แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
สัญญาการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ สมาคมประกันวินาศภัย ที่โจทก์และจำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่สัญญานั้น ย่อมมีผลผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยและเข้าทำสัญญาผูกพันระหว่างกันเท่านั้น สำหรับจำเลยที่ 1 นั้นเป็นบุคคลธรรมดา หาใช่บุคคลที่เป็นคู่สัญญาการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างบทบัญญัติมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาเพื่อขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โจทก์มีสิทธิดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 ในชั้นศาลต่อไป
ศาลล่างทั้งสองพิพากษาตรงกันว่าให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นไปตามคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 2 ประกอบกับ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 กำหนดให้สิทธิเฉพาะคู่กรณีที่มีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการต่อกันเท่านั้น อันถือเป็นสัญญาอย่างหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้เป็นคู่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอาศัยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวขอให้ศาลจำหน่ายคดีในส่วนของตนได้ แม้จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดต่อเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ต้องรับผิดด้วยและเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ก็ตาม แต่ผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีผลกระทบโดยตรงกับจำเลยที่ 2 ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีข้อโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย 107,449.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 96,450.49 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 มีผลผูกพันกันตามสัญญาการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ สมาคมประกันวินาศภัย การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาดังกล่าว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและขอให้จำหน่ายคดี
โจทก์ไม่คัดค้านสัญญาการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ สมาคมประกันวินาศภัย ที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้าง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายแล้วว่า กรณีต้องด้วยพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นในส่วนที่ให้จำหน่ายคดีที่มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 โดยให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ 1 แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประกอบธุรกิจรับประกันภัย โจทก์รับประกันภัยรถยนต์ หมายเลขทะเบียน วว 8697 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน สร 248 กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2553 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัย เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุได้ชนกับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้ในมูลละเมิดโดยอ้างว่า เหตุรถชนเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 และโจทก์ดำเนินการซ่อมรถคันที่รับประกันภัยไว้จนมีสภาพดีและชำระค่าซ่อมไปแล้ว โจทก์จึงรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยรถคันดังกล่าวและเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าซ่อมรถ โจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างเป็นบริษัทประกันภัยและเข้าร่วมลงนามในสัญญาการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีข้อตกลงในสัญญาว่า ก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 คือโจทก์จะต้องเสนอข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ต่ออนุญาโตตุลาการตามสัญญาก่อน หากไม่พอใจจึงจะมีสิทธิฟ้องคดีต่อจำเลยที่ 2 ได้ และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง เพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการโดยวิธีการทางอนุญาโตตุลาการเสียก่อน โดยโจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ในปัญหานี้ คดีระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นเฉพาะในส่วนที่ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่อไป
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์มีสิทธิดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 ต่อไปหรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยปัญหานี้ไว้โดยละเอียดแล้วว่า สัญญาการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ สมาคมประกันวินาศภัย ที่โจทก์และจำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่สัญญานั้น ย่อมมีผลผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยและเข้าทำสัญญาผูกพันระหว่างกันเท่านั้น สำหรับจำเลยที่ 1 นั้นเป็นบุคคลธรรมดา หาใช่บุคคลที่เป็นคู่สัญญาการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่ เช่นนี้จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างบทบัญญัติมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาเพื่อขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งได้ โจทก์มีสิทธิดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 ในชั้นศาลต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ฎีกาว่า วัตถุประสงค์ของสัญญาการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการและตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 มีผลถึงจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ด้วย ซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์ให้จำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม หนี้ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นมูลหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ ขอให้ศาลฎีกาจำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น เห็นว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาตรงกันว่าให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นไปตามคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 2 ประกอบกับพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 กำหนดให้สิทธิเฉพาะคู่กรณีที่มีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการต่อกันเท่านั้น อันถือเป็นสัญญาอย่างหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้เป็นคู่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอาศัยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวขอให้ศาลจำหน่ายคดีในส่วนของตนได้ แม้จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดต่อเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ต้องรับผิดด้วยและเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ก็ตาม แต่ผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีผลกระทบโดยตรงกับจำเลยที่ 2 ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีข้อโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจฎีกาได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
อนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีโดยไม่ได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ