คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1647/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเจ้าของร้านค้าและเป็นลูกค้าโจทก์ สั่งซื้อสินค้าประเภทสุขภัณฑ์และกระเบื้องจากโจทก์เพื่อนำไปจำหน่ายต่อ ถือได้ว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้ กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย ซึ่งอายุความสิทธิเรียกร้องเรียกค่าสินค้าของโจทก์จึงมีกำหนด 5 ปี หาใช่ 2 ปี ไม่
จำเลยลงลายมือชื่อยอมรับยอดหนี้ค่าสินค้าต่อโจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง โจทก์นำเช็คจำนวน 10 ฉบับ ที่จำเลยชำระหนี้ค่าสินค้าไปเรียกเก็บเงินได้ 5 ฉบับ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คที่เหลือฉบับแรกในวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 อายุความ 5 ปี จึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีคือ วันที่ 3 กรกฎาคม 2544 จึงยังไม่พ้นกำหนด 5 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 960,418.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 830,632.26 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 830,632.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 671,031.76 บาท นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้างและสุขภัณฑ์ เมื่อปี 2541 จำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์หลายครั้ง ต่อมาจำเลยผิดนัดชำระหนี้ ภายหลังเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยสั่งจ่ายเช็คเพื่อผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์รวม 10 ฉบับ แต่โจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คได้ 5 ฉบับ ส่วนฉบับอื่นธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คที่เหลือฉบับแรกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2542
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยซื้อสินค้าจากโจทก์เพื่อนำไปจำหน่าย อันเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายจำเลย เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายจึงอยู่ในกำหนดอายุความ 5 ปี นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความห้าปี (5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี” และมาตรา 193/34 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี (1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลปอุตสาหกรรมหรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง” คดีนี้โจทก์มีนายประมวลผู้รับมอบอำนาจช่วงเบิกความว่า จำเลยเป็นเจ้าของร้าน ว. ก่อสร้าง สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์หลายรายการเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธ ทั้งยังเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า สินค้าที่สั่งซื้อจากโจทก์จะนำไปจำหน่ายให้ลูกค้าเจือสมกับพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของร้าน ว. ก่อสร้าง และเป็นลูกค้าโจทก์ โดยซื้อสินค้าประเภทสุขภัณฑ์และกระเบื้องจากโจทก์เพื่อนำไปจำหน่ายต่อ อันถือได้ว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้ กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย ดังนั้น อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนด 5 ปี หาใช่ 2 ปี ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้ลงลายมือชื่อยอมรับยอดหนี้ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 อันมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลง และต่อมาโจทก์นำเช็คจำนวน 10 ฉบับ ที่จำเลยมอบให้เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าไปเรียกเก็บเงินตามเช็คได้ 5 ฉบับ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คที่เหลือฉบับแรกในวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 อายุความ 5 ปี จึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีคือวันที่ 3 กรกฎาคม 2544 จึงยังไม่พ้นกำหนด 5 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share