หรือโจทก์รู้เห็นยินยอมอย่างใด พระยาวิสูตรฯ จะเอาสินสมรสไปยกให้ผู้อื่นย่อมไม่ได้ ตามประมวลแพ่งฯ ม.๑๔๗๗
ตามที่พินัยกรรมยกทรัพย์ให้ น.ส. หนุ่ย ๆ ถึงแก่กรรมก่อนพระยาวิสูตรฯ แต่พระยาวิสูตรฯก็มิได้เปลี่ยนแปลงพินัยกรรม ส่วนของ น.ส.หนุ่ยตามคำสังพินัยกรรมของพระยาวิสูตรฯ จึงตกไปตามประมวงแพ่ง มาตรา ๑๖๙๘(๑) และส่วนนี้ต้องตกแก่ทายาทโดยธรรมของพระยาวิสูตรฯ และบุคคลที่มิถูกเจ้ามรดกตัดมิให้รับมรดกโดยชัดเจนตามประมวลแพ่งฯ มาตรา ๑๖๐๘ ย่อมเป็นผู้รับมรดกส่วนนี้ ผู้มีสิทธิเป็นทายาทรับมรดกส่วนนี้มี ๕ คนรวมทั้งโจทก์ด้วย การที่พินัยกรรมระบุว่าให้จำเลยทั้ง ๓ ได้ทรัพย์ส่วนที่เหลือนั้น มิได้หมายถึงส่วนที่ยกให้ น.ส.หนุ่ยแล้ว
การที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งสินสมรสและขอแบ่งมรดกตามพินัยกรรมส่วนของโจทก์และขอแบ่งในส่วนของ น.ส. หนุ่ย ไม่เป็นการขอให้เพิกถอนข้อกำหนดในพินัยกรรม จึงไม่ต้องฟ้องภายใน ๓ เดือน ตามประมวลแพ่งฯ มาตรา ๑๗๑๐ เพราะคำสั่งของพระยาวิสูตรฯ ผู้ตายยังมีผล จำเลยคงมีสิทธิได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมที่พระยาวิสูตรฯสั่งไว้
ในเรื่องที่ว่าโจทก์ถูกปิดปากตัดสำนวนในการที่มีคำร้องของโจทก์ขอเป็นผู้จัดการมรดกของพระยาวิสูตรฯ ในคดีแดงของศาลแพ่งที่ ๑๐๘๒/๒๔๙๔ มีผลเท่ากับโจทก์ได้รับรองพินัยกรรมของพระยาวิสูตรฯหรือไม่นั้น ว่าไม่ถูกปิดปากตัดสำนวน เพราะการขอเป็นผู้จัดการมรดกเท่ากับเป็นการขอมีสิทธิและหน้ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรมเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป ไม่มีผลเป็นการรับรองพินัยกรรม
ตามพินัยกรรมให้กันเงินทำศพเพียง ๘,๐๐๐ บาท แต่ผู้จัดการมรดกจ่ายไป ๘๐,๐๐๐ บาท กองมรดกจะต้องรับผิดชอบในเงินจำนวนนี้หรือไม่ มีมติโดยที่ประชุมใหญ่ว่า พินัยกรรมระบุไว้ชัดเจน ไม่มีทางตีความเป็นอย่างอื่นเงินที่จำเลยจ่ายเกินไปจึงเป็นหนี้ทางศีลธรรมไม่อาจเรียกร้องได้ตามกฎหมาย
การที่จำเลยโอนทรัพย์ไปยังจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก โดยสุจริต ไม่เป็นการปิดบัง ทำโดยเปิดเผยต่อเจ้าพนักงานตามคำสั่งโดยชัดเจนในพินัยกรรม ไม่ถูกกำจัดมรดกตาม มาตรา ๑๖๐๕
พิพากษายืน

Share