คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13550/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 หมายถึง ผู้ประกอบกิจการย้ายสถานที่ผลิตสินค้า ขายสินค้าหรือสถานที่ให้บริการซึ่งมีอยู่เดิมจากแห่งหนึ่งไปยังสถานที่แห่งใหม่ เดิมปี 2536 โจทก์ซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์มีสำนักงานเทพลีลาเป็นสถานที่ประกอบกิจการแห่งเดียว ต่อมาปี 2549 โจทก์เปิดสถานประกอบกิจการอีกแห่งหนึ่งแล้วจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสถานประกอบกิจการแห่งใหม่เป็นสำนักงานใหญ่และสำนักงานเดิมเป็นสำนักงานสาขา โจทก์ทยอยปิดสำนักงานเดิมเป็นแผนก ๆ โดยย้ายลูกจ้างไปปฏิบัติงานที่สำนักงานใหญ่ ครั้งสุดท้ายวันที่ 30 เมษายน 2552 โจทก์ย้ายลูกจ้างในแผนกที่เหลืออยู่ที่สำนักงานเดิมทั้งหมด ถือว่าเป็นการย้ายสถานประกอบกิจการตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว
เมื่อโจทก์จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่ทำการสำนักงานใหญ่แล้วทยอยปิดส่วนงานที่สำนักงานเดิมเป็นแผนก ๆ ไปโดยโยกย้ายลูกจ้างไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ทันที และในที่สุดโจทก์ประกาศปิดการดำเนินกิจการที่สำนักงานเดิมอย่างถาวร แสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของโจทก์ว่าต้องการย้ายสถานประกอบกิจการจากสำนักงานเดิมไปยังสำนักงานใหญ่เพียงแห่งเดียวตั้งแต่ปี 2549 เพียงแต่ทยอยย้ายแผนกงานและลูกจ้างเท่านั้นไม่ได้ย้ายไปทั้งหมดในทันที การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้สำนักงานเดิมเป็นสาขาเป็นวิธีการหรือกระบวนการของการย้ายสถานประกอบกิจการของโจทก์เท่านั้น แม้จะใช้เวลาถึง 2 ปีเศษ ก็หาใช่โจทก์ย้ายสถานประกอบกิจการไปยังสถานที่อื่นซึ่งโจทก์มีอยู่ก่อนแล้วไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานที่ 5/2552 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2552
จำเลยทั้งสิบห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า การที่โจทก์ปิดสำนักงานสาขาเทพลีลาแล้วย้ายลูกจ้างทั้งหมดรวมผู้ร้องทั้งสองไปปฏิบัติงานที่สำนักงานใหญ่ (สินสาคร) เป็นการย้ายสถานประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 หรือไม่ เห็นว่า การย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 หมายถึง ผู้ประกอบกิจการย้ายสถานที่ผลิตสินค้า ขายสินค้าหรือสถานที่ให้บริการซึ่งมีอยู่เดิมจากแห่งหนึ่งไปยังสถานที่แห่งใหม่ การที่เดิมปี 2536 โจทก์ซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ให้บริการดูแลผลิตภัณฑ์และจัดส่งและจำหน่ายสินค้ามีสำนักงานเทพลีลาเป็นสถานที่ประกอบกิจการแห่งเดียวซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 545 ซอยรามคำแหง 37 ถนนรามคำแหง แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร แล้วต่อมาในปี 2549 โจทก์ได้เปิดสถานประกอบกิจการอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่เลขที่ 30/88 หมู่ที่ 1 ถนนเจษฎาวิถี ตำบลโคกขาม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร โดยจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสถานประกอบกิจการแห่งใหม่เป็นสำนักงานใหญ่ (สินสาคร) และสำนักงานเทพลีลาเป็นสำนักงานสาขาแล้วโจทก์เริ่มทยอยปิดสำนักงานเป็นแผนก ๆ ไปโดยย้ายลูกจ้างในแผนกนั้น ๆ ไปปฏิบัติงานที่สำนักงานใหญ่ (สินสาคร) ตั้งแต่ปลายปี 2549 เรื่อยมาจนครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2552 โจทก์ปิดประกาศย้ายลูกจ้างในแผนกที่เหลืออยู่ที่สำนักงานเทพลีลาทั้งหมดรวมทั้งผู้ร้องทั้งสองไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ (สินสาคร) โดยปิดสำนักงานเทพลีลานั้น ถือว่า เป็นการย้ายสถานประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 แล้ว ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า นับแต่ปลายปี 2549 โจทก์มีสถานประกอบกิจการเพิ่มเป็น 2 แห่ง การที่โจทก์ทยอยปิดแผนกงานที่สำนักงานสาขาเทพลีลานับแต่ปลายปี 2549 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2552 เป็นเวลา 2 ปีเศษ จึงได้ประกาศให้ย้ายลูกจ้างทั้งหมดไปปฏิบัติงานที่สำนักงานใหญ่ (สินสาคร) เพียงแห่งเดียว เป็นการย้ายสถานประกอบกิจการซึ่งโจทก์มีอยู่ก่อนแล้วในขณะที่สั่งย้ายผู้ร้องทั้งสอง จึงไม่ใช่เป็นการย้ายสถานประกอบกิจการตามความหมายของมาตรา 120 ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2228/2545 ระหว่างนางสาวปรียอร โจทก์ บริษัทลากูน่าแกรนด์ จำกัด จำเลย วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่ทำการสำนักงานใหญ่จากสำนักงานเทพลีลาเป็นสำนักงานใหญ่ (สินสาคร) และเปิดประกอบกิจการที่สำนักงานใหญ่ (สินสาคร) ในปี 2549 โจทก์เริ่มทยอยปิดส่วนงานที่สำนักงานเทพลีลาเป็นแผนก ๆ ไป และโยกย้ายลูกจ้างให้ไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ (สินสาคร) ทันทีตั้งแต่ปี 2549 และในที่สุดเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2552 โจทก์ได้ประกาศปิดการดำเนินกิจการที่สำนักงานเทพลีลาอย่างถาวรอันแสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของโจทก์ว่าที่โจทก์เปิดสถานที่ประกอบกิจการที่สำนักงานใหญ่ (สินสาคร) โดยจดทะเบียนให้สถานที่แห่งนี้เป็นสำนักงานใหญ่ โจทก์ต้องการที่จะย้ายสถานที่ประกอบกิจการสำนักงานเทพลีลาไปอยู่สำนักงานใหญ่ (สินสาคร) เพียงแห่งเดียวตั้งแต่ปี 2549 นั่นเอง เพียงแต่โจทก์ทยอยย้ายแผนกงานและลูกจ้างเท่านั้นไม่ได้ย้ายไปทั้งหมดโดยทันที การที่โจทก์จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้สำนักงานเทพลีลาเป็นสาขาเป็นวิธีการหรือกระบวนการของการย้ายสถานประกอบกิจการของโจทก์เท่านั้น แม้โจทก์จะใช้เวลาย้ายถึง 2 ปีเศษก็หาใช่โจทก์ย้ายสถานประกอบกิจการไปยังสถานที่อื่นซึ่งโจทก์มีอยู่ก่อนแล้วไม่ ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์กล่าวอ้างมาไม่ตรงกับคดีนี้ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาของผู้ร้องทั้งสองนอกคำฟ้องคำให้การหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องในประเด็นนี้ว่าโจทก์ได้ปิดประกาศแจ้งการปิดสำนักงานเทพลีลาให้ลูกจ้างรวมถึงผู้ร้องทั้งสองทราบเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2552 ผู้ร้องทั้งสองมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างต่อโจทก์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2552 มิได้บอกเลิกสัญญาจ้างภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จำเลยทั้งสิบห้าให้การว่าผู้ร้องทั้งสองทราบการปิดประกาศของโจทก์เมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2552 และได้มีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2552 ถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาจ้างภายในกำหนดสามสิบวันแล้ว จึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าผู้ร้องทั้งสองบอกเลิกสัญญาจ้างภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายจ้างหรือไม่ มิใช่มีประเด็นว่าการบอกเลิกสัญญาจ้างของผู้ร้องทั้งสองในวันที่ 1 มิถุนายน 2552 ถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาจ้างภายในกำหนดสามสิบวันแล้วหรือไม่ ดังที่โจทก์อุทธรณ์ ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าผู้ร้องทั้งสองแจ้งเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2552 เป็นการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างภายในสามสิบวันนับแต่วันรับแจ้งการย้ายสถานประกอบกิจการจากนายจ้างแล้ว จึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share