แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
นิติกรรมใดจะไม่มีผลบังคับตามกฎหมายต้องเป็นไปตามหลักโมฆะกรรมหรือโมฆียะกรรมในบรรพ 1 ลักษณะ 4 หมวดที่ 1 และที่ 2 แห่ง ป.พ.พ. ส่วนความไม่เข้าใจถึงผลของสัญญาประนีประนอมยอมความว่าเป็นการระงับข้อพิพาท ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นโมฆะหรือโมฆียะ
ต. อยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ที่ 1 มาประมาณ 30 ปี และอาศัยอยู่ด้วยกันกับโจทก์ที่ 2 ที่บ้านเกิดเหตุจากสภาพโจทก์ที่ 1 ย่อมทราบถึงการซ่อมรถและซ่อมบ้านที่บริษัท ว. เป็นผู้จัดการให้เป็นอย่างดีเมื่อซ่อมบ้านเสร็จ ต. รับมอบงาน โจทก์ที่ 1 ก็ไม่คัดค้าน ครั้นซ่อมรถเสร็จ ต. กับโจทก์ที่ 2 เป็นคนลงชื่อรับค่าซ่อมในสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ที่ 1 ก็ไม่โต้แย้งคัดค้านว่า ต. และโจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจกระทำการแทนตน พฤติการณ์ย่อมฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 รู้แล้วยอมให้ ต. และโจทก์ที่ 2 เชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนในการรับค่าซ่อมบ้านและซ่อมรถตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การเป็นตัวแทนเชิดนั้นไม่อยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 798 ที่ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือเหมือนการตั้งตัวแทนทั่วไป สัญญาประนีประนอมยอมความจึงมีผลบังคับถึงโจทก์ที่ 1 ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 65,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 22 พฤศจิกายน 2554) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับโจทก์ที่ 2 กับจำเลยให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับโจทก์ที่ 1 กับจำเลยในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่า มีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบิดาโจทก์ที่ 2 ซึ่งอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน บ้านโจทก์ทั้งสองอยู่ตรงข้ามคนละฝั่งถนนในหมู่บ้านกับบ้านจำเลย โจทก์ทั้งสองจอดรถยนต์ 2 คัน อยู่ในที่จอดรถติดกับตัวบ้าน จำเลยมีรถยนต์บรรทุกสิบล้อจอดอยู่ในโรงรถข้างบ้านจำเลย คืนเกิดเหตุ จำเลยติดเครื่องรถยนต์บรรทุกสิบล้อโดยประมาทพุ่งเข้าชนรถยนต์ของโจทก์ทั้งสองเสียหายและรถพุ่งเข้าไปกระแทกฝาบ้านพัง เนื่องจากรถยนต์บรรทุกสิบล้อเอาประกันภัยไว้กับบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด จึงเป็นผู้จ่ายค่าซ่อมรถและซ่อมบ้านให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยมีนางตุ๋ย ภริยาโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เป็นคนลงชื่อรับเงินในสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งเป็นแบบฟอร์มของบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด แต่หลังจากรับเงินแล้ว บ้านที่ซ่อมยังเกิดรอยร้าวและรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ยังต้องซ่อมอีก โจทก์ทั้งสองจึงมาฟ้องเรียกให้จำเลยรับผิดเป็นคดีนี้ สำหรับโจทก์ที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ที่ 2 ไม่อุทธรณ์ คดีสำหรับโจทก์ที่ 2 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนโจทก์ที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 ชนะคดีโดยให้จำเลยชำระเงินจำนวน 65,000 บาท โจทก์ที่ 1 ไม่อุทธรณ์ แสดงว่าโจทก์ที่ 1 พอใจในค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนด ค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 ขอในส่วนซึ่งเกินจากนั้นจึงเป็นอันยุติ คงเหลือค่าเสียหายให้วินิจฉัยในชั้นฎีกาเพียงว่าโจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 65,000 บาท จากจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่เท่านั้น โดยโจทก์ที่ 1 ฎีกาสรุปได้ว่า สัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีผลบังคับตามกฎหมายเพราะนางตุ๋ยกับโจทก์ที่ 2 ไม่เข้าใจว่าการลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความจะมีผลเป็นการระงับข้อพิพาทซึ่งทำให้เรียกร้องค่าเสียหายอีกไม่ได้ และสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ผูกพันโจทก์ที่ 1 เพราะโจทก์ที่ 1 ไม่ได้เชิดนางตุ๋ยและโจทก์ที่ 2 ออกแสดงเป็นตัวแทนให้ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด เห็นว่า ในประเด็นแรก นิติกรรมใดจะไม่มีผลบังคับตามกฎหมายต้องเป็นไปตามหลักโมฆะกรรมหรือโมฆียะกรรมในบรรพ 1 ลักษณะ 4 หมวดที่ 1 และที่ 2 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนความไม่เข้าใจถึงผลของสัญญาประนีประนอมยอมความว่าเป็นการระงับข้อพิพาทของนางตุ๋ยหรือโจทก์ที่ 2 ผู้ลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นโมฆะหรือโมฆียะตามบทบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น สัญญาประนีประนอมยอมความ จึงมีผลบังคับตามกฎหมาย ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นที่สอง สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวผูกพันโจทก์ที่ 1 เพราะถือว่านางตุ๋ยกับโจทก์ที่ 2 เป็นตัวแทนเชิดของโจทก์ที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า จากคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ตอบทนายจำเลยถามค้านและตอบทนายโจทก์ทั้งสองถามติงได้ความว่า นางตุ๋ยอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ที่ 1 มาประมาณ 30 ปี และอาศัยอยู่ด้วยกันกับโจทก์ที่ 2 ที่บ้านเกิดเหตุ จากสภาพข้อเท็จจริงดังกล่าวโจทก์ที่ 1 ย่อมทราบถึงการซ่อมรถและซ่อมบ้านที่บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด รับเป็นผู้จัดการให้เป็นอย่างดี เมื่อซ่อมบ้านเสร็จและนางตุ๋ยตรวจรับมอบงาน ตามใบเซ็นตรวจรับงาน โจทก์ที่ 1 ก็ไม่คัดค้าน ครั้นซ่อมรถเสร็จและนางตุ๋ยกับโจทก์ที่ 2 เป็นคนเซ็นรับค่าซ่อมในสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ที่ 1 ก็ไม่โต้แย้งคัดค้านว่านางตุ๋ยและโจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจกระทำแทนตนอีก โดยพฤติการณ์ย่อมฟังได้แล้วว่าโจทก์ที่ 1 รู้แล้วยอมให้นางตุ๋ยภริยาและโจทก์ที่ 2 บุตรเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนในการรับค่าซ่อมบ้านและซ่อมรถตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งการเป็นตัวแทนเชิดนั้นไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 ที่ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือเหมือนการตั้งตัวแทนทั่วไปดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยไว้อย่างละเอียดแล้ว สัญญาประนีประนอมยอมความ จึงมีผลบังคับถึงโจทก์ที่ 1 ด้วย เมื่อถือว่าโจทก์ที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยแล้ว โจทก์ที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากมูลละเมิดเดิมได้อีก เพราะสิทธิดังกล่าวระงับสิ้นไปแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 แม้โจทก์ที่ 1 จะเห็นว่าความเสียหายซึ่งเกิดขึ้นในภายหลังเป็นผลต่อเนื่องมาจากการทำละเมิดเดิมก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง สำหรับค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกา โจทก์ที่ 1 เสียค่าขึ้นศาลจากทุนทรัพย์ 100,000 บาท แต่ทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องในชั้นฎีกามีเพียง 65,000 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่โจทก์ที่ 1
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกินมา 700 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ